แต่ไม่ว่าสิ่งที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี พูดถึง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พี่ใหญ่ คสช. ทั้งเรื่อง ‘พูดจานุ่มนวลอ่อนหวาน’ หรือ ‘มาเกาะโต๊ะขอเป็น ผบ.ทบ. เลย’ จะเป็นจริงหรือไม่
สิ่งที่ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ก็คือเรื่องระบบอุปถัมภ์ในแวดวงราชการ และการวิ่งเต้นขอตำแหน่งที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะอ้างว่า คนๆ นี้ได้รับแต่งตั้ง เพราะ ‘ความรู้ความสามารถ’ หรือคนๆ นั้น ถูกย้ายออกจากตำแหน่ง เพราะปัญหาเรื่อง ‘ความเหมาะสม’ แต่คนที่เป็นข้าราชการนั่นแหล่ะ รู้ดีที่สุดว่า เรื่องคอนเน็กชั่นและเส้นสายมีความสำคัญต่อการเติบโตในหน้าที่การงานแค่ไหน
กระทั่งหน่วยงานที่ว่ากันว่า มีวัฒนธรรมประเพณีของตัวเอง เป็น ‘เขตทหาร(คนนอก)ห้ามเข้า’ อย่างกระทรวงกลาโหม ก็ไม่น่าจะเป็นข้อยกเว้น
ก่อนหน้านี้ เป็นเวลาหลายสิบปี ที่การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร นอกเหนือจากผู้เกี่ยวข้องร่วมกันพิจารณา ยังจะมีการนำโผ ทั้งกลางปี (ช่วงเดือน เม.ย.) และปลายปี (ช่วงเดือน ก.ย.) ไปให้ ‘ผู้มีบารมี’ นอกรัฐบาลและนอกกองทัพช่วยตรวจสอบ ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนเพื่อแต่งตั้งต่อไป
ทว่านับแต่มีพรรคการเมืองหนึ่งชนะเลือกตั้งอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ในปี 2544 วัฒนธรรมเหล่านี้ก็เปลี่ยนไป นายกรัฐมนตรีกลายเป็น ‘ผู้มีอำนาจสูงสุด’ จริงๆ ในการพิจารณาโผแต่งตั้งโยกย้ายนายทหาร ส่วนจะมีเหตุการณ์ ‘เกาะโต๊ะขอตำแหน่ง’ หรือไม่ อันนี้ ไม่อาจจะทราบได้
โดยรายชื่อ ผบ.ทบ. ที่ได้รับแต่งตั้งในช่วงเวลานั้น ประกอบด้วย
- พล.อ.สมทัต อัตตะนันทน์ (ระหว่างปี 2545-2546)
- พล.อ.ชัยสิทธิ์ ชินวัตร (ระหว่างปี 2546-2547)
- พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ (ระหว่างปี 2547-2548)
- พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน (ระหว่างปี 2548-2550)
แต่ ‘วัฒนธรรมใหม่’ ดังกล่าว ก็เป็นอยู่แค่ในช่วงเวลาสั้นๆ และสิ้นสุดลง เมื่อกองทัพขนรถถังออกมาทำรัฐประหารในปี 2549 พร้อมกับออกกฎหมายฉบับหนึ่งขึ้นมาใช้บังคับ ที่ทำให้อำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับสูง แทบจะเป็นเรื่องของทหารด้วยกันเอง คนจากรัฐบาลมีสิทธิ์มีเสียงน้อยมากๆ
นั่นคือ พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2551
ที่สาระสำคัญ อยู่ในมาตรา 25 ที่กำหนดว่า การแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารระดับนายพลขึ้นไป จะต้องทำผ่านคณะกรรมการที่มี ผบ.เหล่าทัพและปลัดกระทรวงกลาโหมเป็นเสียงส่วนใหญ่ (5 เสียง) และมีคนจากรัฐบาล ไม่ว่าจะ รมว.กลาโหม หรือ รมช.กลาโหม เป็นเสียงส่วนน้อย (1-2 เสียง ขึ้นอยู่กับว่าจะมีการตั้ง รมช.กลาโหม หรือไม่)
พล.อ.บุญรอด สมทัศน์ รมว.กลาโหมในยุคที่มีการออกกฎหมายฉบับนี้ อ้างว่า “เราไม่ได้ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อให้กองทัพซึ่งเป็นสถาบัน อยู่ได้อย่างที่ไม่ถูกการเมืองแทรกแซง ทุกอย่างต้องทำให้เกิดความยุติธรรม ถ้ายุติธรรม โปร่งใส ทุกอย่างก็เป็นปกติ กฎหมายก็ทำอะไรไม่ได้”
ในปี 2559 ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้ลงมติถอดถอน พล.อ.อ.สุกำพล สุวรรณทัต อดีต รมว.กลาโหม ตามที่ ป.ป.ช.เสนอมา ด้วยมติ 159:27 เสียง ทำให้เจ้าตัวถูกตัดสิทธิที่จะดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลาห้าปี ด้วยข้อหา ‘ไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.จัดระเบียบราชการกระทรวงกลาโหมฯ’ หลังจากพยายามเสนอรายชื่อบุคคลที่สมควรได้รับแต่งตั้งให้เป็นปลัดกระทรวงกลาโหม ในปี 2555
ก่อนการลงมติดังกล่าว สุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. ได้แถลงต่อ สนช.ว่า “พล.อ.อ.สุกำพลได้เข้าไปแทรกแซงรั้วของชาติ ทำระบบราชการเสียหาย ฝ่ายการเมืองจะแทรกแซงไม่จบไม่สิ้น ราชการต้องวิ่งหาเพื่อตำแหน่ง ทำรัฐธรรมนูญหมดความศักดิ์สิทธิ์ กระทรวงกลาโหมมีหน้าที่พิทักษ์รักษาเอกราชและความมั่นคงของชาติ หากให้การเมืองเข้ามาดำเนินการบังคับบัญชาจะอ่อนแอ แตกความสามัคคีในคณะทหาร”
เมื่ออำนาจในการแต่งตั้งโยกย้ายนายทหารยศนายพลขึ้นไป ไม่ได้อยู่ในมือฝ่ายการเมือง ไม่ว่าจะ รมว.กลาโหม หรือนายกฯ อีกต่อไป
จึงไม่มีความจำเป็นที่ผู้ต้องการตำแหน่งใดๆ จะเข้าไปเกาะโต๊ะ - พูดจาอ่อนหวาน กับผู้ที่ไม่มีอำนาจแต่งตั้ง จริงไหม?
นี่เป็นมรดกจากการรัฐประหาร ปี 2549 ที่ทำให้กระทรวงกลาโหม และกองทัพ เป็นเรื่องของ ‘ทหาร’ ล้วนๆ
ทั้งที่ ค่าตอบแทนต่างๆ และงบประมาณที่เหล่าคนในเครื่องแบบใช้ ก็มาจากภาษีของประชาชน
ทั้งที่ รัฐบาลพลเรือนที่มาการเลือกตั้ง ก็เป็นตัวแทนของประชาชน ที่เลือกให้เข้ามาบริหารประเทศ
ก่อนหน้านี้ ใครมีโอกาสเข้าหาใกล้ชิดกับนายกฯ อาจจะได้รับการพิจารณาเป็นพิเศษ แต่หลังจากปี 2551 เป็นต้นมา คนที่มีอำนาจพิจารณาโผแต่งตั้งโยกย้ายตัวจริง ไม่ใช่ตัวผู้นำของรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว
เคยมีความพยายามในการเสนอแก้กฎหมายที่ว่าเหมือนกัน แต่ท้ายที่สุดก็ล่าถอยไป ทั้งเกรงกลัวที่จะท้าชนกับสถาบันที่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ครบมือ และจากข้อจำกัดที่ว่า ถ้าจะแก้กฎหมายนี้จะต้องให้ ‘สภากลาโหม’ ที่มีแต่ทหารทั้งนั้น เห็นชอบด้วย
เรื่อง ‘เกาะโต๊ะ’ พูดจาอ่อนหวานกับนายกฯ ที่ว่า จึงเป็นเพียงนิทานเรื่องเก่า ที่เอาไว้พูดถึงกันสนุกๆ แต่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในยุคสมัยนี้
ถ้าจะปฏิรูปกองทัพไทย ให้เป็นทหารอาชีพตามแบบสากลและยึดโยงกับประชาชนอย่างแท้จริง การแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบกระทรวงกลาโหมฯ แทบจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลย
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง