"คนมากมายด่าเราอย่างสนุกปาก เหยียดเรา มองเราเป็นวัตถุทางเพศ" พรนิภา วาณิชวิเศษกุล หรือ 'เปิ้ล' หัวเราะเชิงประชดเมื่อนึกถึงปฏิกิริยาของผู้คนที่มีต่อชุดออกกำลังกายรัดรูปเเละร่างกายของเธอเมื่อครั้งเข้าร่วมมาราธอนสัปดาห์ก่อน
ช่วงหลายปีที่ผ่านมาสังคมออนไลน์เต็มไปด้วยการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ละเมิดสิทธิ ใส่ร้ายป้ายสี ตลอดจนสร้างความอับอายต่อบุคคลอื่นในที่สาธารณะ โดยมีผู้ตกเป็นเหยื่อมากหน้าหลายตา โดยเฉพาะเพศหญิงที่มักกลายเป็นวัตถุทางเพศให้กับคนบางกลุ่ม
ภายหลังเผชิญกับคอมเมนต์นับหมื่นที่เปรียบดังพายุไซโคลน วันนี้ 'เปิ้ล พรนิภา' เรียนรู้เเละก้าวผ่านมันมาได้อย่างน่าชื่นชม สวมชุดกีฬาเอวลอยสีชมพู กางเกงขาสั้น รองเท้าคู่เก่ง ฉีกยิ้มกว้างออกวิ่งอีกครั้งอย่างมีความสุข
การเข้าร่วมแข่งขันวิ่งมาราธอนครั้งแรกในรายการ Happiness Run 2018 วิ่งละไม เธอแต่งหน้าแน่น เขียนคิ้ว ทาปาก สวมชุดกีฬาแบรนด์ JAGGAD ขายาวสีกรมท่า เดินทางออกจากบ้านด้วยความมั่นใจ ระหว่างทางวิ่งก็ถ่ายรูปกลับมาโพสต์ผ่านเฟซบุ๊กตามปกติ
อย่างไรก็ตาม ภาพของเธอในชุดกีฬากลับถูกแฟนเพจหลายแห่งหยิบไปแชร์ต่อ พร้อมกับขึ้นข้อความประกอบในเชิงหยอกล้อและส่อไปในเรื่องทางเพศ
“เขามองเราเป็นวัตถุทางเพศ ด่าเราหยาบคายเสียๆ หายๆ บอกเราตั้งใจโชว์บ้าง น่าโดนข่มขืนบ้าง อยากชักว่าว บางคนวิจารณ์รูปร่างอวัยวะเพศเรา และทุกคนก็มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ขนาดคนใกล้ตัว บางคนยังบอกปล่อยไปเถอะอย่าคิดมาก เขาด่าแสดงว่าเราสวย ทั้งๆ ที่เราไม่ได้แฮปปี้กับการที่คนบอกว่า สวยจนน่าเอา”
(ชุดกีฬาที่ตกเป็นประเด็น)
เธอเข้าใจดีถึงความหลากหลายทางความคิดและการวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนร้อยพ่อพันแม่ รวมถึงยอมรับด้วยว่า บางภาพบางมุม อาจจะเห็นจุดที่ควรปกปิดมากเกินไป แต่นั่นไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ หากเป็นเพราะแสงและมุมภาพ
สิ่งที่รู้สึกผิดหวังมากที่สุด คือ การแต่งตัวอย่างถูกบริบทบนร่างกายของตัวเอง กลับถูกละเมิดสิทธิและเหยียดหยามอย่างไม่ยุติธรรม
“เราใส่ชุดออกกำลังกายไปวิ่ง เรามองว่าชุดออกกำลังกายมันเป็นแฟชั่น เป็นสไตล์ของแต่ละคน รวมถึงมีเหตุผลเรื่องความปลอดภัย การซัพพอร์ตด้วย ไม่ใช่ว่าเราต้องใส่กางเกงวอร์มใหญ่ๆ ไปวิ่งซะทีไหน มันเป็นสิทธิของเรา my body my rights ร่างกายของฉัน สิทธิของฉัน”
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เธอเข้าใจได้ว่า การแสดงความคิดเห็นและการแลกเปลี่ยนในสังคมไทย โดยเฉพาะในโซเชียลมีเดียยังมากไปด้วยความเพิกเฉยต่อการละเมิดสิทธิ หยาบคาย กลั่นแกล้งและคุกคาม ยากที่จะมีใครเข้าใจถึงความรู้สึกของเหยื่อ หากไม่ตกเป็นเหยื่อเสียเอง
“เราพยายามปล่อยผ่าน คิดว่าเดี๋ยวก็ลืม ไม่เข้าไปอ่าน แต่พอเจอกับตัวจริงๆ เราก็โฟเบียไปเลย รู้สึกหวาดระแวงกับสายตาคนอื่น เขาก็มองเราปกติแหละ แต่เราเริ่มมีอาการจิตตกแล้วนะ เมื่อก่อนเราไม่เข้าใจถึงความรู้สึกของการถูก bully แต่พอโดนเข้ากับตัวถึงรู้ มันไม่แฟร์เลยจริงๆ ที่คุณมารุกล้ำละเมิดสิทธิของเรา”
หญิงสาววัย 28 ปีบอกว่า คนในสังคมและสื่อ ไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ควรตระหนักว่าเราต่างมีอิทธิพลต่อคนอื่นๆ มากน้อยต่างกันไป ไม่ควรเป็นผู้พิพากษา ชี้นำ ซ้ำเติมให้เกิดการกลั่นแกล้ง โจมตีผู้อื่นอย่างเสียหาย ไม่ว่าจะด้วยเพราะความคะนอง สนุกปาก หรือตั้งใจ
“คุณไม่มีทางรู้ว่า หลังจากนี้เหยื่อจะเป็นยังไงต่อไป พวกเขาเจ็บช้ำขนาดไหน”
ทัศนคติและวิธีคิดที่เห็นการดูถูกรังแก ไม่เคารพความเป็นมนุษย์ของผู้อื่นเป็นเรื่องปกตินั้นควรจะหมดไปได้แล้วในสังคม
“คำพูดประเภท 'เธอมันน่าโดน' 'น่าจับเธอไปข่มขืน' 'ของเธอมันช่างนูน' หรือที่ผู้หญิงด้วยกันด่ากันเองว่า 'อีตอแหล' 'แต่งตัวแบบนี้อยากดังใช่ไหม' 'อยากโชว์ของละสิ' 'แก้ผ้าเลยดีกว่า' ต้องหมดไปได้แล้ว เราไม่สมควรที่จะมีทัศนคติแบบนี้กับผู้อื่น เป็นบรรทัดฐานสังคมที่ไม่ถูกต้อง”
เปิ้ลเล่าว่าได้ส่งข้อความไปยังเพจต่างๆ เพื่อขอให้ลบภาพที่ทำให้เธอเกิดความเสียหาย แต่ก็ถูกแอดมินสวนกลับมาว่า “ไม่ลบ อยากฟ้องก็เชิญ” ซึ่งเป็นอีกเรื่องที่ย้ำให้เห็นว่า ความเพิกเฉย ไม่เกรงกลัวต่อความเสียหายของผู้อื่นรวมถึงระบบความคิดชายเป็นใหญ่ เห็นผู้หญิงเป็นเพียงวัตถุทางเพศยังฝังลึก
“ในด้านอื่น บทบาทของผู้หญิงพัฒนาและเท่าเทียมผู้ชายมากขึ้น แต่เรื่องวาทกรรมการกดขี่ การสื่อสารตามบริบทต่างๆ ผู้หญิงยังเป็นเบี้ยล่างอยู่เสมอ มันเป็นวิธีคิดชายเป็นใหญ่ ขณะที่อีกด้านคือผู้หญิงเองก็ยังไม่ต่อสู้อย่างจริงจัง” เธอให้ความคิดเห็น
ในความโชคร้ายนั้นยังมีความโชดคี เธอได้รู้จักเพื่อนเเละผู้หวังดีกับเธอเพิ่มขึ้นอีกมากมายในการเข้าร่วมงานวิ่ง Bangkok 10K International Run 2018 ในสัปดาห์ถัดมา
“ฟ้าหลังฝนมันย่อมสดใสเสมอ ดีใจมากที่ได้เจอเพื่อนนักวิ่ง รู้เลยว่ายังมีคนที่เข้าใจเราอยู่เพียบเลย”
อดีตบัณทิตจากรั้วมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่เป็นปัจจุบันเป็นพนักงานออฟฟิศ ขอให้เรื่องราวของตัวเองเป็นแรงผลักดันให้ทุกคนตระหนักถึงสิทธิและความภาคภูมิใจในร่างกายของตนเอง
“ไม่ว่าคุณจะอ้วน จะผอม จะอวบ จะขาว หรือจะดำ คุณมีสิทธิในร่างกายของตัวเอง สิทธิในการแต่งตัว โดยถูกวัตถุประสงค์และกาลเทศะ บุคคลอื่นไม่มีสิทธิมาคุกคามหรือลวนลามทางเพศ ทั้งวาจา ร่างกาย และการใช้โซเชียลมา bully ” เธอกล่าวในที่สุด