นับตั้งแต่สหรัฐฯเข้าสู่ภาวะชัตดาวน์หรือแช่แข็งประเทศเมื่อเที่ยงคืนวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา หรือเที่ยงวันที่ 20 มกราคมตามเวลาประเทศไทย นักการเมืองรีพับลิกันและเดโมแครตต่างก็โทษกันเองว่าเป็นต้นเหตุของวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ โดยฝ่ายรีพับลิกันโทษว่าวุฒิสมาชิกเดโมแครต ซึ่งเป็นผู้รวมตัวไม่โหวตอนุมัติร่างงบประมาณปี 2018 ของรัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เป็นต้นเหตุของปัญหา ทำให้หน่วยงานราชการเกือบทั้งประเทศต้องปิดให้บริการชั่วคราวเนื่องจากไม่มีงบประมาณ
ด้านนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ซึ่งมีกำหนดการจะฉลองวาระครบรอบ 1 ปีการขึ้นสู่ตำแหน่งของเขาที่รีสอร์ทส่วนตัวในมาร์อาลาร์โก ฟลอริดา แต่กลับต้องอยู่ที่ทำเนียบขาวเพื่อคลี่คลายสถานการณ์แช่แข็งประเทศ กล่าวว่าจริงๆแล้วไม่ควรมีการชัทดาวน์เกิดขึ้น แต่เหตุการณ์ดำเนินมาถึงขนาดนี้เพราะพรรคเดโมแครต และเขายังย้ำด้วยว่าสุดท้าย ชัยชนะจะต้องตกเป็นของพรรครีพับลิกันอีกครั้ง
แนนซี เพโลซี ผู้นำเสียงข้างน้อยในสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ แถลงข่าวกรณีชัตดาวน์ประเทศ โดยนำข้อความจากทวิตเตอร์ของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาประกอบ ข้อความดังกล่าวเป็นสิ่งที่นายทรัมป์ทวีตตั้งแต่ปี 2017 บอกว่าประเทศต้องการการชัตดาวน์เพื่อแก้ไขเรื่องยุ่งๆทั้งหลาย
อย่างไรก็ตาม นายชัค ชูเมอร์ ผู้นำเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา จากพรรคเดโมแครต ยืนยันว่าสถานการณ์เดินทางมาถึงทางตันเพราะนายทรัมป์ไม่มีความสามารถในด้านการเจรจาต่อรองอย่างสิ้นเชิง และตกอยู่ใต้อิทธิพลของสมาชิกรีพับลิกัน รวมถึงเจ้าหน้าที่ทำเนียบขาวกลุ่มฮาร์ดคอร์และสื่อสายอนุรักษ์นิยม
ส่วนนายมิช แม็คคอร์เนล ผู้นำเสียงข้างมากในวุฒิสมาชิกจากพรรครีพับลิกัน ยืนยันว่าทุกคนต้องเร่งยุติความโง่เขลาในครั้งนี้ ซึ่งกำลังส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันนับล้านๆคนที่ไม่ได้มีส่วนรู้เห็นอะไรด้วย นายแม็คคอร์เนลยังยืนยันด้วยว่าวุฒิสภาจะพิจารณาร่างงบประมาณชั่วคราวระยะ 3 สัปดาห์ ในคืนวันจันทร์ที่จะถึงนี้ (22 มกราคม) เพื่อเป็นมาตรการแก้ขัดในขณะที่ส.ว.ยังยังไม่สามารถลงความเห็นผ่านร่างงบประมาณฉบับทางการได้
ผู้สื่อข่าวที่กรุงวอชิงตันรายงานว่าจนถึงขณะนี้ นายแม็คคอร์เนลและนายชูเมอร์ ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญที่จะต้องเจรจากันเพื่อผ่านร่างงบประมาณให้ได้ ยังไม่ได้พบปะพูดคุยใดๆกันเลยตั้งแต่ในช่วงเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา และก้ไม่มีสมาชิกอาวุโสของพรรคเดโมแครตคนใดติดต่อกับทำเนียบขาว หมายความว่าตอนนี้ทุกฝ่ายยังไม่ได้เริ่มการเจรจา และรอให้แต่ละฝ่ายเคลื่อนไหวก่อน ซึ่งเท่ากับว่ายังไม่มีแนวโน้มว่าการแช่แข็งประเทศในครั้งนี้จะคลี่คลายได้โดยง่าย
การแช่แข็งประเทศ รวมถึงการปิดบริการเข้าชมเทพีเสรีภาพและพิพิธภัณฑ์บนเกาะเอลลิสในนครนิวยอร์กด้วย
วิกฤตการณ์ชัตดาวน์ประเทศเกิดขึ้นครั้งล่าสุดในสหรัฐฯในสมัยของนายบารัก โอบามา เมื่อปี 2013 ครั้งนั้นรัฐบาลใช้เวลา 16 วันในการผ่าทางตันด้านนิติบัญญัติ แต่ครั้งนี้ ประเด็นสำคัญในการเจรจาต่อรองคือการที่ฝ่ายเดโมแครตต้องการให้คงนโยบายช่วยเหลือผู้อพยพวัยเยาว์ หรือ DACA ที่จะทำให้ผู้อพยพเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายตอนเป็นเด็กกว่า 800,000 คน อาศัยและทำงานในสหรัฐฯได้ต่อไป ขณะที่ฝั่งรีพับลิกันต้องการเพิ่มงบกลาโหมและงบสำหรับสร้างกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโก
การที่รัฐบาลสหรัฐฯถูกแช่แข็งจะทำให้หน่วยงานรัฐหลายแห่งต้องปิดทำการ แต่หน่วยงานที่ให้บริการด้านพื้นฐานกับประชาชน เช่น การไฟฟ้า ไปรษณีย์ โรงพยาบาล เรือนจำ และหน่วยงานด้านความมั่นคง ยังคงทำการตามปกติ แต่หน่วยงานอื่นๆ ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของประชาชนโดยตรง เช่น สวนสาธารณะ และอุทยานแห่งชาติทั่วสหรัฐฯ อาจต้องปิดให้บริการ
นอกจากนี้ การออกหนังสือเดินทางให้กับชาวอเมริกัน และการออกวีซาให้ชาวต่างชาติอาจเกิดความล่าช้าในช่วงแช่แข็ง คาดว่าจะมีเจ้าหน้าที่รัฐประมาณ 850,000 คน จากทั้งหมด 3 ล้าน 5 แสนคน ที่ต้องหยุดทำงานโดยไม่มีกำหนดและไม่ได้รับค่าตอบแทน