วันที่ 11 ก.พ. ภราดร ปริศนานันทกุล ส.ส.อ่างทอง และโฆษกพรรคภูมิใจไทย กับ สิริพงศ์ อังคสกุลเกียรติ ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 15-16 ก.พ. 66 ว่า ต้องทำความเข้าใจก่อนมาการอภิปรายตามมาตรา 152 เป็นการอภิปรายทั่วไปเพื่อซักถามข้อเท็จจริง หรือเสนอแนะปัญหาต่อคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีการลงมติ ซึ่งต่างจากการอภิปรายไม่วางใจในมาตรา 151 ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการอภิปรายแบบใด ก็อยากให้ฝ่ายค้านพูดในสิ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์มากกว่า จะหวังประโยชน์ทางการเมือง ยิ่งช่วงนี้เป็นช่วงเข้าสู่การเลือกตั้ง ก็เข้าใจได้ว่า ต้องมีความพยายามทำเรื่องให้เป็นประเด็นการเมืองทั้งหมด แต่ก็ควรเอาแค่พอประมาณ เอาที่ชาวบ้านมีประโยชน์ด้วย
“สิ่งที่คุณพูดมันจะเป็นประโยชน์ทางการเมืองกับคุณแต่ชาวบ้านไม่ได้ประโยชน์ เรื่องพวกนี้พูดให้น้อยๆ ไปพูดเรื่องที่ชาวบ้านได้ประโยชน์มากหน่อยน่าจะดีกว่า” ภราดร กล่าว
ขณะที่ ภราดร กล่าวต่อถึงกระแสข่าวที่ว่าพรรคภูมิใจไทย จะไม่ร่วมเป็นองค์ประชุมในการอภิปรายตามมาตรา 152 ซึ่งอาจทำให้สภาฯ ล่ม และดำเนินการอภิปรายต่อไม่ได้ว่า ตนไม่ได้บอกว่า จะไม่เป็นองค์ประชุม แต่เมื่อมีการสอบถามเข้ามา ก็เตือนไปว่า ถ้าอภิปรายในเรื่องที่เป็นประโยชน์ พรรคภูมิใจไทยเป็นองค์ประชุมให้แน่นอน แต่ถ้านำเรื่องเก่าที่พูดไปแล้วซ้ำแล้วซ้ำอีก เพื่อจะมาหาเศษหาเลย ฉกฉวยโอกาสทางการเมือง พรรคภูมิใจไทยก็จะไม่ร่วมองค์ประชุม ซึ่งการอภิปรายตามมาตรา 152 ที่ผ่านมา 2-3 ครั้งเป็นไปในทางอภิปรายไม่ไว้วางใจ พูดเรื่องเดิมๆ ซ้ำกับการอภิปรายไม่ไว้วาง เพียงแต่ไม่มีการลงมติเท่านั้น ซึ่งครั้งนี้ก็เชื่อว่าจะมีการนำเรื่องที่ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจไปแล้วกลับมาพูดอีก หลายเรื่องมีการลงมติไว้วางใจรัฐมนตรีไปแล้ว แต่ฝ่ายค้านก็ยังไม่พอใจ บางเรื่องมีการนำไปยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งถือว่าครบตามกระบวนการตรวจสอบแล้ว ก็ไม่ควรนำมาพูดอีก
“เรื่องที่อภิปรายไปแล้ว เรื่องที่ลงมติไปแล้ว ในอดีต ก็ไม่ควรจะเอามาพูดในวาระนี้ ช่วงปลายสมัยอยากจะเห็นรัฐบาลทำอะไร อยากจะให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาให้ชาวบ้านอย่างไรมากกว่า ถ้าเอาเรื่องเก่าที่มีการพูดกันมาหลายรอบแล้วมาพูดอีกในคราวนี้ ผมก็เห็นว่ามันไม่มีประโยชน์ และเราอาจจะไม่ร่วมเป็นองค์ประชุม” ภราดร กล่าว
สิริพงศ์ กล่าวเสริมว่า ต้องย้ำว่าการอภิปรายทั่วไปตามมาตรา 152 ไม่ใช่การอภิปรายไม่ไว้วาง หรือเวทีซักฟอกที่เป็นเวทีของฝ่ายค้าน แต่มาตรา 152 ควรเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้ ส.ส. ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ได้เสนอแนะต่อรัฐบาล ซึ่งส่วนตัวเองกก็มีหลายประเด็นที่อยากจะสอบถาม หรือเสนอแนะกับทางฝ่ายบริหารเช่นกัน
“เวทีอภิปรายมาตรา 152 ถูกสร้างภาพให้เราเข้าใจมาโดยตลอดว่าเป็นเวทีของฝ่ายค้าน ซึ่งผมว่า หลักจริงๆ ต้องให้ ส.ส.ทั้งฝ่ายค้าน และรัฐบาลได้มีโอกาสนำเสนอด้วย” สิริพงศ์ ระบุ