ไม่พบผลการค้นหา
สหรัฐฯ มีสถิติอุบัติเหตุจากท่องส่งแก๊สระหว่างปี 2553 - 2561 กว่า 5,500 ครั้ง การเยียวยาและแก้ปัญหามาจากทั้งภาคเอกชน-รัฐบาล ด้านท่อแก๊สระเบิดในไทย ปัจจุบัน รมว.พลังงาน ยังไม่ออกมาให้ความเห็น

หลังเกิดเหตุท่อแก๊สระเบิดเมื่อ 22 ต.ค.ที่ผ่านมา บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เร่งเข้าตรวจสอบพื้นที่หาสาเหตุ พร้อมเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัวไปจนถึงการชดเชยบ้านเรือนและทรัพย์สินที่เกิดความเสียหายให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว 

ปตท. เยียวยาให้แก่ครอบครัวผู้เสียชีวิต รายละ 5 ล้านบาท ผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส รายละ 5 แสนบาท ผู้ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล รายละ 2 แสนบาท และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บแต่ไม่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล รายละ 5 หมื่นบาท แต่คงไม่มีอะไรดีไปกว่าการทุ่งงบประมาณเพื่อเลี่ยงไม่ให้เกิดอุบัติเหตุเช่นนี้อีก การศึกษาแนวทางป้องกันและเยียวยาประชาชนจากต่างประเทศจึงเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม 


ประเทศที่มีท่อแก็สยาวกว่าโลกไปดวงจันทร์

สหรัฐอเมริกาเป็นตัวอย่างประเทศสำคัญที่มีอุตสหาหกรรมท่อแก๊สธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ตามข้อมูลจาก FracTracker Alliance ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรของสหรัฐฯ พบว่า ประเทศมีขนาดท่อส่งแก๊สยาวและของเหลวอันตรายยาวรวมกันกว่า 4.3 ล้านกิโลเมตร หรือคิดเป็นระยะทาง 11 เท่าจากโลกไปดวงจันทร์ 

ข้อมูลยังพบว่า หากจำแนกประเภทท่อส่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ท่อส่งแก๊ส ท่อแลกเปลี่ยนและกักเก็บแก๊ส และท่อส่งของเหลวอันตราย ตลอดช่วงปี 2553 - 2561 มีเหตุการณ์อุบัติเหตุที่เกี่ยวกับท่อส่งฯ เหล่านี้มากถึง 5,512 ครั้ง โดยกว่า 64% หรือประมาณ 3,500 ครั้ง มาจากของเหลวอันตราย ขณะที่อีก 20% มาจากท่อแลกเปลี่ยนและกักเก็บแก๊ส

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั้งหมดส่งให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บทั้งสิ้นเกือบ 600 ราย และมีจำนวนผู้เสียชีวิตอีกกว่า 120 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายทั้งสิ้น 4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 1.2 แสนล้านบาท 

หากคำนวณจากข้อมูลข้างต้น โดยเฉลี่ยแต่วันนั้น สหรัฐฯ ต้องเผชิญหน้ากับอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับท่อส่งฯ 1.7 เหตุการณ์ ส่งผลให้ประชากรราว 9 คน ต้องอพยพออกจากบ้านเรือนตนเอง คิดเป็นความเสียหายในสินทรัพย์ 1.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (40 ล้านบาท) นอกจากนี้ ประเทศยังต้องรับมือกับท่อส่งแก๊สที่เริ่มติดไฟทุกๆ 4 วัน จนนำไปสู่การระเบิดใหญ่ทุกๆ 11 วัน ทำให้มีประชากรได้รับบาดเจ็บทุกๆ 5 วัน และเสียชีวิตทุกเดือน 

ขณะที่ข้อมูลจาก องค์กรด้านความปลอดภัยของวัสดุอันตรายและท่อส่ง กระทรวงขนส่งมวลชนของสหรัฐฯ ชี้ว่า ข้อมูลย้อนหลัง 20 ปี นับตั้งแต่ 2543 - 2562 มีอุบัติเหตุร้ายแรงเกี่ยวกับท่อส่งแก๊สซึ่งนำไปสู่การบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชน และมักเกิดจากท่อส่งฯ ติดไฟหรือระเบิดทั้งสิ้น 731 ครั้ง คิดเป็นผู้บาดเจ็บ 1,183 ราย และเสียชีวิต 280 ราย

ทั้งนี้ ข้อมูลอุบัติเหตุตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 มาจนถึงปัจจุบัน มีอุบัติเหตุที่เกี่ยวกับท่อส่งแก๊สเกิดให้สหรัฐฯ ทั้งหมด 16 ครั้ง ส่งให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 20 และ 6 ราย ตามลำดับ 


อายุ vs ความปลอดภัย 

จากข้อมูลระหว่างปี 2553 - 2561 FracTracker นำข้อมูลของท่อส่งฯ ทั้ง 3 ประเภทมาวิเคราะห์ พบว่า สำหรับกรณีของท่อส่งแก๊ส ท่อส่งฯ ที่มีอายุระหว่าง 0 - 10 ปี กลับมีตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุดถึง 138 ครั้ง ก่อนจะลดหลั่นลงมาเมื่ออายุยิ่งมากขึ้น ยกเว้นท่องส่งฯ ที่มีอายุระหว่าง 40 - 50 ปี ที่มีสถิติอุบัติเหตุรั้งอันดับสองด้วยตัวเลข 120 ครั้ง เมื่อมองโดยเฉลี่ยพบว่า อุบัติเหตุท่อส่งจะเกิดเมื่อท่อมีอายุ 33 ปี 

กรณีท่อแลกเปลี่ยนและกักเก็บแก๊ส ข้อมูลพบว่าอุบัติเหตุจะเกิดกับท่อที่มีอายุเฉลี่ยเกือบ 40 ปี โดยในช่วงอายุท่อส่งฯ 40 - 50 ปี มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นถึง 186 ครั้ง ตามมาด้วยท่อส่งที่มีอายุ 0 - 10 ปี ที่ 170 ครั้ง ก่อนจะไล่มาที่ท่อส่งอายุระหว่าง 50 - 60 ปี และ 30 - 40 ปีตามลำดับ 

ข้อมูลที่น่าประหลาดใจเกิดขึ้นกับท่อส่งของเหลวอันตราย ที่สถิติชี้ว่า อุบัติเหตุถึง 930 ครั้ง เกิดจากท่อส่งฯ ที่มีอายุเพียง 0 - 10 ปี ส่งผลให้อายุเฉลี่ยของอุบัติเหตุเกิดกับท่อส่งที่มีอายุ 27 ปี เท่านั้น ซึ่งนับว่าน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับอายุท่อส่งแก๊สและท่อแลกเปลี่ยนและกักเก็บแก๊สที่เริ่มมีปัญหา 

ผู้เขียนสรุปในงานดังกล่าวว่า การขนส่งแก๊สธรรมชาติผ่านท่อส่งฯ มีความเสี่ยงไม่ต่างกันกับการขนส่งด้วยวิธีอื่นๆ อาทิ ทางราง อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลสหรัฐฯ ควรต้องประกาศอย่างตรงไปตรงมาคือกิจการพลังงานดังกล่าวมีความเสี่ยง ไม่ใช่เป็นการเล่นคำว่าสถิติท่อส่งฯ มีประสิทธิภาพและปลอดภัยอย่างมาก โดยอ้างอิงจากแค่ตัวเลขท่อส่งน้ำมันและปิโตรเลียม ทั้งๆ ที่ในความจริง ท่อส่งแก๊สครองสัดส่วนถึง 92% ของระบบท่อส่งฯ ทั้งหมด 


เยียวยา - ป้องกัน : หน้าที่รัฐฯ

ข้อมูลการเยียวยาผู้ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุท่อส่งฯ ต่างๆ ในสหรัฐฯ ไม่ได้รับการเปิดเผยอย่างเป็นทางการจากบริษัทเอกชนในฐานะผู้ดำเนินการ ทั้งนี้องค์กรด้านความปลอดภัยของวัสดุอันตรายและท่อส่ง ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐบาล มีความพยายามกำหนดและปรับปรุงข้อบังคับและเงื่อนไขด้านความปลอดภัยให้กับเหล่าเอกชนผู้ดำเนินธุรกิจ

หนึ่งในเงื่อนไขด้านต้นคือการสร้างความตระหนักรู้ให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 4 กลุ่มคือ สาธารณชนที่ได้รับผลกระทบ เจ้าหน้าที่ฉุกเฉิน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่น และผู้ขนย้าย หน่วยงานยังมีการปรับปรุงคู่มือการป้องกันความเสียหายที่มีการทบทวนอย่างสม่ำเสมอ พร้อมหลักเกณฑ์ประเมินบริษัทผู้ดำเนินการที่มีการพัฒนาร่วมกับองค์กรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

เมื่อย้อนกลับมาที่สถานการณ์ของประเทศไทย นอกจากความพยายามแก้ปัญหาจากฝั่ง ปตท.ปัจจุบัน ยังไม่มีการออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อประชาชนจากฝั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานว่า จะมีขั้นตอนป้องกันไม่ให้ชีวิตของประชาชนตกอยู่ในความเสี่ยงอย่างไร 

หน่วยงานจากรัฐบาลที่ออกมาแสดงจุดยืนในเหตุการณ์ดังกล่าว ล่าสุดมีเพียง นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขที่ออกมาแนะนำวิธีปฏิบัติตนเมื่อเผชิญหน้ากับเหตการณ์แก๊สรั่วเท่านั้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;