สื่อรายงานว่าภาวะปัญหาเศรษฐกิจในเวเนซุเอลาเข้าขั้นวิกฤติหนักขึ้นทุกขณะหลังจากที่สะสมมายาวนานจนถึงขั้นทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถจัดหาสิ่งจำเป็นเพื่อการดำรงชีวิตได้ จำนวนมากต้องออกไปหางานทำในต่างประเทศซึ่งส่วนใหญ่คือประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ทั้งบราซิล เปรูและเอกวาดอร์ต้องแบกรับภาระเหล่านี้
รายงานข่าวระบุว่าจำนวนชาวเวเนซุเอลาที่หลบหนีออกจากประเทศเพราะความยากจนตั้งแต่ปี 2014 เชื่อว่ามีแล้วไม่ต่ำกว่า 2 ล้านคน เพราะในประเทศขาดแคลนทั้งอาหาร ยาและสินค้าพื้นฐานต่างๆ หลายคนต้องออกไปรับการรักษาตัวไม่ว่าการผ่าตัดหรืออื่นๆ
วอลสตรีทเจอร์นัลระบุว่า จำนวนประชาชนที่อพยพออกนอกประเทศเพิ่มมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่เดือนพ.ค. หลังจากที่ประธานาธิบดีนิโกลัส มาดูโร ชนะเลือกตั้ง อันเป็นการเลือกตั้งที่หลายฝ่ายบอกว่าไม่สะอาดบริสุทธิ์ และเขาได้อยู่ในอำนาจอีก 6 ปี นับเป็นการดับความหวังของคนจำนวนมากที่อยากเห็นการเปลี่ยนแปลง
รายงานข่าวระบุว่าเฉพาะเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมามีชาวเวเนซุเอลาเดินทางเข้าไปในเมืองเล็กๆ ชายแดนเปรูร่วม 2,500 คน ในขณะที่ช่องพรมแดนหลักที่ผ่านทะลุเอกวาดอร์มีคนเดินทางไปเป็นหลายพัน คนเหล่านั้นเกรงว่าหลังจากนี้จะเข้าเปรูได้ยากมากขึ้นหลังจากที่ทางการเปรูออกเงื่อนไขใหม่ตั้งแต่เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมากำหนดให้คนที่จะเข้าเมืองจะต้องมีหนังสือเดินทางแสดงด้วย จากเดิมที่แค่แสดงบัตรประจำตัวก็เข้าได้แล้ว เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเอกวาดอร์ก็ดำเนินการในแบบเดียวกัน อย่างไรก็ตามต่อมาศาลได้ออกคำสั่งให้ยกเลิกเงื่อนไขดังกล่าวเมื่อพบว่ามาตรการนี้ขัดกับข้อตกลงระดับภูมิภาคในเรื่องการเคลื่อนไหวอย่างเสรี แต่ความพยายามในอันที่จะกีดกันชาวเวเนซุเอลายังคงดำเนินต่อไป เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาเพื่อนบ้านอีกรายคือบราซิลก็พยายามจะเข้มงวดการเดินทางข้ามพรมแดนของชาวเวเนซุเอลาเช่นเดียวกัน
(ชาวเวเนซุเอลา พากันนั่งพักระหว่างเดินทางข้ามพรมแดนไปยังประเทศโคลอมเบีย)
สื่อหลายรายรายงานว่า ความรู้สึกของชุมชนติดชายแดนในประเทศเพื่อนบ้านของเวเนซุเอลาเริ่มกลายเป็นต่อต้านคนเหล่านั้น รายงานของบีบีซีบอกว่า หลายคนในเปรูบอกผู้สื่อข่าวว่าแม้จะรู้สึกเห็นใจพวกเขา แต่ปัญหาคือชาวเวเนซุเอลาเหล่านั้นแย่งงาน ในเอกวาดอร์ก็เช่นเดียวกัน ชาวเอกวาดอร์บอกว่ามีชาวเวเนซุเอล่าจำนวนมากเข้าสู่ประเทศและไปแย่งงานไป พร้อมกับมองว่า ประเทศของพวกเขาล้วนยากจนและไม่สามารถจะช่วยอะไรได้มากนัก
วอลสตรีทเจอรนัลรายงานในทำนองเดียวกันว่า อารมณ์ของชาวบราซิลก็อยู่ในสภาพที่ไม่ต้อนรับชาวเวเนซุเอลาเช่นเดียวกัน นสพ.บอกว่า สภาพที่มีผู้คนจำนวนมากเดินทางเข้าสู่ประเทศกลายเป็นความคุกคาม ประเด็นสำคัญสำหรับปัญหาก็คือพื้นที่ที่รองรับพวกเขาคือเมืองเล็กๆแถบชายแดนซึ่งยากจน เช่นในเมืองชายแดนปากาไรมา โรงพยาบาลเล็กๆ ขนาด 13 เตียงอัดแน่นไปด้วยชาวเวเนซุเอลาที่ไปขอใช้บริการแย่งชิงกับคนในเมือง ชาวบราซิลในเมืองบอกนักข่าวว่า จากที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างสันติเสมอมา พวกเขาเริ่มรู้สึกว่ามากเกินไป นสพ.รายงานว่า สหประชาชาติประมาณว่ามีชาวเวเนซุเอลาอยู่ในบราซิลจำนวน 50,000 คน ซึ่งไม่มากนักแต่ว่าพวกเขาไปกระจุกตัวกันอยู่ในเขตที่ยากจนอย่างรัฐโรไรมา และยากที่จะหยุดยั้งปัญหานี้ได้เพราะชายแดนระหว่างสองประเทศมีสภาพควบคุมยาก
วอลสตรีทเจอร์นัลระบุว่า บราซิลนั้นต่างจากประเทศอย่างสหรัฐฯ กล่าวคือไม่ค่อยมีชาวต่างชาติมากนักในชุมชนของตนเอง ที่มีอยู่บ้างส่วนใหญ่ก็เป็นคนที่มีฐานะ การที่มีชาวเวเนซุเอลาหลั่งไหลเข้าประเทศเป็นจำนวนมาก หลังจากที่เคยมีชาวเฮติที่ประสบปัญหาภัยแผ่นดินไหวเมื่อปี 2010 หลั่งไหลเข้าเมืองกลายเป็นบททดสอบความอดทนของชาวบราซิล บางคนต่อต้านเพราะมีข่าวอาชญากรรมที่เกิดขึ้นบนท้องถนน สภาพนี้เริ่มกลายเป็นประเด็นการเมือง เช่นในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีกรุงลิมา เมืองหลวงของเปรู ส่วนในบราซิลซึ่งจะมีการเลือกตั้งประธานาธิบดีในเดือนต.ค.นี้ ผู้สมัครบางรายก็เริ่มแสดงท่าทีอันแข็งกร้าวต่อคนเข้าเมืองจากเวเนซุเอลาและกลายเป็นประเด็นที่ช่วยเรียกคะแนนได้ สัปดาห์ที่แล้วได้มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นและหลังจากนั้นชาวเวเนซุเอลาหน้าใหม่ๆที่เดินทางไปบราซิลเริ่มไม่มั่นใจว่าจะได้รับการต้อนรับอย่างไร แต่ถึงกระนั้นบางคนก็บอกว่าพวกเขายอมจะถูกทุบตีในบราซิลยังดีเสียกว่ากลับไปอดตายที่เวเนซุเอล่า
วอลสตรีทเจอร์นัลอ้างโอลิเวอร์ สตวนเคล นักวิชาการของมูลนิธิ Getulio Vargas Foundation ของบราซิลเตือนว่า สิ่งที่เห็นในเวลานี้เป็นแค่จุดเริ่มต้น เขาเชื่อว่าปัญหาในเวเนซุเอลาจะไม่จบหรือแก้ได้ง่ายๆ สำหรับบราซิล ปัญหาคือมีเมืองที่ใหญ่กว่าและมีฐานะดีกว่าที่อาจจะพอรองรับผู้แสวงหาโอกาสทางเศรษฐกิจจากเวเนซุเอลาได้ดีกว่า แต่พื้นที่เหล่านั้นอยู่ทางใต้ของประเทศ
ด้านโฆษกขององค์กรระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานหรือไอโอเอ็ม โจแอล มิลแมนบอกว่า ภูมิภาคนี้ต้องการการช่วยเหลือ บีบีซีรายงานว่า เขาให้ความเห็นว่าสิ่งที่กำลังก่อตัวในเวเนซุเอลาและกับเพื่อนบ้านเป็นปัญหาในระนาบเดียวกันกับที่เกิดขึ้นในย่านเมดิเตอเรเนียน และสถานการณ์นี้เชื่อว่าจะย่ำแย่ลงอีกอย่างรวดเร็วและเขาเตือนว่าโลกจะต้องเตรียมรับมือ เลขาธิการสหประชาชาติคือนายอันโตนิโอ กุยเตเรซเตรียมจะจัดตั้งทีมงานเพื่อทำหน้าที่ประสานกันในระดับภูมิภาครับมือกับวิกฤติหนนี้ ในขณะที่เอกวาดอร์เตรียมจัดประชุม 13 ประเทศในเดือนก.ย.นี้เพื่อหาทางรับมือปัญหาเดียวกัน