ไม่พบผลการค้นหา
ขณะผู้นำไทยเตรียมร่วมประชุมกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า การตักตวงทรัพยากรของจีนอาจทำให้แม่น้ำนานาชาติสายนี้กลายเป็นจุดพิพาท เช่นเดียวกับทะเลจีนใต้

บรรดาผู้นำประเทศลุ่มน้ำโขง รวมถึงนายกรัฐมนตรีไทย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเข้าร่วมการประชุมสุดยอดของกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง ครั้งที่สอง ที่กรุงพนมเปญของกัมพูชา ในวันพุธที่ 10 มกราคม

กรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง หรือแอลเอ็มซี (Lancang-Mekong Cooperation) จัดตั้งขึ้นโดยการผลักดันของจีน สมาชิกประกอบด้วยประเทศที่มีพรมแดนติดกับแม่น้ำโขงหรือมีแม่น้ำโขงไหลผ่าน นั่นคือ จีน เมียนมา ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม

แอลเอ็มซีก่อตั้งเมื่อปี 2558 โดยมีการประชุมระดับผู้นำครั้งปฐมฤกษ์เมื่อเดือนมีนาคม 2559

ที่ผ่านมา การบริหารจัดการทรัพยากรในลุ่มน้ำโขงมีกลไกกำกับดูแลอยู่แล้ว นั่นคือ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง หรือเอ็มอาร์ซี (Mekong River Commission) โดยมีกฎเกณฑ์ควบคุมการใช้ประโยชน์ทรัพยากรน้ำที่เห็นพ้องกันในหมู่ประเทศลุ่มน้ำตอนล่าง นั่นคือ ลาว ไทย กัมพูชา และเวียดนาม

เมียนมาไม่ประสงค์เข้าเป็นสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โดยให้เหตุผลว่า ตนไม่ได้ใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงมากนักเพราะไหลผ่านประเทศเพียงช่วงสั้นๆ ส่วนจีนนั้นไม่ต้องการถูกตีกรอบโดยกติกาการใช้น้ำของเอ็มอาร์ซี

แม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำระหว่างประเทศที่มีความยาวเป็นอันดับที่ 7 ในเอเชีย หล่อเลี้ยงชีวิตผู้คนในลุ่มน้ำตอนล่าง ทั้งในด้านการเกษตรและการประมง ราว 60 ล้านคน

ประเด็นที่นักสังเกตการณ์วิตกกันก็คือ จีนได้สร้างเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำขนาดใหญ่ ปิดกั้นลำน้ำสายหลักของแม่น้ำโขงแล้ว 8 เขื่อน มีแผนจะสร้างอีกกว่า 20 เขื่อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อชุมชนทางท้ายน้ำ

เพียรพร ดีเทศน์ ผู้ประสานงานขององค์กรระหว่างประเทศ อินเตอร์เนชั่นแนล ริเวอร์ บอกกับหนังสือพิมพ์เซาท์ไชน่ามอร์นิงโพสต์ ว่า ทุนจีนยังเข้าไปลงทุนสร้างเขื่อนในประเทศลาวด้วย เช่น เขื่อนดอนสะโฮง เขื่อนปากแบง

บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่า การกักเก็บน้ำของเขื่อนเหล่านี้มีส่วนทำให้ประเทศปลายน้ำอย่างเวียดนามประสบภาวะขาดแคลนน้ำ เมื่อปี 2559 รัฐบาลฮานอยได้ร้องขอให้จีนระบายน้ำลงมาทางท้ายน้ำเพื่อแก้วิกฤตภัยแล้ง

มิลตัน ออสบอร์น อดีตนักการทูตของออสเตรเลีย บอกว่า ที่ผ่านมา จีนพัฒนาทรัพยากรน้ำภายในเขตแดนของตนโดยไม่ปรึกษาหารือกับประเทศลุ่มน้ำโขงตอนล่าง

ถ้ากรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้างทำหน้าที่เป็นช่องทางที่ประเทศลุ่มน้ำโขงจะสามารถกำกับการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขงสายหลักได้ และหากว่าจีนรับปากที่จะบอกกล่าวเมื่อระบายน้ำจากเขื่อน ก็จะนับเป็นเรื่องดี

อย่างไรก็ตาม นักสังเกตการณ์บางรายเตือนว่า การใช้ประโยชน์ทรัพยากรในแม่น้ำโขง อาจจุดชนวนบาดหมางระหว่างจีนกับอาเซียน

เอลเลียต เบรนแนน นักวิจัยอิสระเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ บอกว่า ประเด็นแม่น้ำโขงอาจกลายเป็นปมพิพาทถัดจากประเด็นทะเลจีนใต้ก็เป็นได้ เพราะจีนมีเจตนาที่จะควบคุมแม่น้ำระหว่างประเทศสายนี้

เขามองว่า ในแง่ภูมิรัฐศาสตร์นั้น ถ้าจีนควบคุมการพัฒนาแม่น้ำโขงได้ แม่น้ำโขงก็จะกลายเป็นช่องทางให้จีนผงาดในภูมิภาค และสามารถแผ่อิทธิพลเข้าสู่อาเซียน

เบรนแนน แนะว่า ในเรื่องความร่วมมือแม่น้ำโขงนี้ จีนมีแต่ได้กับได้ ชาติสมาชิกอาเซียนต้องต่อรองกับจีนให้ดีๆเพื่อไม่ให้เสียเปรียบ.

แหล่งที่มา : South China Morning Post