ไม่พบผลการค้นหา
ส.ว.พิจารณาความคืบหน้าการปฏิรูปประเทศ ปี 2562 'เสรี' ขออยากให้การเมืองปรองดอง ประชาชนต้องไม่ก่อม็อบอย่าออกมาไล่ รบ. ควรปล่อยให้บริหารประเทศครบ 4 ปี พร้อมเข้มการตรวจสอบ เว้นแต่รัฐบาลคอร์รัปชัน

ที่ประชุมวุฒิสภาพิจารณารายงานสรุปผลการดำเนินการตามแผนการปฏิรูปประเทศ ประจำปี 2562 ต่อจากที่สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รายงานชี้แจงความคืบหน้า โดยเฉพาะผลการดำเนินงานช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปี 2562 อาทิ โครงการสร้างจิตสำนึกพลเมืองดีวิถีประชาธิปไตย, การพัฒนาระบบสอบวัดความรู้ความสามารถทั่วไปของเจ้าหน้าที่รัฐ, การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในที่ดินของรัฐ ส่วนกฎหมายที่เกี่ยวกับการปฏิรูปจาก 216 ฉบับ ขณะนี้แล้วเสร็จแล้วทั้งหมด 48 ฉบับ ชื่อรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรียอมรับว่า แผนการปฏิรูปประเทศหลายเรื่องอยู่ระหว่างกระบวนการปรับปรุงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2562 เพื่อปรับตัดกิจกรรมและทบทวนข้อเสนอการจัดตั้งหน่วยงานบางส่วน เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ และสถานการณ์โควิด-19 โดยมีการแบ่งการปฏิรูปประเทศเป็นด้านต่างๆ และจัดสีเป็นสีเขียวคือดำเนินการเสร็จแล้ว สีเหลืองคือ อยู่ระหว่างการดำเนินการและคาดว่าจะเสร็จปี 2565 สีส้มคืออยู่ระหว่างการดำเนินการแต่คาดว่าจะไม่เสร็จภายในปี 2565 และสีแดงยังไม่มีการดำเนินการ

ในด้านการเมือง สีเหลืองคือ การทำให้ประชาชนเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สีแดงคือกลไกแก้ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองด้วยสันติวิธี ส่วนสีส้มคือ กลไกที่กำหนดความรับผิดชอบของพรรคการเมืองในการประกาศโฆษณานโยบาย, ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตและรับผิดชอบต่อประชาชน, และมีการดำเนินกิจกรรมของพรรคการเมืองเป็นไปโดยเปิดเผยและตรวจสอบได้ โดยมีผู้อภิปราย ได้แก่ นายจเด็จ อินสว่าง ส.ว. ในฐานะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวว่า 88 ปีประชาธิปไตยไทย หลายคนกล่าวว่าเราล้มลุกคลุกคลาน แต่ตนเห็นว่ายังมีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์สว่างขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ทำให้มีแสงสว่างของประชาธิปไตย เนื่องจากเป็นฉบับแรกในโลกที่กำหนดแผนปฏิรูปประเทศไว้ และมีตัวชี้วัด ถือเป็นความหวังที่เราต้องช่วยกันทำ พร้อมเสนอให้หลักสูตรโรงเรียนประชาธิปไตย ต้องมีการเลือกตั้งคณะกรรมการโรงเรียน คณะรัฐมนตรีของโรงเรียน โดยมีนักเรียนเป็นส่วนร่วม 

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช อภิปรายว่า การกระจายอำนาจช่วยลดความเหลื่อมล้ำและความยากจน และเป็นรากฐานสำคัญของประชาธิปไตย แต่การจัดสรรงบประมาณไม่สะท้อนการกระจายอำนาจ เช่น งบประมาณปี 2563-2564 อยู่ที่ประมาณร้อยละ 29 ของงบประมาณรายได้ของรัฐซึ่งไม่พอดำเนินการ อีกทั้งยังมีงบประมาณแฝงของหน่วยงานอื่นอีกจำนวนมาก นอกจากนี้ตนยังเสนอให้มีคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการปกครองส่วนท้องถิ่นหรือด้านการกระจายอำนาจ ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่ารัฐบาบลให้ความสำคัญเรื่องการกระจายอำนาจ

ด้าน นายเสรี สุวรรณภานนท์ ส.ว. และกรรมาธิการ อภิปรายว่า การสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองต้องอยู่ที่กฎหมาย และองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยต้องพัฒนาตั้งแต่เด็ก เยาวชน และนักศึกษาในมหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่ดูแล้วจะประสบความสำเร็จไม่ได้คือการแก้ไขความขัดแย้งและการปรองดอง เพราะจากการประเมิณเป็นสีแดง แต่ตอนนี้หลังจากโควิดทำให้การเมืองนิ่ง การแก้ปัญฆาในประเทศควรใช้ระบบรัฐสภามากกว่าที่จะไปสร้างประเด็นทางการเมืองแล้วออกไปเรียกร้องในที่สาธารณะทำให้ประชาชนเดือดร้อนและบ้านเมืองเกิดความไม่สงบสุข การก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือปรองดองที่ผ่านมาแก้ด้วยการให้กฎหมายเป็นกฎหมาย แม้นักการเมืองเองเราก็ไม่ออกกฎหมายนิรโทษกรรม เพราะเห็นว่านักการเมืองกับประชาชนเท่าเทียมกัน ถ้านักการเมืองได้รับการนิรโทษกรรมแล้วจะตอบประชาชนได้อย่างไร

นายเสรี กล่าวว่า ที่ผ่านมาคดีเกี่ยวกับนักการเมืองศาลได้มีการตัดสินและลงโทษ เราไม่ได้ดีใจหรือพอใจกับผลคดีที่เกิดขึ้น แต่เป็นตัวอย่างที่เห็นชัดว่าการจะสร้างความปรองดองการนิรโทษกรรมไม่ใช่ทางแก้ปัญหา แต่การแก้ปัญหาคือการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น และ ส.ส. เมื่อรับความเดือดร้อนของประชาชนมาแล้วต้องแก้ปัญหาในสภาหรือส่งให้รัฐบาล และรัฐบาลต้องรับไปแก้โดยไม่เลือกฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล ถ้าแก้ปัญหาได้หมด ความขัดแย้งก็จะไม่เกิดขึ้น และสิ่งสำคัญคือทำอย่างไรให้ประชาชนยอมรับในการผลการเลือกตั้ง เลิกสร้างม็อบมาไร้รัฐบาลอย่างไม่มีเหตุผล ให้ทุกรัฐบาลอยู่บริหารประเทศให้ครบ 4 ปี แล้วมีกระบวนการการตรวจสอบที่เข้มข้น เว้นแต่รัฐบาลจะคอร์รัปชั่น ลุแก่อำนาจ บังคับใช้กฎหมายไม่มีประสิทธิภาพ อันนี้ถึงจะเป็นเงื่อนไขให้ประชาชนออกมาเรียกร้อง ส่วนในเรื่องการเลือกตั้งสุจริตและเที่ยงธรรม เห็นว่าถ้าจะให้บ้านเมืองเกิดการปฏิรูปต้องคิดว่าทำอย่างไรให้เป็นประชาธิปไตยที่แท้จริง การทำให้รัฐบาลมีเสถียรภาพ การเมืองเข้มแข็ง พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของนายทุน กำหนดคุณสมบัติของนักการเมืองที่ดี และความชัดเจนในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่น