นับตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ฝูงชนในหลายเมืองของอินเดียหลงเชื่อข่าวปลอมที่ส่งต่อกันทางแอปพลิเคชั่นสื่อสาร WhatsApp และรวมตัวกันก่อเหตุไล่ล่าผู้ต้องสงสัยเป็นขบวนการลักพาตัวเด็ก ทั้งยังใช้ความรุนแรงลงโทษโดยไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงใดๆ ทำให้มีผู้ตกเป็นเหยื่อศาลเตี้ยเสียชีวิตแล้ว 25 รายทั่วประเทศ
ล่าสุด 'โมฮัมหมัด อาซาม' วิศวกรคอมพิวเตอร์ซึ่งทำงานให้กับกูเกิลในอินเดีย เป็นเหยื่อรายล่าสุดที่ถูกฝูงชนในหมู่บ้านมูร์กี เมืองบิดาร์ เข้าใจว่าเป็นผู้ก่อเหตุลักพาตัวเด็ก ทำให้เขาถูกรุมล้อมและทำร้ายร่างกาย ก่อนจะมีผู้ใช้เชือกรัดคอลากไปตามถนนจนเสียชีวิต
สาเหตุที่ทำให้อาซามตกเป็นเหยื่อฝูงชน เนื่องจากเขาและเพื่อนอีก 3 คนขับรถยนต์คันใหม่จากเมืองไฮเดอราบัดไปพักผ่อนที่เมืองบิดาร์ และระหว่างทางได้แวะทักทายเด็กๆ ที่อยู่ในหมู่บ้านมูร์กี รวมถึงแจกขนมให้กลุ่มเด็กๆ ที่มารุมล้อม ชาวบ้านในละแวกใกล้เคียงเชื่อข่าวลือที่ส่งต่อกันทาง WhatsApp ว่ามีแก๊งลักพาตัวและฆ่าหั่นศพเด็กตระเวนหาเหยื่อในอินเดีย จึงเชื่อว่าอาซามกับเพื่อนๆ เป็นอาชญากรและพยายามเข้ามาทำร้าย
อาซามและเพื่อนหนีขึ้นรถก่อนจะขับออกจากที่เกิดเหตุ แต่ฝูงชนในหมู่บ้านมูร์กีได้โทรศัพท์แจ้งคนรู้จัก รวมถึงเครือญาติให้ช่วยกันสกัดรถยนต์ต้องสงสัย ซึ่งหมายถึงรถยนต์ของอาซาม จึงมีการตั้งด่านลอยขึ้นเพื่อสกัดรถยนต์ที่ผ่านไปมา และเหตุให้อาซามขับรถชน ทั้งยังถูกฝูงชนลากออกจากรถมาทำร้ายจนเสียชีวิต
(ทางการอินเดียลงประกาศในหนังสือพิมพ์ รณรงค์ให้ประชาชนแยกแยะข่าวปลอมที่พบในสื่อสังคมออนไลน์)
อย่างไรก็ตาม ผู้เห็นเหตุการณ์ยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจและพลเมืองดีหลายคนพยายามเข้าไปช่วยอาซาม แต่ก็ไม่อาจสู้แรงฝูงชนที่มีจำนวนมากกว่าได้ ตำรวจ 2 นายที่อยู่ในเหตุการณ์ตัดสินใจเข้าไปคุ้มกันเพื่อนของอาซามที่ยังอยู่ในรถยนต์ แต่ทั้งหมดก็ได้รับบาดเจ็บค่อนข้างร้ายแรงเช่นกัน
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้รัฐบาลกลางอินเดียออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทั่วประเทศป้องกันและปราบปรามการตั้งศาลเตี้ยทำร้ายผู้อื่นเพราะข่าวลือที่เผยแพร่ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยเฉพาะ WhatsApp ซึ่งเป็นต้นตอข่าวลือที่ทำให้มีผู้ถูกรุมประชาทัณฑ์เสียชีวิตไปแล้ว 25 ราย ทั้งยังมีการแจกเอกสารและลงโฆษณาในสื่อต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนไม่หลงเชื่อข่าวลือที่ได้รับต่อๆ กันมา
แม้ก่อนหน้านี้ทางการอินเดียจะยื่นหนังสือขอความร่วมมือให้ WhatsApp ช่วยสกัดหรือคัดกรองข่าวลือที่เผยแพร่ผ่านแอปพลิเคชั่นดังกล่าว แต่ผู้บริหารของ WhatsApp ในอินเดียยืนยันว่า การแก้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่แอปฯ ซึ่งเป็นเพียงเครื่องมือสื่อสาร แต่อยู่ที่การสร้างความรู้ความเข้าใจที่เท่าทันสื่อของประชาชนอินเดีย
ภาพวิดีโอการรุมประชาทัณฑ์อาซามถูกสื่อโทรทัศน์ในอินเดียนำมาเผยแพร่ต่อ พร้อมรายงานว่า การเสียชีวิตของอาซามเป็นเหตุการณ์รุนแรงครั้งที่ 2 ในรอบ 2 สัปดาห์ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการรุมประชาทัณฑ์เหยื่อ 5 รายเสียชีวิตที่เมืองดูเล รัฐมหาราษฏระ เมื่อวันที่ 1 ก.ค. และก่อนหน้านั้นก็มีการประชาทัณฑ์เกิดขึ้นที่เมืองกูวาฮาตี รัฐอัสสัมและมีผู้เสียชีวิต 2 รายเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา
สื่ออินเดียระบุด้วยว่า การหลงเชื่อข่าวลือผิดๆ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่ห่างไกล แต่เกิดขึ้นในรัฐกรณาฏกะ ไม่ไกลจากรัฐมหาราษฏระที่เป็นแหล่งขึ้นชื่อเรื่องเทคโนโลยีที่สำคัญของประเทศ จึงมีความเป็นไปได้ว่าเรื่องดังกล่าวอาจเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และทุกคนมีสิทธิตกเป็นเหยื่อ
ที่มา: Bloomberg/ NDTV/ NPR/ RT
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: