หลังจากจัดแสดงนิทรรศการหลากหลาย และได้รับผลตอบรับดีพอสมควรในกรุงเทพฯ ก้าวถัดไปของ ‘สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ’ (National Discovery Museum Institute - NDMI) หรืออีกชื่อหนึ่งว่า ‘มิวเซียมสยาม’ (Museum Siam) คือการขยายความรู้การจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ระดับสากลสู่จังหวัดอื่นๆ เพื่อสร้างโอกาสให้คนในพื้นที่นั้นๆ เข้าถึงนิทรรศการที่เปี่ยมด้วยสาระความรู้ ความสวยงาม และความสนุกสนาน
ล่าสุด นิทรรศการนอกกรุงเทพฯ ซึ่งมิวเซียมสยามเข้าไปช่วยพัฒนาคือ ‘นิทานจักรวาล’ เล่าเรื่อง ‘คติไตรภูมิ’ หรือ ‘คติ 3 โลก’ ตามความเชื่อศาสนาพุทธ และฮินดู ผ่านรูปแบบการเล่านิทาน ให้เด็กๆ ร้อยเอ็ด มีโอกาสเข้าชม ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด
ด้วยรูปแบบ ‘ดิสคัฟเวอรี มิวเซียม’ (Discovery Museum) หรือพิพิธภัณฑ์เพื่อการเรียนรู้ ที่ไม่ได้มีแค่การอ่านตัวหนังสือบนป้าย หรือชมภาพ และวัตถุเท่านั้น แต่มีการจำลองเรื่องราวด้วยโมเดลที่หมุนได้ พร้อมโมชันกราฟิกสีสวยงาม
ทำให้การเล่าเรื่อง ไตรภูมิ 3 โลก คติชนตามศาสนาที่มนุษย์ต้องเวียนว่ายตายเกิดไปเรื่อยๆ จนกว่าจะสำเร็จนิพพาน ซึ่งเป็นเรื่องราวทางความเชื่อที่เข้าใจยาก กลับดูง่ายขึ้นมากๆ และเหมาะสำหรับเยาวชนในการทำความเข้าใจ
“ในจักรวาลอันไกลโพ้น มีดินแดนอยู่ 3 แห่ง
แดนหนึ่งซึ่งเป็นที่อยู่ของ มนุษย์ เทวดา และปีศาจร้ายต่างๆ
แดนหนึ่งเป็นที่อยู่ของ พระพรหม มีตัว มีตน เรียกว่าพรหมโลก
แดนหนึ่งเป็นของ พระพรหมอีกรูปแบบ ไร้รูป ไร้ร่าง
เป็นแต่ดวงจิตล่องลอยไปมา
ดินแดนทั้ง 3 เรียกขานกันว่า ไตรภูมิ”
‘ปรมินทร์ เครือทอง’ ที่ปรึกษาของมิวเซียมสยาม และภัณฑารักษ์ เบื้องหลังนิทรรศกาลนิทานจักรวาล เปิดเผยว่า การจัดนิทรรศการครั้งนี้ ได้แรงบันดาลใจมาจากความต้องการนำ ‘วัฒนธรรม’ เข้าไปจัดแสดงในศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด เนื่องจาก 90 เปอร์เซ็นต์ ของงานจัดแสดงที่นี่เป็นงานด้านวิทยาศาสตร์
ขณะที่ส่วนตัวตนเป็นคนสนใจในเรื่องเชิงศาสนา และประวัติศาสตร์อยู่แล้ว โดยเรื่องไตรภูมิเป็นเรื่องราวเกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คนในหลากมิติ และมีประเด็นของสุริยะจักรวาลในเรื่องราว กล่าวได้ว่า โลกไตรภูมิก็คือ ‘ดาราศาสตร์แบบไทยๆ’ ก็ไม่ผิดนัก
“จริงๆ เรื่องนี้ (ไตรภูมิ) เป็นเรื่องยากนะครับสำหรับคนที่อ่านต้นฉบับ ดังนั้นวิธีที่เราจะทำให้เด็กเข้าใจคือ เราใช้เรื่องของเรื่องเล่า ความเป็นนิทานทำให้ง่ายลง และทุกอย่างจะถูกแสดงผ่านสัญลักษณ์ต่างๆ ลดทอนความน่ากลัว เราแทบจะไม่พูดเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ หนักหนา จะไม่พูดเรื่องการลงโทษในนรกมากมาย ใช้ภาพและการเล่าเรื่องทำให้มันง่ายขึ้น” ปรมินทร์ เล่าไอเดียการทำงานให้ฟัง
นอกจากนี้ อีกหนึ่งพิพิธภัณฑ์ภายใต้ความร่วมมือของมิวเซียมสยามที่มีความน่าสนใจคือ ‘พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร’ จังหวัดนราธิวาส ซึ่งใกล้จะเปิดตัวเร็วๆ นี้
ความพิเศษคือ การใช้เทคโนโลยีเข้าไปเปลี่ยนโฉม ให้คนเข้าถึงได้ไม่ว่าอยู่ที่ขอบมุมไหนของโลก โดยมิวเซียมสยามได้ภัณฑารักษ์ฝีมือดีอย่าง ‘อาจารย์จูน– ปริยากร ปุสวิโร’ อาจารย์จากภาควิชาวิศวกรรมศาสตร์คอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เข้ามาช่วยวางระบบต่างๆ ให้เรื่องเล่าของชุมชน เล่าผ่านเทคโนโลยีได้ ไม่ว่าจะอยู่ใกล้หรือไกล
พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นขุนละหาร ตั้งอยู่ในอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส เดิมเป็นบ้านพักของผู้ใหญ่บ้าน ‘รัศมินทร์ นิติธรรม’ และครอบครัว แต่ด้วยความที่ผู้ใหญ่บ้านอยากจะรักษาประวัติศาตร์มลายูให้กับคนรุ่นหลัง จึงได้ยกส่วนหนึ่งของบ้าน และของสะสมเก่าเก็บของตนที่มีความเกี่ยวข้องกับชาวนราธิวาส มาให้ทางมิวเซียมสยามจัดแสดง ไม่ให้เลือนหายไปตามกาลเวลา
อาจารย์จูน ผู้เคยทำงานด้านการใช้เทคโนโลยีช่วยในการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ สั่งสมประสบการณ์กว่า 10 ปีจากประเทศเยอรมนี ได้เข้ามาป็นส่วนหนึ่งของโปรเจ็กต์ขุนละหาร
“สิ่งที่ทำคือ ดิจิทัลทรานส์ฟอร์ม ซึ่งทำเพื่อให้อะไรมันดูง่ายขึ้น ที่ขุนละหารตอนแรกมันเป็นคอลเล็กชั่นส่วนตัว เป็นของสะสมของผู้ใหญ่ขุนละหาร ซึ่งมันเยอะมาก ทำยังไงเราจะเข้าใจวัตถุเหล่านั้นได้ เพราะฉะนั้นเราก็เอาคอนเซ็ปต์ของการใช้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์มมาเชื่อมโยงกับทฤษฎีการเรียนรู้ เอาเทคโนโลยีมาจับโดยไม่เชื่อมโยงกับโลเกชั่น” อาจารย์จูนอธิบายให้ฟังถึงเบื้องหลังการพัฒนาแอปฯ ขุนละหาร
ดังนั้น เธอจึงทำแอปพลิเคชันของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งสามารถแสกนภายในพิพิธภัณฑ์เพื่อดูข้อมูลเพิ่มเติมผ่านหน้าจอโทรศัพท์ มากไปกว่านั้น ผู้คนที่อยู่ไกลแต่อยากสัมผัสพิพิธภัณฑ์ซึ่งเต็มไปด้วยเรื่องราวของท้องถิ่น ก็สามารถใช้แอปฯแสกนลงในโบรชัวร์ จะทำให้เห็นภาพพิพิธภัณฑ์ในมุม 3 มิติ 360 องศา ราวกับได้เข้าชมด้วยตาตัวเอง นั่นคือคำอธิบายของคำว่าไม่ยึกติดกับโลเกชั่นอย่างแท้จริง
ความตั้งใจของทีมพัฒนาขุนละหาร คือการทำให้เด็กรุ่นใหม่หันมาสนใจการชมพิพิธภัณฑ์กันมากขึ้น เนื่องจากนราธิวาสเองเป็นพื้นที่ที่ห่างไกล กลุ่มเป้าหมายแรกที่อยากให้มาเข้าชม จึงเป็นกลุ่มของเยาวชนและโรงเรียน
“เราก็ดูคอนเซ็ปต์ของการเรียนรู้ของเด็กยุคมิลเลนเนียม ซึ่งเด็กยุคใหม่ไม่ค่อยมีใครอ่านเท็กซ์อีกต่อไปแล้ว ผู้ใหญ่ก็เริ่มไม่อ่านแล้ว เพราะฉะนั้นคนจะอ่านเท็กซ์สั้นๆ แต่เราก็ไม่ได้อยากให้คนอ่านเท็กซ์สั้น เราเลยคิดว่าคอนเทนต์ที่เราเก็บไว้ในโมบายแอปฯเนี่ย เขาก็อาจจะว่างๆ อ่านได้ หรือครูเองก็สามารถเข้าถึงเพื่อใช้ในการสอนได้”