วิลเลียม เจมส์ นักจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเซาท์แธมตันในสหรัฐฯ เผยแพร่ผลวิจัยในวารสารจิตวิทยา Psychological Science ช่วงกลางเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยสรุปว่ากลุ่มตัวอย่างที่ฝึกสมาธิและฝึกโยคะโดยหวังผลในการพัฒนาสภาวะจิตหรือทำให้จิตใจสงบ ต่างรู้สึกว่าตัวเองมีสมาธิดีขึ้น และฝึกฝนได้ผลได้ดีกว่าผู้ร่วมชั้นเรียนรายอื่นซึ่งถูกนำมาเปรียบเทียบ
ขั้นตอนการวิจัยของเจมส์แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผู้ฝึกโยคะ 93 คน และกลุ่มผู้ฝึกสมาธิ 162 คน จากนั้นจึงทำแบบสอบถามความคิดเห็นก่อนและหลังฝึกสมาธิและโยคะ เพื่อชี้วัดความพึงพอใจในตัวเองของกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้ระยะเวลาการเก็บข้อมูลนาน 4 เดือน
ส่วนการประเมินผลจะอาศัยคำตอบของกลุ่มตัวอย่างที่ถูกขอร้องให้แสดงความคิดเห็นโดยปราศจากอคติ ซึ่งผลที่ได้บ่งชี้ชัดเจนว่า ผู้ฝึกสมาธิและโยคะมากกว่าครึ่ง รู้สึกว่าตนเองได้รับการพัฒนาทางด้านจิตใจ มีความสงบ พึงพอใจในตนเองเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับความรู้สึกก่อนที่จะฝึกสมาธิหรือโยคะ
เมื่อผู้วิจัยขอให้กลุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบประสิทธิผลที่แต่ละคนได้รับจากการฝึกสมาธิหรือโยคะ โดยเปรียบเทียบกับผู้ร่วมฝึกสมาธิหรือโยคะรายอื่นที่ปฏิบัติตามผู้สอนได้ในระดับปานกลาง พบว่าผู้ตอบแบบสอบถามเกือบทั้งหมดมองว่าตนเองสามารถทำได้ดีกว่า หรือพัฒนาสภาวะจิตของตัวเองได้มากกว่าผู้ที่ถูกนำมาเปรียบเทียบ บ่งชี้ว่าการฝึกสมาธิหรือโยคะช่วยให้ผู้ฝึกฝนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยครั้งนี้มีความมั่นใจในตัวเองเพิ่มขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ผลวิจัยทางด้านจิตวิทยาของเจมส์ จึงสรุปว่าการพัฒนาสภาวะทางจิตโดยการฝึกสมาธิและโยคะ ช่วยให้ผู้ฝึกมีสมาธิหรือจิตใจที่ปลอดโปร่งผ่องใสเพิ่มขึ้น แต่ขณะเดียวกันก็มีความเชื่อมั่นเข้าข้างตัวเองเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งค่อนข้างขัดแย้งกับความเชื่อที่ว่า การฝึกสมาธิหรือโยคะจะช่วยให้ผู้ฝึกฝนรู้จักปล่อยวาง มีสติ สุขภาพจิตดี และควบคุมอารมณ์ได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผู้วิจัยระบุว่า การฝึกสมาธิหรือโยคะประเภทนี้เป็นการฝึกฝนในเชิงบุคคล ซึ่งอาจแตกต่างจากการทำสมาธิตามคำสอนของศาสนาใดศาสนาหนึ่ง
ขณะเดียวกัน เว็บไซต์ด้านวิทยาศาสตร์ประยุกต์ IFL Science เห็นแย้งว่า การสำรวจความเห็นและสรุปผลวิจัยของเจมส์ไม่สามารถตรวจสอบความคลาดเคลื่อนได้อย่างชัดเจน เพราะเป็นการชี้วัดความรู้สึกของกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งได้รับข้อมูลเบื้องต้นว่าการฝึกสมาธิและโยคะจะช่วยเรื่องการพัฒนาจิตใจของตัวเอง จึงมีแนวโน้มสูงที่ผู้ตอบแบบสอบถามจะแสดงความคิดเห็นเชิงบวกเพื่อสนับสนุนการวิจัย จนดูเหมือนเป็นการตอบเข้าข้างตัวเอง
ที่มา: IBM/ Quartz/ IFL Science
ภาพประกอบ: Ben Blennerhassett on Unsplash
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: