นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากกรณีมีข่าวจับกุมผู้มีบุหรี่ไฟฟ้าในครอบครองนั้น พบว่าในปัจจุบันบุหรี่ไฟฟ้าเป็นที่นิยมในกลุ่มวัยรุ่น เป็นอุปกรณ์ที่ส่งผ่านสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายในรูปแบบละอองฝอยโดยไม่ต้องมีการเผาไหม้หรือการลุกไหม้ โดยมีความเข้าใจว่าปลอดภัยกว่าบุหรี่ปกติ ซึ่งจริงๆ แล้วการใช้บุหรี่ไฟฟ้า มีสารพิษต่างๆ เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ปกติทั่วไป นิโคตินจะเข้าไปกระตุ้นสมอง
กระตุ้นหัวใจทำให้เส้นเลือดหดตัว ความดันสูงขึ้น นอกจากนี้สารนิโคตินในกระแสเลือดของแม่มีผลต่อทารกในครรภ์ ส่งผลต่อสมองและระบบประสาทการได้ยินและอาจทำให้ทารกตัวเล็กกว่าปกติ และควันหรือไอจากบุหรี่ไฟฟ้าทำให้เกิดมะเร็งได้เพราะมีสารฟอร์มาลดีไฮด์สูงถึง 15 เท่าของบุหรี่ทั่วไปและในหลายประเทศการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าถือว่าผิดกฎหมายรวมถึงประเทศไทยด้วย
นพ.สรายุทธ์ บุญชัยพานิชวัฒนา ผู้อำนวยการสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี กล่าวว่า ผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าส่วนใหญ่ เป็นทั้งผู้ที่เคยสูบบุหรี่แบบปกติทั่วไป ผู้ที่เริ่มต้นหรือทดลองสูบบุหรี่ รวมถึงกลุ่มผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ แต่ยังไม่มีหลักฐานหรือข้อสรุปทางการแพทย์ที่ชัดเจนว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ได้จริง แนะนำผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ให้วางแผนเลิกบุหรี่โดยใช้หลัก 4 ล ดังนี้
เลือกวัน" คือกำหนดวันที่จะเลิกบุหรี่ ยิ่งเร็วยิ่งดี (ภายใน 2 สัปดาห์หลังตัดสินใจ) "ลั่นวาจา" โดยการบอกมิตรรักและคนในครอบครัวถึงความตั้งใจในการเลิกบุหรี่ เพื่อขอกำลังใจและแรงสนับสนุน "ลาอุปกรณ์" กำจัดบุหรี่และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องในการสูบทั้งหมด คิดก่อน "ลงมือ" มีการวางแผนรับมือกับอาการถอนนิโคตินที่จะเกิดขึ้น ในช่วง 2-3 วันแรกหลังหยุดสูบบุหรี่
อย่างไรก็ตาม สามารถขอรับคำปรึกษาการเลิกบุหรี่ได้ที่คลินิกเลิกบุหรี่ สถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี จังหวัดปทุมธานี โทร 0-2531-0080-4 ต่อ 435 และโรงพยาบาลธัญญารักษ์ในส่วนภูมิภาคทั้ง 6 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลธัญญารักษ์เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น อุดรธานี สงขลา ปัตตานี และโรงพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทั่วประเทศ.