ไม่พบผลการค้นหา
ผลสำรวจเรื่องความรุนแรงในครอบครัวไทยต่อผู้หญิงและบุคคล พบว่า ความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวมีสัดส่วนความชุกร้อยละ 34.6 และร้อยละ 74.3 เลือกใช้ความอดทนในการแก้ปัญหา เพราะคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ ประธานคณะกรรมการส่งเสริมและพัฒนาครอบครัว หรือ กสค. กล่าวในการแถลงข่าว "ความตระหนักรู้ของสังคมไทยต่อพิษภัยความรุนแรงในครอบครัว" เนื่องในเดือนยุติความรุนแรงต่อเด็กและสตรี ว่า คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. สำรวจระดับประเทศปี 2560 เรื่องความรุนแรงในครอบครัวไทยต่อผู้หญิงและบุคคล จากกลุ่มตัวอย่าง 2,280 ครัวเรือน พบว่าความรุนแรงต่อผู้หญิงและบุคคลในครอบครัวมีสัดส่วนความชุกถึงร้อยละ 34.6 โดยพบภาคใต้มีความชุกความรุนแรงมากที่สุดเมื่อเทียบกับภูมิภาคอื่นๆ 

ทั้งนี้ แบ่งเป็นความรุนแรงทางด้านจิตใจมากที่สุดถึงร้อยละ 32.3 ความรุนแรงทางร่างกายร้อยละ 10 และความรุนแรงทางเพศร้อยละ 5 โดยความรุนแรงทางเพศพบถึงร้อยละ 93 เป็นลักษณะการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่เต็มใจหรือข่มขืน และผู้กระทำส่วนใหญ่เป็นบุคคลในครอบครัว

ศ.นพ.รณชัย กล่าวอีกว่า ในส่วนของการรับรู้และการจัดการและการแก้ไขปัญหาความรุนแรง ร้อยละ 64.4 รับทราบถึงการมี พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ถูกกระทำความรุนแรงในครอบครัวฯ แต่ร้อยละ 74.3 เลือกใช้ความอดทนในการแก้ปัญหาเป็นหลัก เพราะคิดว่าเป็นเรื่องส่วนตัว มีเพียงร้อยละ 17 เท่านั้นที่ขอความช่วยเหลือ โดยส่วนใหญ่ขอความช่วยเหลือจากญาติพี่น้องมากที่สุด รองลงมาเป็นเพื่อน ขณะที่การขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ มีเพียงร้อยละ 16.8

นายเลิศปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว หรือ สค. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า สค.พยายามรณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการเพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาการกระทำความรุนแรงในครอบครัวระดับตำบล หรือ ศปก.ต. เพื่อให้คนในชุมชนดูแลกันเอง ให้ความรู้สร้างความเข้าใจเพื่อป้องกันปัญหาตั้งแต่ต้นทาง เบื้องต้นจัดทำไปแล้ว 42 พื้นที่ใน 21 จังหวัด นอกจากนี้ จะมีการเปิดตัวรณรงค์ยุติความรุนแรงในสังคมทุก รูปแบบ ในวันที่ 23 พ.ย. ที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานเปิดงาน