ดังนั้นในที่นี้ผมจึงขออนุญาตถือวิสาสะ แบ่งยุคสมัยของโรงภาพยนตร์ในไทยออกเป็น 4 ยุค ดังนี้นะครับ
ยุคที่ 1 เริ่มตั้งแต่ในช่วงทศวรรษ พ.ศ. 2440 ตรงกับในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 5 คณะภาพยนตร์เร่ได้เริ่มบุกเบิกเข้ามาฉายภาพยนตร์ตามโรงแรม และโรงละครต่างๆ ในสยามประเทศ ปีละรายบ้าง สองรายบ้าง
พูดง่ายๆ ว่าคือยังไม่มีโรงภาพยนตร์ถาวร
แน่นอนว่าภาพยนตร์เหล่านี้ถูกฉายขึ้นบนผืนผ้าที่ถูกขึงให้ตึง ชาวสยามในยุคนั้นจึงเรียกกันตามเคยปากอย่างคำเรียกมหรสพพื้นเมืองที่มีมาก่อนว่า ‘โรงหนัง’ หมายถึงหนังใหญ่ และหนังตะลุง
และก็เป็นด้วยเหตุนี้เอง ที่ทำให้ตัวภาพยนตร์ก็พลอยได้รับอานิสงค์ให้เรียกกันอย่างสั้นๆ ว่า ‘หนัง’ ตามไปด้วย แถมยังใช้กันมาจนกระทั่งถึงทุกวันนี้แบบงงๆ เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ที่คนโบราณเรียกว่า ‘หนัง’ นั้น หมายถึงตัวหุ่นเชิดที่ทำมาจากหนังงัว หนังควายต่างหาก ไม่ใช่เจ้าผืนผ้านี่เสียหน่อย
ต่อในปี พ.ศ. 2445 ได้มีคณะภาพยนตร์เร่สัญชาติญี่ปุ่น เข้ามาตั้งกระโจมผ้าใบฉายภาพยนตร์อย่างเป็นกิจลักษณะ ที่บริเวณเวิ้งวัดชนะสงคราม (วัดตึก) ซึ่งก็ปรากฏว่าได้เสียงตอบรับเป็นอย่างดี และเมื่อเสียงตอบรับดี ทำอัฐเข้ากระเป๋าสตางค์นายทุนได้ดีตามมาด้วย
เมื่อเห็นช่องทางเปิดกว้าง ระดับชี้ช่องรวย อย่างนี้แล้ว พวกนายทุนชาวญี่ปุ่นจึงได้ตัดสินใจสร้างตึกสำหรับฉายภาพยนตร์มันเสียเลย และนี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวสู่ยุคสมัยที่ 2 ของโรงภาพยนตร์ในสยามนั่นเอง
ยุคที่ 2 เมื่อเกิดโรงภาพยนตร์ถาวร ที่ชาวบ้านในยุคนั้นเรียกกันเป็นภาษาปากว่า โรงหนังญี่ปุ่นแล้ว นายทุนชาวสยามเองก็เห็นช่องทางในการทำกำไรบ้าง
ในยุคนี้จึงมีการสร้างโรงภาพยนตร์กันขึ้นมากันให้เพียบ เช่น โรงหนังวังเจ้าปรีดา (เปิดให้บริการ พ.ศ. 2450) โรงหนังสามแยก (พ.ศ. 2451) โรงหนังรัตนปีระกา (พ.ศ. 2452) เป็นต้น
ในสมัยรัชกาลที่ 6 (ครองราชย์วันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2453) โรงภาพยนตร์ก็ค่อยขยับขยายไปตามตำบลสำคัญทั่วกรุงเทพฯ ในขณะนั้น ตัวอย่างเช่น โรงหนังปีนัง โรงหนังสิงคโปร์ โรงหนังสาธร โรงหนังบางลำพู โรงหนังนางเลิ้ง ฯลฯ จนกระทั่ง พ.ศ. 2463 บริษัทแม่ของโรงภาพยนตร์เหล่านี้ (ซึ่งที่จริงแล้วก็มีบริษัทใหญ่อยู่เพียงแค่สองเจ้าเท่านั้นแหละครับ) ได้รวมกิจการเข้าด้วยกัน จนทำให้เกือบจะเกิดการผูกขาดกิจการค้าภาพยนตร์ และโรงภาพยนตร์
สุดท้ายเจ้าบริษัทใหม่ใหญ่ยักษ์นี่ จึงค่อยดำเนินการ ‘กินรวบ’ ด้วยการขยายกิจการออกไปตั้งโรงภาพยนตร์ตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ
ความนิยมในการมหรสพอื่นๆ โดยเฉพาะละครเวทีที่เสื่อมถอยลง ยิ่งเป็นตัวเร่งกิจการค้าภาพยนตร์และโรงภาพยนตร์ให้บูมมากยิ่งขึ้น แต่ความรุ่งเรืองของประวัติศาสตร์การภาพยนตร์ในสยามประเทศยุคดังกล่าว ก็ไม่โรยไปด้วยกลีบกุหลาบมันไปเสียหมดหรอกนะครับ
ผลจากการที่เกิดอะไรที่เรียกกันในโลกภาษาอังกฤษว่า ‘The Great Depression’ ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าเกิดพายุเข้าถล่มโลกจริงๆ แต่เป็นคำเปรียบเปรยถึงสภาวการณ์ที่เศรษฐกิจทั่วโลกดำดิ่งเป็นอย่างมาก ในช่วงทศวรรษ 1920’s ซึ่งตรงกับราวๆ พ.ศ. 2463 ถึง 2472 และต่อเนื่องมาจนเกือบตลอดทศวรรษนั้น อันมีเหตุผลสำคัญอย่างหนึ่งมาจากผลพวงของพิษร้ายหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็ทำให้สยามประเทศเองก็ได้รับผลกระทบนั้นไปด้วย (ถึงแม้ว่า รัชกาลที่ 6 จะทรงประกาศให้สยามเข้าร่วมในมหาสงครามครั้งนั้นเอาก็เมื่อสงครามใกล้จะจบแล้วก็เถอะ)
และก็แน่นอนว่า อะไรที่เรียกว่า The Great Depression ก็ได้พัดถล่มจนทำเอากิจการภาพยนตร์ในสยามก็ตกต่ำลงไปด้วยเต็มๆ
น่าแปลกดีที่ช่วงเวลานี้กลับตรงกับช่วงฉลองพระนคร 150 ปี ในปี พ.ศ. 2475 ซึ่งตรงกับยุครัชกาลที่ 7 อย่างพอดิบพอดี ซึ่งในโกาสนั้นพระองค์ก็ได้โปรดให้สร้างโรงภาพยนตร์เฉลิมกรุง ขึ้นเพื่อเป็นศรีสง่าแห่งพระนคร และเป็นที่ระลึกในวาระโอกาสนี้ (ก็สร้างเพื่อ ‘เฉลิมกรุง’ ตรงตัวตามชื่อโรงหนังนั่นแหละ)
‘เฉลิมกรุง’ จึงเป็นโรงภาพยนตร์ระดับไฮเอนด์ของประเทศในยุคนั้น นอกเหนือจากความใหญ่โตโอ่อ่าแล้ว เทคโนโลยีอย่างหนึ่งที่ต้องมาเพื่อให้เหมาะสมกับที่เป็น ‘ศรีสง่าแห่งพระนคร’ ก็คือ การเป็นโรงภาพยนตร์ที่สามารถฉายภาพยนตร์ที่มีเสียงได้ นอกเหนือจากที่ เฉลิมกรุง จะเป็นตัวอย่างสำคัญของโรงภาพยนตร์ในยุคนี้ จึงยังเป็นมาตรฐานสำคัญสำหรับการสร้างโรงภาพยนตร์ในยุคต่อมาด้วย
ยุคที่ 3 เป็นกลุ่มโรงภาพยนตร์ที่สร้างขึ้นในช่วงระหว่าง พ.ศ. 2490-2530 ซึ่งนับเป็นยุคคลาสลิคของโรงภาพยนตร์ในไทย โรงภาพยนตร์ในยุคนี้มักเป็นโรงภาพยนตร์เดี่ยว (stand alone) หลายแห่งมีขนาดใหญ่โตจนมีที่นั่งถึง 800-1500 ที่นั่ง และมักจะกระจายตัวอยู่ตามย่านสำคัญของกรุงเทพฯ จนทำให้หลายย่านมีโรงภาพยนตร์หลายแห่งตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน
ช่วงต้นๆ ของยุคนี้ตรงกับช่วงที่เรียกว่า ‘โก๋หลังวัง’ เราจะเห็นโรงภาพยนตร์อย่าง โรงหนังควีน โรงหนังคิงส์ และโรงหนังแกรนด์ ในย่านวังบูรพา ในขณะที่ต่อมาใน ‘ยุค 60’s-70’s’ ศูนย์กลางแฟชั่นและความทันสมัยย้ายไปอยู่ที่ละแวกสยามสแควร์ เราก็จะเห็นทั้งโรงหนังสยาม โรงหนังลิโด โรงหนังสกาลา รวมไปถึงโรงหนังแม็คเคนน่า และเอเธน ที่วางตัวอยู่ไม่ห่างไปมากนัก
และถ้าจะพูดกันจนถึงที่สุดแล้ว โรงหนังสยามถูกสร้างขึ้น ตั้งแต่ช่วงเวลาพื้นที่แถบนั้นยังไม่เป็นศูนย์กลางความทันสมัยเลยนะครับ
เพราะดูเหมือนว่าความทันสมัยจะมาล้อมรอบโรงหนังสยาม จนทำให้มีการสร้างโรงหนังลิโด และสกาลา ขึ้นตามมาตามลำดับเสียมากกว่า ช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็นทั้งยุคทองในแง่ของธุรกิจ และคลาสสิกในแง่ของความทรงจำของธุรกิจโรงภาพยนตร์เลยทีเดียว
ดังนั้น ถึงจะน่าเสียดายว่า ‘โรงหนังสยาม’ ไฟไหม้ไปโดยจับมือใครดมไม่ได้ แถมยังสาดโคลนกันไปมาว่า ฝ่ายไหนกันแน่ที่ลงมือเผา ในระหว่างเหตุการณ์โศกนาฏกรรมที่สำคัญที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศไทย เมื่อ พ.ศ. 2553 แต่อย่างน้อยเราก็ยังมีทั้ง ลิโด และสกาลา เหลืออยู่
ในท้ายที่สุด เมื่อยุคสมัยหนึ่งต้องเคลื่อนผ่านไปสู่อีกยุคสมัยหนึ่ง การเกิดขึ้นของห้างสรรพสินค้าที่เป็นคอมเพล็กซ์ขนาดใหญ่ และมหึมาขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ในช่วงประมาณทศวรรษ พ.ศ.2530 ได้รวบเอาโรงภาพยนตร์ไปอยู่ในห้างฯ ที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำและมีภาพยนตร์ให้เลือกหลายเรื่อง และหลายรอบมากกว่าที่เคยเป็นมา ประวัติศาสตร์ของโรงภาพยนตร์ไทย ได้เข้าสู่ยุคสมัยที่ 4 และยังคงดำรงมาจนกระทั่งปัจจุบัน พร้อมๆ กับการล้มหายตายจากไปของโรงภาพยนตร์แบบ stand alone ในยุคที่ 3 ทีละหลัง และทีละหลัง
สกาลา ดูจะเป็นโรงภาพยนตร์แห่งเดียวที่ยังมีชีวิต (แม้ลมหายใจจะรวยรินไปมากก็ตาม) ในกรุงเทพฯ (และอาจจะในประเทศไทยด้วย) ที่ตกค้างมาจากยุคสมัยคลาสสิกของโรงภาพยนตร์ไทย ที่คงสภาพแบบดั้งเดิมที่สุด และสวยงามด้วยรูปแบบและโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่สุด วิธีการซื้อตั๋วหนังแบบเดิม เครื่องดื่มและของขบเคี้ยวแบบที่หลุดมาจากยุค 70’s ยังคงเห็นได้แม้กระทั่งทุกวันนี้
ข่าวคราวที่เวียนมารายปี จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง แต่ชวนให้เสียวไส้อยู่เสมอสำหรับทั้งคนรักหนัง และคนรักประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และอะไรต่อมิอะไรอีกหลายๆ นัก ก็คือการที่ป้อมปราการด่านสุดท้าย ของยุคเรืองรองของโรงภาพยนตร์ไทย อย่างโรงภาพยนตร์สกาลา กำลังจะหมดสัญญาเช่าที่ดินฉบับเดิมที่ทำอยู่กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (เช่นเดียวกับที่กำลังเป็นข่าวในเวลานี้อีกหน)
และมันคงจะเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมากๆ นะครับ ถ้าจะไม่มีการต่อสัญญาฉบับต่อไปอีก เพราะ จะกลายเป็นเพียงแค่อดีตที่ไม่อาจหวนคืนมา
คำถามที่สำคัญก็คือ ทำไมสถาบันการศึกษา ระดับที่เรียกตัวเองว่า ‘เสาหลักของแผ่นดิน’ อย่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงไม่ส่งเสริมโรงภาพยนตร์สกาล่า ให้เกิดคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และสังคมวัฒนธรรม มากยิ่งขึ้นไม่่ว่า ด้วยการสร้างเป็น ‘มิวเซียม’ ซึ่งอาจจะนำเสนอทั้งในแง่ที่เป็นมิวเซียมภาพยนตร์ และโรงภาพยนตร์ของไทย ควบคู่ไปกับการเป็นมิวเซียมแสดงประวัติ และพัฒนาการของพื้นที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ อย่างสยามสแควร์ และอีกสารพัดไอเดีย ควบคู่ไปกับการเปิดฉายภาพยนตร์ต่อไป ซึ่งก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องยุ่งยาก
เว้นก็แต่ผู้มีอำนาจจะเห็นว่ารายได้ เงินทอง หรือผลกำไรนั้นสำคัญยิ่งกว่า คุณค่าทางประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งการศึกษา