ที่ประชุมใหญ่พรรคพลังธรรมใหม่ โดยมีสมาชิกมา 642 คน ลงมติเลือก นพ.ระวี มาศฉมาดล เป็นหัวหน้าพรรค, นพ.นิทัศน์ รายยวา อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นเลขาธิการพรรค, นายอำนวย อินทสร อดีตแกนนำกองทัพประชาชนและเครือข่ายปฏิรูปพลังงานไทย (กคป.) เป็นเหรัญญิกพรรค และนายสามนต์ สังข์ทอง เป็นนายทะเบียนพรรค
นอกจากนี้ยังมีการรับรองรายชื่อคณะกรรมการบริหารพรรครวม 32 คน อาทิ ม.ล.กรกสิวัฒน์ เกษมศรี ผอ.ศูนย์วิจัยนโยบายพลังงานและทรัพยากร มหาวิทยาลัยรังสิต, นายวิชิต แย้มบุญเรือง อดีตนักฟุตบอลทีมชาติไทย, นายคมกฤช รัตนเสถียร, นพ.พรณรงค์ พัฒนาบุญไพบูลย์ อดีตคณะกรรมการบริหารพรรคพลังธรรม, นายทศพล แก้วทิมา แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.), นายวีรพจน์ ลือประสิทธิ์สกุล อดีตผู้สมัคร ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังธรรม และนายชัชวาลย์ ชมภูแดง อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นที่ปรึกษาพรรค เป็นต้น
หลังจากนั้นได้มีการลงมติเลือกคณะกรรมการธรรมาภิบาลของพรรคจำนวน 5 คน ที่จะทำหน้าที่ป้องกันและตรวจสอบการทุจริตของนักการเมืองของพรรค หัวหน้าพรรค และสมาชิกพรรคทั่วประเทศ รวมทั้งแก้ไขความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในพรรคด้วย โดยมีนายนาม ยิ้มแย้ม อดีตประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เป็นประธานคณะกรรมการฯ อีกทั้งยังมีการร่างข้อบังคับพรรค นโยบายพรรค และอุดมการณ์การทางการเมืองของพรรค
ทั้งนี้ นพ.ระวี มาศฉมาดล หัวหน้าพรรคพลังธรรมใหม่ กล่าวภายหลังการประชุมพรรคว่า แม้พรรคจะมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง อดีตหัวหน้าพรรคฯ นำพรรคเหมือนเดิม แต่สมาชิกพรรคทุกคนได้ร่วมกันนำพรรคพลังธรรมใหม่ฝ่าด่านมาได้ แต่ยังเหลืออีกหลายด่านที่พรรคจะต้องฝ่าฟัน ทั้งการหาสมาชิกพรรคประจำจังหวัดอย่างน้อย 100 คน เพื่อให้สามารถส่งผู้สมัครเลือกตั้งครบทุกเขต รวมทั้งหาสมาชิกพรรคแต่ละหมูบ้านให้ได้สมาชิกพรรคอย่างน้อย 1 หมู่บ้านต่อ 1 คน นอกจากนั้นยังมีเป้าหมายจะได้คะแนนเสียง 1 เลือกตั้งต่อ 10,000 คะแนน ซึ่งจะทำให้ได้คะแนเสียงรวม 3.5 ล้านเสียง จะทำให้พรรคพลังธรรมได้ ส.ส.ยกแรกเกือบ 50 คน โดยพรรคหวังที่จะยุติความขัดแย้งทั้งเหลืองและแดง เพื่อรวมประเทศไทยให้กลับมาเป็นหนึ่งเดียว
นโยบายสำคัญของพรรค คือ การหยุดการทุจริต เช่น รื้อคดีที่ค้างอยู่ในการทำงานของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ภายใน 1 ปี และคดีใหม่จะต้องทำให้แล้วเสร็จภายใน 6 เดือน ขณะเดียวกันต้องแก้ระเบียบศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้เป็นศาลฎีกาแผนกคดีอาญาคดีทุจริตแทน เพื่อให้ครอบคลุมทั้งนักการเมือง และข้าราชการ
นอกจากนั้นยังมีนโยบายด้านการปฏิรูปพลังงาน โดยจะแก้ไขสัญญาสัมปทานปิโตรเลียมทุกฉบับที่ไม่เป็นธรรมต่อประเทศไทย และจะเข้าไปปฏิรูประบบสาธารณสุขไทย โดยใช้นโยบายหมอประจำตัวทั่วไทย ต่อยอดนโยบาย 30 บาทรักษาทุกโรค ปฏิรูปการศึกษาให้มีแนวทางชัดเจน ต้องแก้ไขปัญหาความยกจนของเกษตรกร เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ด้วยเศรษฐกิจพอเพียง และจะต้องตั้งคณะทำงานติดตามการแก้ปัญหาของผลผลิตทางการเกษตรแต่ละชนิด ไม่ใช้คณะทำงานรวมเด็ดขาด รวมทั้งมีนโยบายจัดสรรที่ดินเพื่อคนไร้ที่ดินทำกิน
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้จะมีการตั้งคณะกรรมการนโยบายแต่ละด้านขึ้นมา โดยจะให้ประชาชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับนโยบายแต่ละด้านเข้ามาร่วมร่างนโยบายด้านนั้นๆ ด้วย คาดว่าภายในอาทิตย์หน้าจึงจะสามารถยื่นจดจัดตั้งพรรคอย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กกต.) ได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: