เก่ง - การุณ โหสกุล อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย หรือที่ใครหลายคนรู้จักในนามของอาจารย์เก่ง น้าเก่ง เสี่ยเก่ง หรือนักเลงดอนเมือง แต่อีกมุมหนึ่งเขาคือ ลูกเก่ง ของ คุณสุบรรณ โหสกุล แม่ค้าขายส้มตำหาบเร่ เขามีชีวิตในวัยเด็กกับพี่อีก 2 คนในย่านสลัมดอนเมือง คุณพ่อเสียชีวิตไปตั้งแต่อายุ 7 ขวบ
เขาเล่าให้ฟังว่าก่อนไปโรงเรียน ลูกๆ ทุกคนต้องช่วยแม่ซื้อของ หั่นผัก หั่นหมู และคั่วข้าวคั่ว เพื่อเตรียมของให้แม่ไปหาบขาย เก่ง เล่าว่า ในสมัยนั้นการเป็นคนต่างจังหวัดเข้ามาค้าขายส้มตำในกรุงเทพฯ เป็นสิ่งที่คนในสังคมดูถูก มีเหตุการณ์หนึ่งที่เตือนใจเขามาตลอดชีวิต คือ วันที่แม่ไปซื้อของในตลาด และลื่นล้มหน้าร้านขายปลา ผ้าถุงเลอะเมือกปลา และน้ำในตลาดจนเหม็นคละคลุ้ง ทำให้กระเป๋ารถสวัสดิการในดอนเมืองไม่ยอมให้ขึ้นรถ เพราะกลัวว่าจะไปเลอะเด็กนักเรียน ข้าราชการ ทหารที่กำลังจะไปทำงาน และไล่ด้วยคำพูดดูถูกดูแคลน แม่ต้องรอจนกว่าจะเลยเวลาเช้าที่รถแน่น แต่มันก็ทำให้วันนั้น กลับไปเตรียมของขายไม่ทันเวลา เขาจำภาพแม่นั่งร้องไห้ที่คิวรถได้ติดตา และสัญญากับตัวเองมาตลอดว่า ต่อจากนี้จะทำทุกอย่างให้แม่ภูมิใจ และมีความเป็นอยู่ที่สบายขึ้น
เก่ง จบการศึกษาจากวิทยาลัยเทคโนโลยีช่างฝีมือปัญจวิทยา และออกมาทำอาชีพขับมอร์เตอร์ไซค์รับจ้าง กับรับจ้างส่งเอกสารตามบริษัทขนส่งสินค้า ก่อนจะหาช่องทางเข้าทำงานจนเป็นผู้จัดการ และเจ้าของบริษัทในที่สุด เขาทำรายได้จากการขนส่งสินค้า และเสื้อผ้า จนร่ำรวย และได้มีโอกาสเข้ามาทำงานการเมืองครั้งแรกในฐานะสมาชิกสภาเขตดอนเมือง และประธานสภาเขตดอนเมือง ในนามพรรคประชากรไทย ต่อมาได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภากรุงเทพฯ ในนามพรรคชาติไทย และมาเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขตดอนเมือง พรรคเพื่อไทย เป็นประธานกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ และที่ปรึกษารัฐมนตรีหลายกระทรวง ซึ่งความสำเร็จทางการเมืองเหล่านี้ ได้มาจากประสบการณ์ในวัยเด็กที่ตามคุณแม่ไปขายส้มตำ ได้พบปะผู้คน จนกลายเป็นที่รู้จักของคนในเขตดอนเมือง อีกทั้งยังได้พบเจอกับเรื่องเลวร้ายต่างๆ ที่เกิดมาจากความไม่เท่าเทียม และสวัสดิการของรัฐที่ไม่ครอบคลุมทั่วถึง เป็นแรงบันดาลใจให้เขาพัฒนาสาธารณูปโภค และโครงสร้างพื้นฐานในเขตดอนเมืองได้อย่างตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน
"คุณแม่มีลูก 3 คน ผมเป็นลูกคนเล็ก ดังนั้นจึงเห็นแม่เป็นแม่ค้าส้มตำมาตั้งแต่ผมเกิด หาบสาแหรกขายเลยครับ ครกละ 50 สตางค์ พอผมสัก 4-5 ขวบก็ถือกระป๋องน้ำตามแม่ ฉะนั้นแล้วเนี่ย ความเป็นลูกแม่ค้า สิ่งที่เราได้เดินทุกๆ ครั้ง ระยะทางต่างๆ ที่เจอผู้คนเนี่ย เป็นคำทรงจำซึ่งดีบ้าง ไม่ดีบ้าง แต่ว่าเรามีความอบอุ่นที่เราจะเห็นว่า คนรู้จักแม่เรา ยายบรรณมานี่สิ ยายบรรณซื้อส้มตำหน่อย...สิ่งที่เราจะทำนั่น เราจะเลวไม่ได้ ถ้าเลวแล้วคนที่เสียใจที่สุดคือแม่เรา ทั้งๆ ที่แม่เราลำบากอยู่แล้วทำไมเราจะต้องทำให้แม่เราลำบากด้วยล่ะ"
เมื่อถามว่า "แล้วที่หลายคนเข้าใจว่า เก่ง คือ นักเลง คุณคิดอย่างไร?" เก่ง ตอบว่า ตัวเองเคยผ่านมาทุกสังคม มีเพื่อนฝูงมากมายตั้งแต่นักเลง จนถึงนักธุรกิจ และเมื่อมีน้ำใจกับเพื่อนฝูงจะได้รับการยอมรับนับถือ เก่งเล่าให้ฟังต่อว่า สมัยเด็ก ถ้าไม่อยู่แก๊งใดแก๊งหนึ่งก็ต้องโดนเตะ ดังนั้นจึงไปกับเขาทุกที่ แต่จะไม่ทำผิดไปกับเขา แม้กระทั่งสูบบุหรี่ก็ไม่เคย และสิ่งสำคัญที่ยึดถือคือ 'ความยุติธรรม' ตนเป็นคนตรงไปตรงมา "
ถ้าพวกเราผิด ถ้าจะให้เราเคลียร์ เราต้องยอมรับผิด เราต้องขอโทษ แต่ถ้าเขาผิด ถ้าเขามาขอโทษ เราต้องยอม แต่ถ้านอกเหนือจากนี้ อย่ามาคุยกับผม ไปไกลๆ ผมไม่ยอม" และจะไม่ไปก้าวล่วงพื้นที่ส่วนตัวของคนอื่นก่อน เช่นเดียวกัน ไม่ต้องการให้ใครมารุกล้ำความเป็นส่วนตัวจนทนไม่ไหว และนี่คือความตรงไปตรงมาของตนเองจนหลายครั้งคนเอาไปเหมารวมว่าเป็นนักเลง หลายคดีความที่เกิดขึ้นตั้งแต่มาทำงานการเมือง ยืนยันในความบริสุทธิ์ แต่ยอมรับว่าในความเป็นจริงทุกคดีความ คู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างมีส่วนร่วม แต่จะมากน้อยก็ขึ้นอยู่กับกระบวนการยุติธรรม
ส่วนที่หลายคนมักจะมองว่า การพูดจาไพเราะต่อหน้าประชาชน "พ่อครับ แม่ครับ ลูกเก่งมาแล้วครับ" ตนไม่ได้เสแสร้ง แต่มันคือชีวิตปกติที่ทำมาตั้งแต่ค้าขาย จนถึงวันนี้คนเหล่านั้นก็ยังรู้จักคุ้นหน้าคุ้นตากันดี ซึ่งตนไม่ได้ทำเพราะต้องการหาเสียง แต่ทุกวันนี้ที่ยังดูแลประชาชน เปิดศูนย์รับร้องทุกข์ และทำกิจกรรมสาธารณประโยชน์ เพื่อให้แม่ภูมิใจ เพื่อตอบแทนความช่วยเหลือที่หลายคนเคยมีให้ตั้งแต่ครั้งที่ลำบาก แม้ทุกวันนี้ตนจะมีเงินเลี้ยงดูแม่แล้วก็ตาม
ข่าวทีี่เกี่ยวข้อง: