ที่ผ่านมาการเดินทางในประเทศไทยเพื่อตามรอย 'โฮจิมินห์' หรือ 'ลุงโฮ' อดีตประธานาธิบดีผู้ล่วงลับและผู้นำขบวนการกอบกู้เอกราชเวียดนามจากฝรั่งเศส ถูกผูกโยงไว้กับ 2 จังหวัด คือ 'อุดรธานี' และ 'นครพนม' ซึ่งโฮจิมินห์ใช้เวลาอาศัยอยู่กับชุมชนในท้องถิ่นแห่งนั้นประมาณปีกว่าๆ แต่หลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ผ่านการตรวจสอบจากไทย เวียดนาม และจีนเพิ่มเติม ยืนยันว่าพื้นที่ซึ่งเป็น 'หมุดหมายแรก' ของโฮจิมินห์ในสยาม คือ 'บ้านดง' ซึ่งอยู่ในพื้นที่ ต. ป่ามะคาบ อ. เมือง จ.พิจิตร ในปัจจุบัน
การบอกเล่าของลูกหลานชาวเวียดนามในพิจิตร ซึ่งตั้งรกรากในพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ผนวกรวมกับจดหมายของโฮจิมินห์เองที่เคยถูกเก็บไว้ในพิพิธภัณฑ์ฮานอยของเวียดนาม บ่งชี้ว่าโฮจิมินห์เดินทางมาถึงสยามเมื่อปี พ.ศ. 2470 หลังจากใช้เวลาหลายปีในประเทศตะวันตก โดยโฮจิมินห์เดินทางมา 'บางกอก' ก่อนจะมุ่งไปยังชุมชนเวียดนามที่พิจิตร โดยใช้เส้นทางรถไฟสายปากน้ำโพ-พิษณุโลก ซึ่ง 'สมบัติ ไชโย' นายสถานีรถไฟ จ.พิจิตร เปิดเผยกับวอยซ์ออนไลน์ว่า เส้นทางรถไฟดังกล่าวสร้างเสร็จตั้งแต่ พ.ศ. 2448
ทั้งนี้ ชุมชนชาวเวียดนามอพยพในป่ามะคาบได้ปรับตัวกลมกลืนไปกับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย มีบางส่วนที่ย้ายกลับไปเวียดนาม แต่ผู้ที่ยังอยู่มาจนถึงปัจจุบันกลายเป็นพลเมืองไทยอย่างเต็มตัว ชุมชนแห่งนี้จึงมองว่าการได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์เกี่ยวกับบรรพบุรุษชาวเวียดนาม โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของ 'ขบวนการกู้ชาติ' ของชาวเวียดนามในอดีต น่าจะช่วยให้เกิดความเข้าใจในสายใยที่เชื่อมโยงกันของผู้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่าง 'ประเทศไทย' และ 'สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม' ในปัจจุบัน
องค์กรส่วนท้องถิ่นและภาคประชาชนใน ต.ป่ามะคาบ ร่วมกันจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ความสัมพันธ์ไทยและเวียดนามผ่านการรำลึกถึง 'ลุงโฮ' หรือที่คนในท้องถิ่นรู้จักในนาม 'เฒ่าจิ๋น' นับตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา โดยใช้พื้นที่ที่เคยเป็นสุสานชาวเวียดนามอพยพเป็นที่ตั้งศูนย์ แต่ยังไม่ได้เชื่อมโยงข้อมูลความรู้กับประเทศเวียดนาม
จนกระทั่งปี 2560 กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) และหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้ประสานกับทางการเวียดนามเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูล จนกระทั่งได้รับข้าวของเครื่องใช้ที่เกี่ยวข้องกับโฮจิมินห์มาจัดแสดงถาวรที่ศูนย์การเรียนรู้ดังกล่าว และถูกปรับให้เป็น 'พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์' โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นทางการไปเมื่อวันที่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา
จุดเริ่มต้น 'ขบวนการกู้ชาติเวียดนาม'
เหวียน ห่าย บั๋ง เอกอัครราชทูตเวียดนามประจำประเทศไทย ระบุว่า โฮจิมินห์มีเวลาเคลื่อนไหวในประเทศไทย เมื่อครั้งที่ยังถูกเรียกว่า 'สยาม' รวม 18 เดือนด้วยกัน และใช้เวลาที่บ้านดง ต.ป่ามะคาบ ประมาณ 2 สัปดาห์ เพื่อพูดคุยกับชาวเวียดนามอพยพในพื้นที่ จึงถือว่าที่แห่งนี้มีความสำคัญต่อการสร้างชาติของชาวเวียดนาม เพราะเป็นจุดหนึ่งที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อกอบกู้เอกราชเวียดนามในช่วงศตวรรษที่ 20
ส่วน 'วีระศักดิ์ วิจิตรแสงศรี' ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร เปิดเผยว่า งบประมาณที่ใช้ในการก่อสร้างและดำเนินการพิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ รวมเป็นเงินกว่า 26 ล้านบาท ได้รับเงินสมทบทุน 400,000 บาทจากภาคประชาชนและนิติบุคคล จึงคาดหวังว่า การเปิดพิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพของประชาชนทั้งสองเชื้อชาติที่มีความสัมพันธ์กันมายาวนาน
ขณะที่ 'วีระศักดิ์ โควสุรัตน์' รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่าโฮจิมินห์ไม่ได้เป็นเพียงแค่บุคคลสำคัญในเวียดนามเท่านั้น แต่ยังเป็นผู้นำคนสำคัญระดับโลกในศตวรรษที่ 20 การมาอยู่และเคลื่อนไหวในไทยของโฮจิมินห์นับว่าเป็น 'ขบวนการภาคประชาชน' ตอกย้ำให้เห็นว่า 'บ้านดง' เป็นภาพสะท้อนความผูกพันของประชาชนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
นอกจากนี้ ทุกภาคส่วนได้ร่วมกันต่อยอดจนพื้นที่แห่งนี้กลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบของจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ทำให้ประชาชนเข้าถึงความรู้ด้วยวิธีอื่นๆ นอกเหนือจากการบอกเล่าหรือการอ่านตำรา และหวังว่าชาวเวียดนามกว่า 90 ล้านคนจะเดินทางมาเรียนรู้ประวัติศาสตร์การสร้างชาติเวียดนามที่มีจุดเริ่มต้นในไทยด้วย
รมว.ท่องเที่ยวฯ ระบุว่า ทางกระทรวงยังได้พยายามส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคและ 'เมืองรอง' เพื่อกระจายโอกาสและรายได้ให้กับคนในท้องถิ่น โดย จ. พิจิตรก็เป็น 1 ใน 55 เมืองรองที่เป็นเป้าหมายของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท) และพิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์จะเป็นพื้นที่การท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และวัฒนธรรมที่น่าจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาวให้แก่คนในชุมชน
เรียนรู้ 'ขบวนการกู้ชาติเวียดนาม' ผ่านการเดินทางของโฮจิมินห์
ราเมศ พรหมเย็น ผู้อำนวยการสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (สพร.) เปิดเผยว่าการเปิดพิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์ สำเร็จได้ด้วยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ทั้งยังได้ประสานไปยังนักวิชาการและคณาจารย์ที่ทำวิจัยและมีระบบบันทึกข้อมูลทางประวัติศาสตร์ ทั้งจากเวียดนาม ไทย และจีน ซึ่งศึกษาเรื่องราวการเคลื่อนไหวของโฮจิมินห์และขบวนการกู้ชาติเวียดนามในอดีต
ผู้อำนวยการ สพร. ยืนยันว่า นักวิชาการต่างๆ ของเวียดนามเดินทางมายังไทยเพื่อพูดคุยหารือกับทีมงานมิวเซียมสยาม หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ของ สพร. และประสานงานกับทีมงานบ้านดงที่อยู่ภายใต้การบริหารของ อบต. ป่ามะคาบ และร่วมมือกันสอบทานให้ได้ข้อมูลที่ตรงกัน ก่อนจะนำมาจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
การจัดแสดงนิทรรศการถาวรในพิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์จึงสะท้อนภาพวัฒนธรรมและความเป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดของไทยและเวียดนาม ซึ่งสามารถเกื้อกูลกันในการเป็นที่พักพิง เห็นได้จากกรณีที่โฮจิมินห์เข้ามาใช้พื้นที่ของประเทศไทยในอดีตเพื่อการเคลื่อนไหวเรื่องการกู้ชาติ และคนไทยให้การตอบรับเป็นอย่างดี
"เราไม่อาจที่จะพูดได้ว่าเรามีส่วนสำคัญมากขนาดนั้น แต่อย่างน้อย ความสัมพันธ์หรือการสนับสนุนของพี่น้องชาวไทยที่อยู่ ณ บ้านดง จ.พิจิตร ก็เป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเวียดนาม ซึ่งกำลังจะเดินต่อไปในอนาคต มีความแน่นแฟ้น-ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น"
ตั้งเป้า 'ก้าวข้าม' ประวัติศาสตร์บาดแผล
ขบวนการกู้ชาติของชาวเวียดนามเพื่อปลดแอกจากฝรั่งเศสเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับการผลักดันให้เกิดพรรคคอมมิวนิสต์อินโดจีนของโฮจิมินห์เมื่อ พ.ศ. 2471-2472 และไม่นานหลังจากนั้น 'สยาม' ก็มีการปฏิวัติเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี 2475 และกลายเป็น 'ประเทศไทย'
ถัดจากนั้นไม่กี่ปีก็เป็นช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ระหว่างปี 2482-2488 ทำให้เกิดความผันผวนเปลี่ยนแปลงในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก่อนจะเข้าสู่ยุคสงครามเวียดนาม ซึ่งเป็นการต่อสู้ระหว่างเวียดนามเหนือและเวียดนามใต้ ช่วงปี 2498-2518 และถูกมองว่าเป็น 'สงครามตัวแทน' เนื่องจากจีนและสหภาพโซเวียตในขณะนั้นสนับสนุนเวียดนามเหนือที่ยึดมั่นในระบอบการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ ขณะที่เวียดนามใต้ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกามีแนวคิดต่อต้านคอมมิวนิสต์
เมื่อเวียดนามเหนือเป็นฝ่ายชนะ เวียดนามถูกรวมเป็นหนึ่ง กลายเป็น 'สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม' ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยและเวียดนามเสื่อมถอยลงในยุคหลังจากนั้น เพราะไทยให้ความร่วมมือกับกองทัพสหรัฐอเมริกาช่วงสงครามเวียดนาม เปิดพื้นที่ให้ทหารอเมริกันตั้งศูนย์บัญชาการต่อสู้กับกองทัพฝ่ายเวียดนามเหนือ
ผอ.สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ยอมรับว่า จังหวะหนึ่งในห้วงเวลาประวัติศาสตร์อาจมี 'ตัวแปร' หรือ 'ปัจจัยภายนอกภูมิภาค' ที่กระทบต่อความสัมพันธ์ไทยและเวียดนาม แต่ในยุคที่เวียดนามปรับเปลี่ยนนโยบายต่างประเทศและเศรษฐกิจ เปิดรับการลงทุนจากต่างชาติและเข้าร่วมกลุ่มประเทศอาเซียน ช่วยให้เกิดการฟื้นฟูความสัมพันธ์และความร่วมมือของสองประเทศ
การผลักดันให้เกิด 'พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์' จึงเป็นสัญลักษณ์ทางประวัติศาสตร์ที่เวียดนามในปัจจุบันจะมองเห็นได้ว่า ไทยและเวียดนามร่วมมือกันในระดับประชาชนอย่างเข้มแข็งมาก่อน ส่วน 'ขบวนการกู้ชาติ' ที่นำไปสู่การประกาศเอกราชของเวียดนาม ก็มีจุดเริ่มต้นที่บ้านดงและพื้นที่อื่นๆ ของประเทศไทยในอดีตด้วยเช่นกัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: