ไม่พบผลการค้นหา
หลายวันก่อน ผมได้ตั้งคำถามด้วยความสงสัยไว้บนเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า การใช้คำว่า “บิ๊ก” กับทหารและตำรวจระดับสูง เริ่มมาตั้งแต่เมื่อใด?

มิตรสหายในวงการข่าวหลายคนก็มาให้ข้อมูลที่น่าสนใจ กล่าวโดยสรุปคือ สื่อไทยเริ่มใช้ “บิ๊ก” นำชื่อนายทหารระดับสูง ครั้งแรกในสมัย พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก อดีตผู้บัญชาการทหารบก สมัยรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ โดยก่อนหน้าหากไม่ใช่ชื่อเต็มๆ เช่น จอมพล ป. สฤษดิ์ ถนอม ประภาส ฯลฯ ก็จะเติบคำว่า “ใหญ่” ต่อท้ายชื่อเล่นมากกว่า เช่นเรียก พล.ร.อ.สงัด ชะลออยู่ ผู้ทำรัฐประหาร 2 ครั้ง ในปี 2519 และปี 2520 ว่า “จอว์สใหญ่”

เหตุที่สื่อสมัยนั้น เรียก พล.อ.อาทิตย์ ว่า “บิ๊กซัน” เพราะเจ้าตัวเป็นคนพูดเก่ง และให้สัมภาษณ์ได้ทุกเรื่อง จนแทบทุกข่าวจะเริ่มด้วยคำว่า พล.อ.อาทิตย์กล่าวว่า.. ที่สุดจึงมีการคิดคำว่า บิ๊ก ขึ้นมานำหน้าชื่อเล่น ซัน

กล่าวโดยสรุปก็คือ ที่มาของคำว่า “บิ๊ก” เป็นเพียงเหตุผลด้านวารสารศาสตร์ คือเลี่ยงการใช้คำพาดหัวซ้ำๆ เท่านั้นเอง

ไม่ได้มีความหมายในเชิงต้องการยกย่องหรือซูฮก บรรดานายพลในกองทัพแต่อย่างใด

ทว่าในเวลาต่อมา ก็เริ่มมีการใช้ “บิ๊ก” นำหน้านายทหารระดับสูง โดยเฉพาะ ผบ.เหล่าทัพ จนแทบจะกลายเป็นธรรมเนียม ทั้ง บิ๊กจิ๋ว บิ๊กจ๊อด บิ๊กเหวียง บิ๊กป้อม บิ๊กบัง บิ๊กป๊อก บิ๊กตู่ ฯลฯ ยิ่งมาช่วงหลัง คนที่ดำรงตำแหน่งอื่นๆ ก็ถูกใช้คำว่าบิ๊กนำหน้าชื่อได้

เลยกลายเป็นว่า ใครๆ ก็เป็น “บิ๊ก” ไปซะหมด

และไม่แน่ใจว่า การที่สื่อเรียกทหารระดับสูงว่าบิ๊กมา 30 ปีเศษ จะทำให้คนในอาชีพอื่นๆ ในสังคมเกิดอาการ “เกรงใจ” เหล่านายทหารระดับสูงนี้หรือไม่ อย่าลืมว่าการนำเสนอข่าวของสื่อ มีผลต่อการกล่อมเกลาทัศนคติ ค่านิยม ความนึกคิด และอารมณ์ของผู้คนในสังคม แม้ช่วงหลังอิทธิพลตรงนี้จะลดลงไปค่อนข้างมากก็ตาม

แต่หลังเกิดข่าวเรื่องแหวนเพชร-นาฬิกาหรูของ “บิ๊กทหาร” คนหนึ่งในรัฐบาล หลายคนก็ไม่เชื่อว่า สุดท้ายหน่วยงานที่มีหน้าที่ตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช. จะกล้าเอาผิดอะไร

แม้จะมีบางสื่อ ไปพลิกย้อนดูคำพิพากษาคดีลักษณะเช่นนี้ ที่ ป.ป.ช.เคยชี้มูล และศาลตัดสินลงโทษไปแล้ว กว่า 300 – 400 คดี ที่แสดงให้เห็นถึงความแข็งขันในการทำงานของ ป.ป.ช. ไม่ใช่ผู้ถูกกล่าวหาอ้างอะไรมาก็เชื่อ ทั้งไปเช็คเส้นทางการเงิน เช็คความสัมพันธ์ ไม่พลาดที่จะจับผิด-จับพิรุธ ดูความสมเหตุสมผล และหยิบพยานหลักฐานเหล่านั้นไปเสนอต่อศาล จนลงโทษผู้ปกปิดไม่แจ้งบัญชีในท้ายที่สุด

ทว่า “ท้ายสุด คนๆ นี้ก็จะรอด” ก็ยังเป็นสิ่งที่คนไทยจำนวนไม่น้อยคิด อยู่ดี

แต่เพื่อไม่ให้ห่อเหี่ยวกันเกินไป วันนี้จึงจะขอนำเสนอคดีที่มีบิ๊กทหาร ระดับอดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งถูก ป.ป.ช.ชี้มูล และศาลตัดสินลงโทษ ในคดีแจ้งบัญชีเท็จ เมื่อปี 2556

แม้จะเป็นทหารคนเดียวที่ถูกลงโทษในความผิดนี้ ในช่วง 10 ปีหลังก็ตาม (ก่อนหน้านี้ มี พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ เมื่อปี 2543 แต่ เสธ.หนั่น ก็ออกจากราชการนานแล้ว จึงน่าจะถือเป็นนักการเมืองมากกว่าทหาร)

บิ๊กทหารคนดังกล่าว มีชื่อว่า “พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์”

พล.อ.เสถียร ถูก ป.ป.ช ตรวจสอบและชี้มูลว่า ได้ปกปิดไม่แจ้งทรัพย์สิน ตอนที่เข้าไปเป็นบอร์ดขององค์การคลังสินค้าหลายรายการ ทั้งบัญชีเงินฝาก เงินลงทุน และที่ดิน ซึ่งแม้เจ้าตัวจะชี้แจงด้วยสารพัดเหตุผล เช่น หลงลืม มีทรัพย์สินมาก จำไม่หมด มีปัญหาครอบครัว หรือกระทั่งน้ำท่วม แต่ ป.ป.ช. ก็หาพยานหลักฐานมาโต้แย้งได้หมด

ท้ายสุด ศาลพิจารณาแล้วเห็นว่า มีเพียงคำอ้างว่า “น้ำท่วม” เท่านั้นที่พอฟังขึ้น ให้จำคุก พล.อ.เสถียร 2 เดือน ปรับ 4,000 บาท โทษจำคุกเปลี่ยนเป็นรอการลงโทษ 1 ปี และห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

นั่นแปลว่า ต่อให้เป็น “บิ๊กทหาร” ก็ถูกลงโทษได้ หากหน่วยงานตรวจสอบอย่าง ป.ป.ช. ทำงานอย่างเอาจริงเอาจัง

ยิ่งหลังจากเป็นข่าว คนในโลกโซเชียลมีเดียก็ไปตรวจสอบพบว่า บิ๊กทหารคนนั้นในรัฐบาลปัจจุบัน มีนาฬิกา Richard Mille เรือนที่สอง ไม่รวมถึงนาฬิกายี่ห้อหรูอื่นๆ อาทิ Rolex, Patex Philippe, Audemars Piquet ฯลฯ ไม่รวมถึงแหวนเพชรและเครื่องประทับอีกหลายรายการ ซึ่งบิ๊กทหารท่านนี้ไม่เคยแจ้งไว้ในบัญชีทรัพย์สินที่ยื่นต่อ ป.ป.ช. ระหว่างปี 2551 - 2557 เลยแม้แต่ครั้งเดียว

กรณีนี้ ป.ป.ช. จึงน่าจะยิ่งตรวจสอบง่ายยิ่งขึ้นไปอีก

ที่ผ่านมา หน่วยงานตรวจสอบทุจริตไทยทั้งหลาย ถูกมองว่า มักจะ “ลดราวาศอก” ให้กับผู้มีอำนาจและทหารค่อนข้างมาก (ไม่ว่าความเชื่อนี้จะเป็นจริงหรือไม่) ยิ่งมีการเปิดสถิติการชี้มูลของ ป.ป.ช. ในคดีแจ้งบัญชีเท็จ ระหว่างปี 2558 – 2559 รวมทั้งสิ้น 350 คดี แต่ไม่มี “ทหาร” อยู่เลย แม้แต่คนเดียว

นี่จึงเป็นโอกาสทองที่อาจไม่ได้อีกแล้ว ในการปฏิเสธว่า ความเชื่อที่ว่า ป.ป.ช. อ่อนข้อให้กับรัฐบาลทหารนั้น “ไม่เป็นความจริง”

ซึ่งไม่ได้แปลว่าจะต้องลงมติว่าให้บิ๊กทหารคนดังกล่าวมีความผิด แค่เพียงทำงานอย่างแข็งขัน ตรวจสอบอย่างเอาจริงเอาจัง และเปิดเผยการทำงานทุกอย่างอย่างโปร่งใส ไม่ใช่แค่ทำงานเงียบๆ แล้วให้เอกสารประชาสัมพันธ์สรุปผลมาเพียงแผ่นเดียว แบบนั้นไม่ทำให้คนเชื่อในการทำงานของ ป.ป.ช.แน่ๆ

อย่าให้ พล.อ.เสถียร เป็นเพียงบิ๊กทหารเพียงคนเดียว ที่ได้รู้ฤทธิ์เดชของ ป.ป.ช. ในเวลาทำงานอย่างจริงจัง

ที่ไม่ว่าจะซ่อนทรัพย์สินไว้ที่ไหนก็ไปตามหามาจนเจอ

อ้างอิง

คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ คดีที่ ป.ป.ช. ยื่นฟ้อง พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์ ปลัดกระทรวงกลาโหม กรณีแจ้งบัญชีเท็จ

พงศ์ บัญชา
0Article
0Video
0Blog