ไม่พบผลการค้นหา
ตำรวจกัมพูชาประสานทางการไทยจับกุมตัว 'รัฎ รอดมณี' นักสิทธิแรงงานชาวกัมพูชา ผู้จัดทำสารคดีตีแผ่ขบวนการค้ามนุษย์ในประเทศ เพื่อให้สื่อรัสเซียนำไปเผยแพร่ แต่ถูกรัฐบาลกัมพูชากล่าวหา 'บิดเบือนข้อมูล'

สารคดีเรื่อง My Mother Sold Me (แม่ขายฉัน) ถูกนำไปเผยแพร่ในสื่อรัสเซีย RT เมื่อเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา โดยรัฏ รอดมณี ประธานสหพันธ์สหภาพแรงงานก่อสร้างแห่งกัมพูชา (CCTUF) รับหน้าที่ผู้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มผู้ค้าบริการทางเพศในกัมพูชา รวบรวมบทสัมภาษณ์เยาวชนที่ทำงานค้าบริการในกรุงพนมเปญ แต่โฆษกสำนักงานตำรวจของกัมพูชากล่าวหาว่าข้อมูลดังกล่าวเป็นการบิดเบือนและจัดฉาก พร้อมออกหมายจับกุมรัฏในข้อหาจัดทำข้อมูลอันเป็นเท็จ

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างอิงปากคำภรรยาของรัฏ ซึ่งระบุว่าเขาถูกตำรวจไทยจับกุมและควบคุมตัวเมื่อวันที่ 7 ธ.ค.ที่ผ่านมา ขณะที่เขากำลังจะเดินทางไปยังเนเธอร์แลนด์ และยังไม่ทราบว่าเขาจะถูกดำเนินเรื่องส่งตัวกลับไปยังกัมพูชาหรือไม่ เพราะเขาอาจถูกคุมขังทันที

ไชย กิมเกิน โฆษกสำนักงานตำรวจกัมพูชา เปิดเผยกับรอยเตอร์ว่า สารคดีที่รัฏเป็นผู้ร่วมจัดทำเข้าข่ายข้อมูลเท็จ ทำลายชื่อเสียงและวัฒนธรรมอันดีงามของกัมพูชา พร้อมย้ำว่าแม่และลูกสาวที่ให้สัมภาษณ์ในสารคดีเรื่องดังกล่าวรับเงินค่าจ้างเพื่อบอกเล่าข้อมูลที่บิดเบือน 

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว RT ของรัสเซียออกแถลงการณ์แสดงความกังวลต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจะใช้ช่องทางทางการทูตในการเจรจาไกล่เกลี่ยเพื่อขอให้มีการปล่อยตัวรัฏ พร้อมย้ำว่า RT ไม่เคยจ่ายเงินว่าจ้างแหล่งข่าวตามที่ถูกกล่าวหา

ทั้งนี้ เนื้อหาในสารคดีเรื่อง My Mother Sold Me ระบุว่าเป็นการรวบรวมคำให้สัมภาษณ์ของแม่และเยาวชนหญิงที่เกี่ยวข้องในขบวนการค้าประเวณีกัมพูชา ซึ่งเกิดจากความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ทั้งยังสะท้อนปัญหาความยากจนและความหละหลวมของเจ้าหน้าที่รัฐบาลกัมพูชาซึ่งปล่อยให้มีการค้าประเวณีเด็กและเยาวชนเกิดขึ้นในประเทศ

นอกจากนี้ ไทยเคยส่งตัวผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลกัมพูชากลับไปยังประเทศเพื่อนบ้านมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ทั้งที่บุคคลดังกล่าวอยู่ระหว่างการรอสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ (UNHCR) ทำให้องค์กรสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศแถลงประณาม แต่รัฐบาลไทยยืนยันว่าบุคคลดังกล่าวถูกรัฐบาลนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ตั้งข้อหาปลุกระดม-ก่อความไม่สงบ จึงถือเป็นการส่งตัวกลับตามขั้นตอนทางกฎหมาย

ส่วนวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ตำรวจไทยจับกุมตัวนายฮาคีม อัล-อาไรบี นักฟุตบอลชาวบาห์เรน ตามหมายแดงของตำรวจสากลอินเตอร์โพล ซึ่งภายหลังหมายแดงดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป แต่ทางการไทยยังคงกักตัวนายฮาคีมที่ห้องกักของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) สวนพลู ทั้งที่ฟีฟ่าและสโมสรฟุตบอลพาสโค เวลฯ แถลงเรียกร้องให้ไทยปล่อยตัวนายฮาคีมโดยด่วน โดยย้ำว่าเขาได้รับสถานะ 'ผู้ลี้ภัยทางการเมือง' จาก UNHCR และได้รับสถานะผู้พักอาศัยถาวรจากรัฐบาลออสเตรเลียอย่างเป็นทางการแล้วตั้งแต่ปี 2560

ที่มา: Reuters/ RT

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: