ไม่พบผลการค้นหา
รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ นำทีมรัฐมนตรีคลัง-เกษตรฯ-อุตสาหกรรม-พาณิชย์ขึ้นเวที ย้ำเศรษฐกิจไทยได้เวลาเทคออฟ ชี้ไม่ได้โม้พยุงไม่ให้ทรุดได้แล้ว มั่นใจปีนี้เศรษฐกิจดีแน่นอน ถ้าบ้านเมืองสงบ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ กล่าวในงานสัมมนา "ไทยแลนด์ เทคออฟ 2018" ว่า ภารกิจของทีมเศรษฐกิจในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา คือการพยุงไม่ให้เศรษฐกิจทรุด และตอนนี้ได้พิสูจน์แล้วว่า เศรษฐกิจไทยฟื้นขึ้นมาแล้ว และหากใครบอกว่า เป็นขาลง สงสัยเครื่องส่งสัญญาณจะมีปัญหา เพราะตอนนี้ เครื่องยนต์ต่างๆ เดินหน้า ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุนของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่เดินเครื่องเต็มที่ การส่งออก ปีที่ผ่านมา ก็เติบโตเป็นบวกเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี และทั้งปีมีค่าเฉลี่ยเติบโตเกือบ 10% จึงเชื่อว่า ในปีนี้ (2561) ขณะที่เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวดีด้วย ย่อมส่งผลให้การส่งออกของไทยดีขึ้นอีกแน่นอน

"การบริหารเศรษฐกิจ เป็นการบริหารจิตใจคน และที่ผ่านมา มีตัวชี้วัดชัดเจน มีดัชนีทุกตัวบอกว่า เศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น ล่าสุดดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 3 ปี ดังนั้นปีนี้ จึงมั่นใจได้ว่า การบริโภคภาคเอกชนจะดีขึ้น เพราะคนมีความเชื่อมั่นมากขึ้น ดังนั้นเรามั่นใจว่า ในปีนี้เครื่องยนต์เศรษฐกิจทุกตัวเดินหน้า ถ้าทุกอย่างสงบเรียบร้อย ไม่มีทำร้ายตัวเอง เศรษฐกิจไทยปีนี้ไปได้ดีแน่นอน " นายสมคิดกล่าว


สมคิด จาตุศรีพิทักษ์

ขณะเดียวกัน รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ย้ำว่า เศรษฐกิจไทยปีนี้เทค ออฟ (ทะยานขึ้น) แล้ว แต่ขึ้นเท่าไร ขึ้นกับแต่ละคนที่ทำงาน อีกทั้งทีมเศรษฐกิจชุดนี้ ไม่ได้ crazy (บ้า) กับตัวเลขจีดีพี แต่ถ้าเครื่องยนต์ตัวไหนน็อตหลวม คันหลุด ก็ต้องเปลี่ยนเท่านั้นเอง แต่ตอนนี้ มั่นใจว่า เครื่องยนต์ดี ใช้ได้ เพียงแต่ถนนหนทางที่ตัดใหม่ข้างหน้า จำเป็นต้องใช้เครื่องยนต์ใหม่ ก็ต้องหาของใหม่ 

อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญของการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจปี 2561 คือการแผ่เข้าไปในชนบท การสร้างการเติบโตเน้นคุณภาพ การเติบโตที่แผ่ไปให้คนไทยทุกภาคส่วนได้ประโยชน์ แม้ใครจะบอกว่า ตนฝัน ก็ยอมรับจะฝัน เพราะถ้าตนไม่ฝัน ก็กลับบ้านไปเลี้ยงหลานดีกว่า แล้วที่ผ่านมา ก็พิสูจน์แล้วว่า ตนมีความฝัน และไม่ได้โม้ ตนบอกว่า เศรษฐกิจต้องไม่ทรุด มันก็ไม่ทรุดจริงๆ 

ดังนั้น หลังจากเศรษฐกิจไทยเทคออฟ ทะยานขึ้นไปแล้ว ต่อไปนี้ คือ "new hike" ไต่สู่คุณภาพ สร้างเศรษฐกิจที่ลูกหลานคนในชนบทมีส่วนร่วมเป็น inclusive growth เป็นความมั่งคั่งร่วมกัน ซึ่งดูได้จากนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ปีนี้ ไม่ได้บอกว่า จะทำให้ราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นเท่าไร แต่สิ่งที่จะทำต่อไปคือ การใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง การทำการผลิตสินค้าเกษตรให้ตลาดเป็นตัวนำ ให้คนรุ่นใหม่ในชนบทสามารถนำสินค้าในท้องถิ่นไปค้าขายผ่านออนไลน์ ผ่านอินเทอร์เน็ตได้ 

"ภาคเกษตรต้องเชื่อมกับภาคท่องเที่ยว ต้องเชื่อมกับท้องถิ่น ให้อานิสงส์การขยายตัวของการท่องเที่ยวแผ่ไปถึง นโยบายของกระทรวงท่องเที่ยวฯ ต้องมีการเชื่อมโยงกับการพัฒนาเชิงพื้นที่ สร้างการท่องเที่ยวเชิงเกษตร การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม" นายสมคิดกล่าว

ขณะที่ ต้องสร้างความเข้มแข็งของเอสเอ็มอี ช่วยเหลือประคับประคองให้เอสเอ็มอีปรับตัวสู่ยุคดิจิทัล นำสินค้าเกษตรเข้ามาสร้างเกษตรอุตสาหกรรม 

อีกด้านหนึ่ง ภาครัฐต้องเข้าสู่ยุคดิจิทัล การขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าต้องมีข้อมูล ซึ่งที่ผ่านมา เราพยายามพูดถึงเรื่อง 'Big Data' และปี 2561 จะเป็นรูปธรรมมากขึ้น เพราะถ้าภาครัฐยัง no data ไม่มีข้อมูลมาประกอบการทำนโยบาย ก็ยากที่จะเดินหน้าต่อไป ดังนั้นต้องทำลายอุปสรรคเรื่องนี้ จะขอข้อมูลอะไรแล้วไม่มี ไม่ให้ ไม่ได้แล้ว ซึ่งหากประเทศไทยสร้างบิ๊ก ดาต้าขึ้นมาได้ ก็จะเป็นประโยชน์ทั้งการภาครัฐ ภาคเอกชน และนำไปสู่การสร้างนโยบายแห่งรัฐได้ 

รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจ ชี้แจงด้วยว่า การที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พูดถึงเรื่องไทยนิยมยั่งยืนและส่งคนลงไปในพื้นที่ มี 2 เหตุผล หนึ่งคือ การเข้าไปเพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึก ข้อมูลจากในพื้นที่ อีกด้านหนึ่ง คือการสร้าง social mobilization (การขับเคลื่อนทางสังคม) ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่ได้มีเจตนาจะไปหาเสียง รัฐบาลไม่จำเป็นต้องหาเสียง เพราะไม่มีใครอยากทำงานการเมือง แต่ถ้าอนาคตมันจะเกิดขึ้นก็เป็นเรื่องของดวงชะตา

ก.เกษตรยืนยันปีนี้สินค้าเกษตรไม่มีราคาตก


กฤษฎา บุญราช.jpg

นายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวบนเวทีเดียวกันว่า ประชากร 1 ใน 3 ของไทย หรือประมาณ 29.53 ล้านคนเป็นเกษตรกร และในจำนวนนี้เป็นเกษตรที่มีฐานะยากจน 3.9 ล้านคน ที่มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาทต่อปี อีกทั้งอาชีพเกษตรกรยังมีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนต่ำ เนื่องจากต้องเผชิญทั้งสภาพดินฟ้าอากาศ ภัยพิบัติ โรคระบาด 


"ปีนี้กระทรวงเกษตรฯ มีเป้าหมายคือ จะไม่ให้มีผลผลิตการเกษตรตัวใดเกินหรือล้นตลาดเลย ซึ่งจะทำให้ไม่มีสินค้าเกษตรราคาตกมากๆ อย่างที่ผ่านมา และน่าจะทำให้รายได้เกษตรมีมากขึ้น" นายกฤษฎากล่าว


ก.คลังทำงบประมาณขาดดุล ดันการลงทุน ดูแลคนจน 


อภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์.jpg

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้เศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังดีขึ้น ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะที่ดูแลภาพรวมนโยบายด้านการคลัง เห็นว่าการเติบโตของเศรษฐกิจนั้นมีความจำเป็นจะต้องทำให้เกิดความมั่งคั่งแก่ประเทศและประชาชนโดยทั่วไป เพราะหากเศรษฐกิจไม่เติบโต ประชาชนยากจน ประเทศก็จะประสบปัญหา ดังนั้นกระทรวงการคลังจึงมีหน้าที่จะต้องทำให้ประเทศไทยมีความมั่งคั่งควบคู่ไปกับการผลักดันให้เศรษฐกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน

การใช้นโยบายด้านการคลังในระยะ 2 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นนโยบายแบบผ่อนคลาย ที่มีการตั้งขาดดุลงบประมาณรายจ่ายไว้ ซึ่งในปี 2561 นี้ก็เช่นกัน ที่มีการตั้งงบขาดดุลไว้ที่ 4.5 แสนล้านบาท และมีการจัดทำงบกลางปีเพิ่มเติมอีก 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งได้แยกเป็นส่วนของรายได้ 50,000 ล้านบาท และเงินกู้ 1 แสนล้านบาท จึงทำให้ในปีงบประมาณ 2561 จะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 5.5 แสนล้านบาท 

สำหรับงบกลางปีเพิ่มเติม 1.5 แสนล้านบาท รัฐบาลจะนำไปใช้ดำเนินการใน 3 ส่วนที่สำคัญ คือ 1) การดูแลสวัสดิการให้แก่ผู้มีรายได้น้อย 2) การปฏิรูปโครงสร้างภาคเกษตร และ 3) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในระดับท้องถิ่น

พร้อมกับยืนยันว่าการที่รัฐบาลตั้งงบประมาณขาดดุลเพิ่มขึ้นจะไม่ส่งผลกระทบต่อวินัยการเงินการคลัง เพราะหนี้สาธารณะยังอยู่ที่ระดับ 42% ต่อจีดีพี และการทำงบขาดดุลเพิ่มเติมก็เพื่อนำเม็ดเงินมาใช้ในการลงทุนที่มีความจำเป็นของประเทศ เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ 

อีกทั้ง จะไม่ส่งผลให้รัฐบาลต้องปรับอัตราภาษีเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด แต่จะเป็นเพียงการขยายฐานภาษีให้กว้างขึ้น เพื่อให้คนที่อยู่นอกระบบเข้าสู่การชำระภาษี เข้ามาอยู่ในระบบอย่างถูกต้อง อันจะเป็นการสร้างความเป็นธรรมแก่ผู้มีหน้าที่ชำระภาษีทุกคน

"นโยบายขาดดุลที่เราเอาไปใช้นั้น ไม่ใช่เป็นการแจกเงิน แต่เราเอาไปใช้ลงทุน ซึ่งเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน แม้ต้องใช้เวลากว่าจะมาถึงตรงนี้ แต่ก็เป็นที่น่ายินดีว่าการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานปีนี้ on track มีการประมูลเกิดขึ้นชัดเจน หลายโครงการเริ่มก่อสร้างแล้ว" รมว.คลังกล่าว

อีกทั้งในปี 2561 นี้ กระทรวงการคลังจะเร่งดำเนินการ 2 เรื่อง ได้แก่ 1) การใช้ระบบ Payment Electronic ในภาครัฐ ซึ่งจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 27 มี.ค.นี้เป็นต้นไป โดยให้ทุกการรับ-จ่ายของภาครัฐดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด รวมทั้งการกระตุ้นในภาคของประชาชนให้เข้าสู่สังคมไร้เงินสด และ 2) การแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ ซึ่งแม้จะดูเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ปัญหาหนี้นอกระบบในประเทศไทยหมดไป แต่ก็มีความเป็นไปได้ หากมีการดำเนินการอย่างเอาจริงเอาจัง

สำหรับเรื่องภาษีอี-คอมเมิร์ซ ตอนนี้อยู่ระหว่างร่างกฎหมาย โดยสิ่งที่จะทำคือการให้ผู้ค้าในระบบนี้เข้ามาอยู่ในระบบเข้ามาจด VAT เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% เหมือนร้านค้าทั่วไป จากปัจจุบันคนที่ขายสินค้าออนไลน์ส่วนใหญ่ไม่จ่ายภาษีส่วนนี้ ดังนั้นเพื่อ���ร้างความเป็นธรรมกับคนอื่นๆ ที่เสียก็ต้องมีกฎหมายออกมา

ร่าง พ.ร.บ. อีอีซี เข้าสภาฯ 8 ก.พ.   


อุตตม สาวนายน.jpg

นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่ากระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวถึงความคืบหน้าของการพัฒนาและลงทุนในระเบียงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ว่า ตอนนี้ร่างกฏหมายอีอีซี เตรียมเข้าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวัน 8 ก.พ. นี้ ก่อนที่จะออกเป็นกฏหมายในลำดับต่อไป 

"หากกระบวนการต่างๆ เสร็จเรียบร้อย กระทรวงอุตสาหกรรมเตรียมที่จะออกสัญญาจัดซื้อจัดจ้าง (TOR) และทยอยก่อสร้างโครงการต่างๆ ให้ได้ภายในปีนี้" นายอุตตมกล่าว

โดยจะมี 5 โครงการสำคัญที่จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการพัฒนาเขตเศรษฐกิจภาคตะวันออก ได้แก่ รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือมาบตาพุด ท่าเรือแหลมฉบัง ขยายสนามบินอู่ตะเภา และอุตสาหกรรมเป้าหมายต่างๆ 

พร้อมกับระบุว่า การลงทุนในอีอีซีไม่ได้ให้ประโยชน์เฉพาะแค่ 3 จังหวัดในโครงการเท่านั้น แต่ให้ประโยชน์ต่อจังหวัดอื่นๆ ที่อยู่ใกล้เคียงอีกด้วย เช่น ปราจีนบุรี และสมุทรสาคร ซึ่งจะมีการหาวิธีการในการที่ให้จังหวัดอื่นๆ มีส่วนเกี่ยวข้องให้เกิดประโยชน์ร่วมกันต่อไป

พาณิชย์โฟกัส 'ส่งออก-เศรษฐกิจท้องถิ่น'


สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยเทคออฟไปได้อย่างต่อเนื่องในปีนี้ มี 2 เรื่องใหญ่ ได้แก่ การส่งออก และการสร้างเศรษฐกิจในระดับท้องถิ่น หรือ local economy 

สำหรับการส่งออกคาดว่าปี 2560 ที่ผ่านมา ทำได้เฉียดๆ 10% และปี 2561 ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์มีเป้าหมายเติบโต 6% และจากการสำรวจความเห็นผู้ประกอบการส่งออกทุกเซคเตอร์ก็ระบุว่า น่าจะได้ราวๆ นี้ อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 19 ก.พ. นี้ กระทรวงพาณิชย์จะมีการประชุมหารือระหว่างผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ หรือทูตพาณิชย์ทั่วโลก เพื่อประเมินการส่งออก และผลกระทบจากปัจจัยต่างๆ ซึ่งจะมีการทบทวนเป้าหมายส่งออกอีกครั้ง และคาดว่า น่าจะขยายตัวได้มากกว่า 6% ส่วนจะถึง 10% หรือไม่ต้องพิจารณาอีกที 

อีกด้านหนึ่ง การผลักดันการสร้างเศรษฐกิจท้องถิ่น การทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ เช่น กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงการคลัง กระทรวงท่องเที่ยวฯ เชื่อมโยงตลาดแบบดั้งเดิมกับตลาดออนไลน์ หรือ อี-คอมเมิร์ซ เพราะล่าสุดได้หารือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือกระทรวงดีอี ว่า เมื่ออินเตอร์เน็ตประชารัฐครอบคลุมแล้ว ก็จะเป็นตัวเชื่อมโยงให้กับสินค้าชุมชน 

"ปัจจุบันเรามีร้านค้าประชารัฐ 20,000 แห่ง ที่รับชำระเงินด้วยเครื่องอีดีซี และอีกภายใน 2 เดือนข้างหน้าจะเพิ่มเป็น 40,000 แห่ง รวมถึงเราได้ทำงานร่วมกับบริษัท ไปรษณีย์ไทย เพื่อเป็นจุดขนส่งสินค้า เป็นแก้มลิงให้สินค้าชุมชน สินค้าเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ มีตลาด" นายสนธิรัตน์กล่าว