ไม่พบผลการค้นหา
แม้จะประกาศตัวเป็นนักการเมืองเต็มตัว แต่การเดินสู่สนามการเมืองเพื่อนั่งเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนนอก ดูจะไม่ง่าย หาก2พรรคใหญ่ขยับร่วมมือต้าน

หลังการประกาศชัดๆว่า “ ผมเป็นนักการเมือง และเป็นอดีตทหาร” ของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา แม้ที่ผ่านมาจะย้ำชัดๆว่าตัวเองไม่ใช่นักการเมือง ซึ่งน่าจะเกิน 9 ครั้งด้วยซ้ำไปว่า ไม่ใช่นักเมือง แต่เป็นทหารอาชีพ

การประกาศ ชัดเจน ว่าเป็นนักการเมือง จึงไม่ต่างจาก การกระโดดลงมาสู่สนามการเมืองอย่างเต็มตัว ส่วนเป้าหมายคงไม่ต้องถาม ชัดเจนเช่นกันว่า นายกรัฐมนตรีอีกสมัย คือคำตอบเดียว

แต่เส้นทางการเป็นนายกฯคนนอก ของพลเอกประยุทธ์ ดูจะไม่โรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างที่คิดเอาไว้ เพราะที่สุดแล้ว กลเกมการเมือง ก็ต้องชิงไหวชิงพริบในสนามเลือกตั้ง แม้เงื่อนไขจะถูกวางเอาไว้ให้ได้เปรียบก็ตาม

หากลองสำรวจ เส้นทางการเป็นนายกฯของคนนอก ทางเดินแรกแบบสง่างาม คือการประกาศลงสู่สนามเลือกตั้ง ตามเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้ ผู้ใดเป็น สนช. ครม. และ คสช. การจะลงสมัคร ส.ส.ได้นั้น ต้องลาออกจากตำแหน่งภายใน 90 วัน นับแต่วันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้

 ทางเดินนี้ดูจะไม่ใช่ทางเลือกตั้งแต่แรก เพราะ ขาดคุณสมบัติลงสมัครไม่ได้ เนื่องจากผ่านมาแล้ว 9 เดือน ยังไม่ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเพื่อลงสู่สนามเลือกตั้ง

 ทางเดินที่สอง แม้จะสง่างามลดลงมา แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในวิถีของการเลือกตั้ง คือ การใส่ชื่อลงไปในช่องบัญชีรายชื่อหรือปาร์ตี้ลิสต์พรรคการเมืองที่สนับสนุนคือนายกฯ ม.88 ที่กำหนดให้พรรคเสนอชื่อได้ไม่เกินพรรคละ 3 ชื่อ

 แต่ทางเดินนี้ต้องมั่นใจด้วยว่าพรรคการเมืองที่สนับสนุนจะต้องได้ ส.ส.เกิน 5% มิฉะนั้นจะไม่สามารถส่งชื่อเข้าประกวดได้

หากลองสำรวจพรรคการเมืองที่ประกาศ สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก็เห็นจะมีเพียง พรรคประชาชนปฏิรูป ของ นายไพบูลย์   นิติตะวัน 

ทางเดินที่สาม รัฐธรรมนูญก็เปิดช่องให้เลือกนายกฯคนนอกได้ แต่มีเงื่อนไขเรื่องระยะเวลาที่กำหนดเอาไว้ใน 5 ปีเท่านั้น โดยบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญได้กำหนดให้วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งจาก คสช. 250 คน มีสิทธิ์โหวต และเสนอชื่อนายกฯคนนอก

ดังนั้นการเลือกนายกฯตามสูตรนี้ จะต้องได้เสียง ส.ว. 250 คน ร่วมยกมือ และเสียง ส.ส. 251 คน สนับสนุน นั่นก็หมายความว่า ส.ว. 250 + ส.ส. 251 คน ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของสองสภารวมกันคือไม่น้อยกว่า 500 คนขึ้นไป จึงจะเลือกนายกฯคนนอกได้

เส้นทางการขึ้นนายกรัฐมนตรีคนนอกของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงดูจะเป็นทางเลือกที่สาม ที่ต้องมั่นใจว่า ส.ส. ในสภาฯจะต้องสนับสนุนให้ขึ้นนายกรัฐมนตรีด้วยเช่นกัน

โดย เสียงสนับสนุนนายกฯคนนอกจาก ส.ส.จึงเป็นประเด็นสำคัญเพราะหากได้เสียงสนับสนุนไม่เกินกึ่งหนึ่งจะเกิดปัญหาในด้านเสถียรภาพ

แต่หากลองสำรวจทางเลือกของพรรคการเมืองที่จะสู้กับ พรรคทหารและการนั่งนายกรัฐมนตรีต่อเนื่องของพลเอกประยุทธ์ แนวทางขอเสนอของ ปู่ พิชัย รัตตกุล ที่เสนอให้ พรรคใหญ่ 2 พรรคจับมือสู้กับพรรคทหาร คือ พรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์

แม้การจับมือของ 2 พรรคใหญ่ จะดูมีทางเป็นไปได้น้อย เพราะต่างอดุมการณ์ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นไม่ได้เลย เพราะที่สุดหากพลเอกประยุทธ์ ไม่เลือกที่จะจับมือพรรคประชาธิปัตย์ เท่ากับเป็นแรงบีบให้พรรคการเมืองจับมือกันเอง

เริ่มจะเห็นท่าทีดับเครื่องชนของ พรรคการเมือง โดย นายอำนวย คลังผา อดีต ส.ส.ลพบุรี พรรคเพื่อไทย ออกมาเรียกร้องให้ทุกพรรคการเมืองจับมมือกันไม่เอานายกฯคนนอก แต่ต้องเดินตามแนวทางประชาธิปไตย

ขณะที่ ท่าทีของ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีรัฐธรรมนูญปี 60 ที่มีบทเฉพาะกาลกำหนดให้มีการสืบทอดอำนาจว่า สมัยก่อนเราเชื่อว่าไม่เป็นอะไรหากรัฐธรรมนูญไม่เป็นประชาธิปไตยสามารถแก้ไขได้ แต่โดยเงื่อนไขของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยาก ผู้ร่างรัฐธรรมนูญก็เก่งทำให้แก้ยาก ฉะนั้นอยากให้ประชาธิปไตยเป็นกลไกปกครองบ้านเมือง ถ้าเพี้ยนไปจากประชาธิปไตยก็ไม่ใช่แนวทางของเรา

อย่างไรก็ตามจากประสบการณ์คิดว่ามันไม่ใช่อุปสรรคที่ถึงขั้นบริหารประเทศไม่ได้ เพียงแต่ทำให้ระบอบประชาธิปไตยมันยากกว่าระบอบเผด็จการ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย

ท่าทีของ2 พรรคใหญ่ แม้จะยังไม่ชัดเจน มากนักในการจับมือเพื่อสกักายกฯคนนอก ที่มาจากทหาร หรือพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย แต่ก็มีทางเป็นไปได้ ..

ดังนั้นการประกาศตัวเป็นนักการเมืองของ พลเอกประยุทธ์ และเส้นทางเดินสู่นายกรัฐมนตรีคนนอก ก็ดู���ะไม่ง่าย เว้นเสียแต่มีอุบัติเหตุอื่นๆเกิดขึ้นระหว่างทาง