คำแถลงอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี ประจำไตรมาส 2/2561 โดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. เป็นอีกครั้งที่หน่วยงานรัฐให้ข้อมูลว่า เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง โดยจีดีพีไตรมาส 2/2561 โตร้อยละ 4.6 ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งแรกปีนี้เติบโตร้อยละ 4.8 แม้ว่าจะขยายตัวในอัตราที่น้อยกว่าไตรมาส 1 ที่ผ่านมา ที่เติบโตร้อยละ 4.9 แต่เศรษฐกิจไทยก็มีเสถียรภาพ มีความแข็งแกร่ง ทำให้ สศช. ยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2561 ไว้ที่ร้อยละ 4.2-4.7 หรือมีค่ากลางที่ร้อยละ 4.5
ทว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้นเกือบทุกหมวดนั้น กลับไม่ได้ทำให้ประชาชนคนทั่วไปสัมผัสถึงความคึกคัก หรือมีเงินในกระเป๋าเพิ่มขึ้��ตามภาวะเศรษฐกิจภาพรวม หรือตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น
ฟังเสียงพ่อค้าแม่ขายตลาดใกล้ สศช. โอด เศรษฐกิจไม่ดี จีดีพีคืออะไร?
ผู้สื่อข่าว 'วอยซ์ ออนไลน์' สำรวจความคิดเห็นของพ่อค้าแม่ขายในตลาดมหานาค ย่านสะพานขาวใกล้ สศช.พบว่า ผู้ค้าขายจำนวนมากยังเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจไม่คล่องตัว และหลายรายได้รับผลกระทบจากมาตรการจัดระเบียบของภาครัฐ ส่งผลให้มีลูกค้าเดินเข้ามาตลาดย่านนี้ลดลง รวมถึงบางรายต้องย้ายสถานที่ขายของ และยอมจ่ายค่าเช่าที่แพงขึ้น
'อภิชัย หงษ์คำมี' ชาวร้อยเอ็ด เจ้าของแผงขายผักสดในตลาดทรัพย์สินพัฒนา เล่าว่า เขาเป็นลูกจ้างในตลาดย่านนี้มา 10 ปี เมื่อก่อนมีแผงผักอยู่หน้าบ้านบ้านมนังคศิลา บนถนนหลานหลวง แต่พอรัฐบาลมีมาตรการจัดระเบียบทางเท้า เขาจึงต้องย้ายที่ขายของมาอยู่ในตลาดทรัพย์สินพัฒนา ซึ่งค่าเช่าแผงจากระดับพันบาทต่อเดือน ก็เพิ่มขึ้นเป็นระดับ 1-2 หมื่นบาทต่อเดือน แต่ก็ต้องทำ เพราะถ้าไม่ย้ายก็ไม่รู้จะทำอะไร บางวันก็ขายดี บางวันก็ไม่ดี
"ในฐานะคนขายของ เราก็เห็นว่า เศรษฐกิจมันไม่ค่อยดี คนไม่ค่อยมีตังค์ ไหนจะค่าเลี้ยงลูก ส่งลูกเรียนกัน และก็ยังไม่รู้เลยว่า เศรษฐกิจจะดีเมื่อไร" อภิชัย กล่าว
ขณะที่ 'บุญชู ลุนทองทา' เจ้าของร้านสินค้าอุปโภคบริโภคในย่านตลาดมหานาค บอกว่า 2 ปีที่ผ่านมา การค้าขายไม่ดีขึ้นเลย ลดลงเรื่อยๆ และไม่ใช่แค่ที่ตลาดมหานาค ตลาดอื่นๆ เช่น คลองถม ก็เงียบ พร้อมกับให้ข้อสังเกตว่า ที่ตลาดมหานาคเงียบ ทั้งที่เป็นตลาดผลไม้ เปิด 24 ชั่วโมง เพราะมาตรการจัดระเบียบของภาครัฐ ทำให้คนซื้อหันไปซื้อตลาดใหญ่ เช่น ตลาดสี่มุมเมือง ตลาดไท แทน
"ร้านเราเมื่อก่อนขายถึงเที่ยงคืนก็ปิด ทั้งที่ตลาดนี้คนขายผลไม้เปิดตลอดทั้งวันทั้งคืน เพราะเมื่อก่อนเที่ยงคืนเราก็ได้ยอดแล้ว แต่ตอนนี้ ต้องเปิดตลอดเพราะมันไม่พอ เศรษฐกิจอย่างนี้ ก็อยากให้รัฐเบาลงบ้าง อย่างเรื่องมาตรฐาน เรื่องใช้มาตรา 44 อยากให้ลดลง เพราะพอมีจัดระเบียบริมคลอง ลูกค้าที่เคยมาตลาดนี้ ก็ไปตลาดอื่นหมด" บุญชู กล่าว
'ไพลิน ปู' แม่ค้าขายผลไม้อีกรายในตลาดมหานาค บอกว่า เศรษฐกิจไม่ดีเลย ดูจากการค้าขายที่ลูกค้าไม่สู้ราคา ไม่เน้นคุณภาพ เน้นว่าอันไหนถูกมากกว่า เมื่อก่อนสั่งแคนตาลูปมาจากต่างจังหวัด 2 คันรถ ขายหมดในวันเดียว เดี๋ยวนี้ก็ขายไม่หมด
สอดคล้องกับข้อสังเกตของ 'งาแก้ว พููลอนันต์' แม่ค้าขายผลไม้ในตลาดมหานาคอีกราย บอกว่า การขายของปัจจุบันไม่ดีขึ้น เพราะคนที่เคยมาซื้อผลไม้จากเธอที่เคยอยู่บริเวณนี้ถูกไล่ที่จากมาตรการจัดระเบียบตลาดมหานาคของรัฐบาล ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ไม่ได้ดีขึ้น ลูกค้าซื้อผลไม้ลดลง เช่น เดิมซื้อทุกวัน เดี๋ยวนี้ 2-3 วันมาครั้ง หรือบางคนสัปดาห์หนึ่งมาครั้งนี้ ลดจำนวนการซื้อลงไปเยอะ
"ถ้าปีนี้กับปีที่แล้วเหมือนกัน แต่ถ้าเทียบกับ 4 ปีก่อน ตอนนี้แย่กว่าเยอะ อย่างช่วง 4 ปีก่อนคนเข้ามาซื้อของทั้งเช้าทั้งเย็น หรือตอนที่มีประท้วงกันหนักๆ ก็ยังมีคนมาซื้อ ตลาดนี้กลางวันเปิด กลางคืนก็ไม่ปิด เมื่อก่อนมีคนมาซื้อตลอด" งาแก้ว กล่าว
ขณะที่ 'พุฒิพงศ์ ตั้งเจริญอนันต์' ทายาทรุ่นที่ 2 ร้าน ก.นำโชค ผู้ค้าส่งสัปปะรดรายใหญ่ในตลาดมหานาค บอกว่า การค้าขายผลไม้ที่ซื้อมาขายไปก็อยู่ได้เรื่อยๆ ลูกค้าของร้านส่วนใหญ่คือแม่ค้าผลไม้ที่ซื้อราคาส่งแล้วไปขายปลีกต่อ ส่วนตัวแล้วก็คิดว่า พออยู่ได้ แต่ในอนาคตอันใกล้ ชาวตลาดย่านนี้ก็ยังกังวลกับแผนการก่อสร้างสถานีรถไฟใต้ดิน ซึ่งอาจจะทำให้ร้านค้าของเขาถูกเวนคืนที่ดิน แต่ครอบครัวก็ได้มีการเตรียมการไว้บ้างแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เกิดขึ้น
เลขาฯ สศช. ชี้เศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกโตร้อยละ 4.8 สูงกว่าเศรษฐกิจโลก
ด้าน 'ทศพร ศิริสัมพันธ์' เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สศช. กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 4.8 มีความมั่นคงในแง่การเจริญเติบโตและมีเสถียรภาพค่อนข้างดี เมื่อเทียบกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งคาดว่าปีนี้จะขยายตัวเพียงร้อยละ 4.1
เมื่อพิจารณาพัฒนาการเศรษฐกิจไทยช่วงครึ่งแรกของปี พบว่า การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 4.1 เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันปีก่อน ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 2.9 การใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวร้อยละ 1.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อนติดลบ การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.2 จากร้อยละ 0.9 การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 4.4 จากร้อยละ 1.4 มูลค่าการส่งออกขยายตัวร้อยละ 11.1 จากร้อยละ 7.3 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยเฉพาะภาคการเกษตร ที่การผลิตการเกษตรขยายตัวร้อยละ 8.3 จากร้อยละ 10.4 ดัชนีราคาสินค้าเกษตรลดลงร้อยละ 9.2 แต่ดัชนีรายได้เกษตรกรรวมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.7 การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวร้อยละ 3.5 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 อัตราการใช้กำลังการผลิตเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 69.5
(ทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช.)
อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ ได้แก่ การผลิตในภาคเกษตรที่อาจจะได้รับผลกระทบจากอุทกภัย อัตราดอกเบี้ยในตลาดโลกที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น มาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะสหรัฐฯ กับจีน ซึ่งจะมีผลทั้งเชิงบวกและลบกับไทย
ดังนั้น การบริหารนโยบายเศรษฐกิจเชิงมหภาค สศช. จึงต้องให้ความสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ 1) การสนับสนุนการขยายตัวของภาคเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาคส่งออก การท่องเที่ยว การลงทุนเอกชน 2) การขับเคลื่อนการลงทุนภาครัฐให้สามารถขยายตัวได้ตามเป้าหมาย การเร่งรัดเบิกจ่ายงบลงทุน การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน การส่งเสริมนักลงทุนในพื้นที่อีอีซีและเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) 3) การดูแลเกษตรกรและผู้มีรายได้น้อย การสร้างความเข้มแข็งให้กับเอสเอ็มอีและเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงการเตรียมพร้อมด้านกำลังแรงงาน คุณภาพแรงานให้เพียงพอกับการรองรับการขยายตัวของภาคการผลิตและการลงทุน
4 ปัจจัยหนุน ปรับประมาณการการขยายตัวการบริโภคเอกชนโตร้อยละ 4.1
การบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นอีกตัวจักรขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และ สศช.ประกาศว่าในไตรมาส 2/2561 ขยายตัวร้อยละ 4.5 จากไตรมาสก่อนหน้าขยายตัวร้อยละ 3.7 พร้อมปรับประมาณการทั้งปีจะขยายตัวร้อยละ 4.1 เพิ่มขึ้นจากประมาณการคราวก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 3.7
'วิชญายุทธ บุญชิต' รองเลขาธิการ สศช. เปิดเผยว่า เมื่อดูจากการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน หรือ consumption ในไตรมาส 2/2561 ขยายตัวร้อยละ 4.5 ซึ่งนับว่าขยายตัวสูงสุดในรอบ 21 ไตรมาส ซึ่งสูงกว่าที่ สศช. คาดการณ์ก่อนหน้า และส่งผลให้ สศช.ปรับประมาณการการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนทั้งปีขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.1
โดยมีปัจจัยสนับสนุน 4 ด้าน ได้แก่ 1) รายได้ภาคครัวเรือน ซึ่งรอกันมานาน และ สศช. คาดการณ์เป็นปัจจัยบวกมาก่อนหน้านี้ 3-4 ไตรมาสแล้วว่า รายได้ครัวเรือนจะเพิ่มขึ้น โดยเป็นผลจากผลผลิตภาคเกษตรที่ดีขึ้นต่อเนื่อง ส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น บางรายการมีราคาสูงกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี
2) การจ้างงานที่ดีขึ้น โดย 3-4 ไตรมาสที่ผ่านมา สศช. คาดการณ์ไว้แล้วว่า เมื่อการขยายตัวของเศรษฐกิจภาพรวมดีขึ้น ในเวลาผ่านไป ก็จะทำให้การลงทุนปรับตัวดีขึ้น การจ้างงานเพิ่มขึ้น ดังนั้น จึงจะเห็นว่า จำนวนผู้มีงานทำในไตรมาส 2/2561 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.9 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาส โดยผู้มีงานทำในภาคเกษตร ขยายตัวต่อเนื่อง 2 ไตรมาสที่อัตราร้อยละ 6.0 และ 3.0 ตามลำดับ ส่วนผู้มีงานทำในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 11 ไตรมาส หรือขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาส 2/2561 ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของอัตราการใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม
ขณะที่ อัตราการว่างงานอยู่ที่ร้อยละ 1.1 ในไตรมาส 2 และร้อยละ 1.2 ในช่วงครึ่งแรกของปี ซึ่งไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน
อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 2/2561 มีจำนวนผู้ว่างงานเฉลี่ย 4.1 แสนคน ลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่มีจำนวน 4.7 แสนคน และเมื่อช่วงเดียวกันปีก่อนจำนวน 4.6 แสนคน
"เป็นสิ่งสะท้อนว่า การขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ขยายตัวลงไปถึงจุดล่างของเศรษฐกิจแล้ว สะท้อนได้จากภาคการจ้างงานปรับตัวดีขึ้น และทำให้รายได้จากการจ้างงานเพิ่มขึ้น" รองเลขาธิการ สศช. กล่าว
3) ผลจากมาตรการภาครัฐในการดูแลผู้มีรายได้น้อย ผ่านการใช้จ่ายผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ โดยในไตรมาส 2 มียอดการใช้จ่ายระดับหมื่นล้านบาท ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากโครงการรถยนต์คันแรกและภาระค่าผ่อนงวดของผู้ซื้อรถในโครงการดังกล่าวเพิ่งจะสิ้นสุดในปีนี้ จึงทำให้ผู้ที่ซื้อรถและผ่อนมาเมื่อ 5 ปีก่อน มีกำลังการใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมถึงปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ในไตรมาส 2 ยังมีมากถึง 1.35 แสนคันหรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 25 ซึ่งสูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี
4) ความเชื่อมั่นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งสะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาส 2 อยู่ที่ระดับ 67.5 ซึ่งนับว่าเพิ่มขึ้นในรอบ 13 ไตรมาส
ปัจจัยสนับสนุนเหล่านี้ คือคำอธิบายเชิงสถิติข้อมูลที่หน่วยงานรัฐนำมาประกอบ เพื่อชี้ถึงทิศทางเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 และประเมินถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี แต่ในความรู้สึกของคนค้าคนขาย ผู้บริโภค และครัวเรือนทั่วไป จะเป็นทิศทางเดีียวกัน หรือสวนทาง ก็ต้องถามใจคุณดู
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :