นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้จัดประชุมหารือแนวทางการจำหน่ายสินค้าเพื่อรองรับผลจากการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ โดยในวันนี้ (24 มกราคม) ได้เชิญผู้ผลิตสินค้าทุกกลุ่มอุตสาหกรรม และห้างค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่รายใหญ่มาประชุมหารือ ซึ่งประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมอื่นๆ 12 สมาคม
โดยในที่ประชุมกระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือผู้ผลิต ผู้จำหน่าย สินค้าอุปโภคบริโภคจำหน่ายสินค้าในราคาเดิมและไม่มีการฉวยโอกาสปรับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภค และหากมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นและจำเป็นต้องปรับราคาสินค้าให้แจ้งกรมการค้าภายใน ซึ่งจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป
รวมทั้งขอความร่วมมือจากห้างค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ (modern trade) ไม่ให้ปรับราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น รวมถึงไม่ปรับราคาอาหารปรุงสำเร็จในศูนย์อาหารเช่นกัน และหากมีผู้ผลิตผู้จำหน่ายรายใดปรับราคาสินค้าขอให้แจ้งกรมการค้าภายในทราบก่อน อีกด้านหนึ่ง ได้ขอความร่วมมือจากสมาคมตลาดสดไทย กำกับดูแลราคาสินค้าในตลาดสดและราคาอาหารปรุงสำเร็จ ไม่ให้มีการฉวยโอกาสปรับราคาจำหน่ายสูงขึ้นเช่นกัน
นอกจากนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในตรวจสอบต้นทุนการผลิตสินค้าทุกชนิด และจัดส่งเจ้าหน้าที่ตรวจสอบราคาสินค้าอย่างเข้มงวดทุกช่วงการค้า ตั้งแต่ราคา ณ โรงงาน ราคาจำหน่ายส่ง และราคาจำหน่ายปลีก ทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคทั่วประเทศอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการฉวยโอกาสขึ้นราคาสินค้า
พร้อมกับแจ้งว่า หากประชาชนพบว่ามีการปรับราคาสูงขึ้นสามารถร้องเรียนได้ทางสายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ซึ่งกรมการค้าภายในจะดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 อย่างเคร่งครัด โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
"จากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเพิ่มขึ้น วันละ 5-22 บาททั่วประเทศ เฉลี่ยปรับเพิ่มวันละ 10.50 บาท ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 ได้มอบหมายให้กรมการค้าภายในศึกษาผลกระทบ พบว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำดังกล่าว มีผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้าน้อยเพียง 0.0182 – 1.0225% เนื่องจากสินค้าอุปโภคบริโภคส่วนใหญ่ใช้เครื่องจักรในการผลิต และมีสินค้าบางรายการที่ได้รับผลกระทบโดยตรงเนื่องจากใช้แรงงานในการผลิต เช่น สินค้าเครื่องแบบนักเรียน"นายสนธิรัตน์กล่าว
ทั้งนี้ 12 สมาคมที่เข้าร่วมประชุมหารือ ได้แก่ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย, สมาคมการค้าส่ง–ปลีกไทย, สมาคมตลาดสดไทย, สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป, สมาคมโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม, สมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย, สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย, สมาคมผู้ผลิตสบู่ไทย, ผลิตภัณฑ์ในบ้านเรือนและส่วนบุคคล, สมาคมอารักขาพืชไทย (ยาป้องกันและกำจัดศัตรูพืช), สมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร, สมาคมการค้าปุ๋ยและธุรกิจการเกษตรไทย, สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย, และผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค กว่า 100 ราย
ครอบคลุุมทั้งหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ของใช้ประจำวัน วัสดุก่อสร้าง ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม บริภัณฑ์ขนส่ง และปัจจัยการเกษตร รวมทั้ง ห้างค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ รวม 13 ราย