9 มี.ค. 2561 ซีแอลเอสเอ อาเซียน ฟอร์รัม 2018 จัดเสวนา หัวข้อ "การเลือกตั้งไทยในอนาคต" (The Future of Thai politics : Election Ahead) โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ได้ตอบคำถามสื่อมวลชนหลังการเสวนาถึงกรณีสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.ว่า ศาลรัฐธรรมนูญมีโอกาสดูร่างกฎหมายดังกล่าวได้ตั้งแต่ต้น แม้ขณะนี้จะมีช่องทางยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความได้ แต่ก็คิดว่าจะใช้เวลาไม่นาน คาดว่าร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว.จะถูกยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ ถ้าศาลพิจารณาไม่เกิน 90 วันก็ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร เพราะกฎหมายเลือกตั้งจะมีเวลาบังคับใช้หลังลงในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90วัน
เช่นเดียวกับ นายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย เชื่อว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2562 ได้ แม้จะถูกหยิบยกขึ้นมาตีความในชั้นศาลรัฐธรรมนูญ ในความเชื่อของพรรคภูมิใจไทยยังเชื่อว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2562
(อนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย - อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์)
เมื่อถามถึงพรรคการเมืองใหม่หลายพรรคไม่ปิดทางนายกรัฐมนตรีคนนอกหลังการเลือกตั้งในกรณีที่พรรคการเมืองเดิมไม่สามารถเลือกนายกรัฐมนตรีของพรรคตัวเองได้ นายจาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่า ไม่กังวล แต่ไม่แปลกที่หลายพรรคการเมืองจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และยังไม่เห็นศักยภาพที่จะมีสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ดังนั้น การที่พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกรัฐมนตรีได้จึงต้องทำให้พรรคการเมืองบางพรรคอ่อนแอก่อน เพื่อให้พรรคการเมืองบางพรรคมาสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นอะไรที่ซับซ้อนมาก
ส่วนความเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์ พรรคเพื่อไทย และพรรคภูมิใจไทย จะจับมือกันเพื่อป้องกันนายกรัฐมนตรีคนนอกนั้น นายอภิสิทธิ์ บอกว่า แม้พล.อ.ประยุทธ์จะไม่เคยปฏิเสธ แต่เชื่อว่าพรรคแต่ละพรรคจะมีจุดยืนของตัวเอง
ขณะที่นายจาตุรนต์ บอกว่า พรรคเพื่อไทยไม่สนับสนุนนายกฯคนนอก
'อภิสิทธิ์'ย้ำจุดยืน ปชป.ต่าง กปปส. ค้านนายกฯคนนอก
ต่อมานายอภิสิทธิ์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณี กปปส.จะเตรียมตั้งพรรคการเมืองเพื่อแย่งฐานพรรคประชาธิปัตย์ว่า พรรคไม่กังวลกับเรื่องนี้ เพราะถือเป็นเอกสิทธิ์ของทุกคนที่จะตั้งพรรคการเมืองได้ แต่ยอมรับว่าพรรคประชาะปัตย์ต้องทำงานให้หนักขึ้น ซึ่งในขณะนี้มีเพียงนายธานี เทือกสุบรรณ อดีต ส.ส.สุราษฎร์ธานี พรรคประชาธิปัตย์เท่านั้นที่แยกตัวออกไปตั้งพรรคการเมือง ล่าสุดก็ยังไม่มีสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์คนใดแสดงความจำนงที่จะออกจากพรรค แต่หลังวันที่ 30 เม.ย.ไปแล้ว สมาชิกพรรคคนใดยังไม่ยืนยันความเป็นสมาชิกพรรคก็จะพ้นจากความเป็นสมาชิกพรรค แต่ยอมรับโอกาสที่จะดึงสมาชิกพรรคเก่ากลับมาเป็นไปได้ยาก
(อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ - จาตุรนต์ ฉายแสง แกนนำพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามสื่อ)
เมื่อถามว่า พรรคประชาธิปัตย์จะเป็นพันธมิตรร่วมกับพรรคการเมืองที่ตั้งขึ้นโดย กปปส. หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ยังไม่ทราบ ต้องรอให้แนวคิดจุดยืนเป็นอย่างไร แต่พรรคประชาธิปัตย์ได้ต่อสู้กับระบอบทักษิณ และสนับสนุนการปฏิรูปประเทศ เพียงแต่ว่านายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตเลขาธิการ กปปส. และคนที่เกี่ยวข้องพูดถึงการตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์นั้น ก็ถือเป็นจุดยืนที่แตกต่างกัน ยืนยันพรรคประชาธิปัตย์มีอุดมการณ์สนับสนุนบุคลากรและนโยบายของพรรค อีกทั้งเป็นสิทธิแต่ละพรรคจะเลือกสนับสนุนใคร อีกทั้ง พล.อ.ประยุทธ์จะวางท่าทีอย่างไร จะให้พรรคการเมืองอื่นเสนอชื่อตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีหรือไม่ เพราะตามกฎหมายให้พรรคการเมืองเพียงพรรคเดียวที่จะเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ได้
เมื่อถามถึงจุดยืนของพรรคประชาธิปัตย์เกี่ยวกับนายกรัฐมนตรีคนนอก นายอภิสิทธิ์ ระบุว่า "พรรคประชาธิปัตย์ยืนยันเป็นพรรคแรกว่าหลังการเลือกตั้ง ส.ว. 250 คนควรจะต้องเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกหลังการเลือกตั้งอันนี้สำคัญที่สุด เจตนารมณ์ต้องดูว่าใครหาเสียงอย่างไรและได้รับคะแนนเสียงมาอย่างไร"
เมื่อถามว่า จะเกิดการมีนายกรัฐมนตรีคนนอกภายในพรรคประชาธิปัตย์หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า พรรคลงสมัครรับเลือกก็ต้องสนับสนุนนโยบายและบุคลากรของพรรค ซึ่งต้องยอมรับว่าประชาชนอยากเห็นประเทศกลับสู่การเลือกตั้งและประชาธิปไตยก็ยังกังวลว่าจะประเทศจะกลับไปเหมือนเดิมอีกหรือไม่
เมื่อถาม นายกรัฐมนตรีควรต้องเลือกกันในรัฐสภาก่อนใช่หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ บอกว่า ต้องเลือกตามรัฐธรรมนูญ แต่ ส.ว.ควรเคารพเสียงที่มาจากประชาชน
เมื่อถามว่า หลังการเลือกตั้งพรรคประชาธิปัตย์ยังคงปิดโอกาสการร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยใช่หรือไม่ เพราะยืนยันจะต่อสู้กับระบอบทักษิณ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า "ผมพูดมาตลอดว่าพรรคเพื่อไทยจะก้าวพ้นตรงนั้นได้ไหมล่ะ แต่ไม่มีหรอกที่พวกผมจะไปร่วมมือเพื่อให้เกิดปัญหาแบบระบอบทักษิณ ต่อสู้กันมา 20 ปีที่เป็นเหตุหลักให้เกิดวิกฤตจนถึงวันนี้ ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่จะทำในสิ่งที่่สวนทางกับที่พวกเราได้ต่อสู้กันมาตลอด"
ภาพข่าว - เสกสรร โรจนเมธากุล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง