ไม่พบผลการค้นหา
คลังแจงมีผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่านโครงการ 'ฝึกอาชีพ' แล้ว 3.2 ล้านราย จากผู้สมัครเข้าโครงการ 4.1 ล้านราย หรือร้อยละ 28 ของผู้มีบัตรทั้งหมด ยกระดับรายได้ให้ประชาชน 1 ล้านราย พ้น 'เส้นความยากจน' ชี้ขยายโครงการถึง มิ.ย. 62 พร้อมแจงมติ ครม. เห็นชอบ 'บัตรคนจน' กดเงินสดได้ระหว่าง ก.พ. - เม.ย.

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) รับทราบความคืบหน้าการดำเนินมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและให้ความเห็นชอบการดำเนินการมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 2 (มาตรการฯ ระยะที่ 2) และ การเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอกนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 

สำหรับความคืบหน้าของมาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐนั้น ปัจจุบันผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเข้าร่วมมาตรการฯ จำนวน 4,145,397 ราย (จากจำนวนผู้มีบัตรฯ ประมาณ 11.4 ล้านราย) ซึ่งได้รับการพัฒนาแล้วจำนวน 3,267,941 ราย และจากผลการติดตามความคืบหน้าการพัฒนาตนเองของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ข้อมูล ณ สิ้นปี 2561 สามารถติดตามได้ จำนวน 2,607,195 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 80 ของผู้ที่พัฒนาแล้ว โดยพบว่า  

  • มีผู้มีรายได้เพิ่มขึ้นมากกว่า 30,000 บาทต่อปี หรือเป็นผู้พ้นจากเส้นความยากจนมีจำนวน 1,012,727 ราย จากเดิมเป็นผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี อย่างไรก็ดี ยังมีผู้ที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี คงเหลือ 1,040,842 ราย (ก่อนพัฒนามีจำนวน 2,053,569 ราย)    
  • มีผู้มีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อปี จำนวน 115,116 ราย (ก่อนพัฒนามีจำนวน 0 ราย)

ขยายเวลามาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตต่อไปอีก 6 เดือน สิ้นสุด มิ.ย. 2562 

โดยจากผลสำเร็จของการดำเนินมาตรการฯ มีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหลุดพ้นจากเส้นความยากจน (Poverty Line) หรือมีรายได้มากกว่า 30,000 บาทต่อปี และหลุดพ้นจากความยากจน  หรือมีรายได้มากกว่า 100,000 บาทต่อปี ดังนั้น เพื่อให้การสนับสนุนและส่งเสริมโอกาสในการพัฒนาตนเองของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดความยั่งยืนในการประกอบอาชีพและการมีรายได้ของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ

กระทรวงการคลังจึงเสนอขยายเวลาการดำเนินมาตรการฯ ต่อไปอีก 6 เดือน ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2562 โดยยังคงหลักการและโครงสร้างการดำเนินการเช่นเดียวกับ การดำเนินมาตรการฯ ที่ผ่านมา และเพื่อให้ผู้เข้าร่วมมาตรการฯ จำนวน 4,145,397 ราย มีรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืน ให้ได้รับการเติมเงินรายเดือนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-money) ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี ในปี 2559 จะได้รับเงินจำนวน 200 บาทต่อคนต่อเดือน และผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี ในปี 2559 จะได้รับเงินจำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน ต่อไปอีก 6 เดือน (ตั้งแต่เดือนมกราคมถึงมิถุนายน 2562)

ส่วนกลุ่มเป้าหมายและการพัฒนา แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  • (1) กลุ่มผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา ซึ่งกลุ่มนี้ได้มีการแสดงความประสงค์ว่าจะเข้าร่วมพัฒนาในโครงการพัฒนาของหน่วยงานพัฒนาที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ได้แก่ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงแรงงาน กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงมหาดไทย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน (ธ.ออมสิน) ให้หน่วยงานพัฒนาที่เกี่ยวข้องดำเนินการพัฒนาผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ในกลุ่มนี้ให้เป็นกลุ่มเป้าหมายแรกภายใต้โครงการของแต่ละหน่วยงาน โดยพัฒนาให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2562  
  • (2) กลุ่มผู้ที่ผ่านการพัฒนาแล้ว แต่ยังมีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี เพื่อให้มีการพัฒนาทักษะและศักยภาพของผู้เข้าร่วมมาตรการฯ ในกลุ่มนี้อย่างต่อเนื่องจนสามารถประกอบอาชีพให้มีรายได้สูงกว่า 30,000 บาทต่อปี เห็นควรให้ ธ.ก.ส. และ ธ.ออมสิน ในฐานะผู้ดูแลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐดำเนินการพัฒนาผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในกลุ่มนี้ต่อไป 

แจงโปรฯ บัตรคนจน กดเงินสดได้ 3 เดือน 

สำหรับการเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อเป็นการเพิ่มทางเลือกและกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถนำเงินไปใช้จ่ายได้ตามความต้องการ ช่วยบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ และส่งเสริมให้เกิดการหมุนเวียนของระบบเศรษฐกิจ

กระทรวงการคลังจึงปรับเปลี่ยนการเติมเงินรายเดือนวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษาและวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าอื่น ๆ ตามที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด (วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นฯ) โดยแบ่งเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐส่วนหนึ่ง เฉพาะช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน 2562 (3 เดือน) โดยผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐสามารถถอนเงินสดผ่านตู้ ATM และสาขาของธนาคารกรุงไทยได้ 

ทั้งนี้ การแบ่งเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็นการช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการใช้จ่ายสำหรับผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เนื่องจากจะไม่มีการตัดวงเงินส่วนที่เหลือจากการใช้จ่ายในแต่ละเดือนในกรณีที่ใช้เงินไม่หมด ซึ่งต่างจากวงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นฯ ดังนั้น จะไม่ส่งผลกระทบต่อร้านธงฟ้าประชารัฐ หากผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้เงินจากกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่สะสมไว้ไปชำระค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นฯ จากร้านธงฟ้าประชารัฐ 

อีกทั้งผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐยังคงได้รับเงินชดเชยเป็นจำนวนเท่ากับจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้ชำระจากค่าซื้อสินค้าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็นฯ ที่ร้านธงฟ้าประชารัฐที่เข้าร่วมรายการ โดยจะคืนเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ของผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐในเดือนถัดไป ภายในกรอบไม่เกินรายละ 500 บาทต่อคนต่อเดือน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :