ไม่พบผลการค้นหา
Exclusive report : ตอบคำถามทำไมชาวนาอินเดียประท้วง ประชาธิปไตยใกล้ล่มสลาย? พร้อมอธิบายอิทธิพล 'ศิลปิน' ที่มีต่อการเรียกร้องทางการเมือง

'โรบิน รีแอนนา เฟนตี้' หรือ 'ริฮานนา' ไม่เพียงเป็นหนึ่งในศิลปินที่ถูกทวงถามผลงานเพลงมากที่สุดตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา หรือขึ้นแท่นเป็น "นักร้องหญิงที่รวยสุดในโลก" จากทรัพย์สินที่ไม่ได้มาจากการร้องเพลงแต่มาจากไลน์สินค้า 'ตระกูลเฟนตี้'

เธอยังเป็นมนุษย์ที่ใช้อิทธิพลมหาศาลในกำมือผลักดันการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเท่าเทียมทั่วโลก 

ล่าสุด นักร้อง-นักธุรกิจสาวทวีต 2 ข้อความสำคัญผ่านบัญชีทวิตเตอร์ของตนเองที่มีผู้ติดตามสูงกว่า 101 ล้านบัญชี นับเป็นบุคคลที่มีผู้ติดตามสูงที่สุดในโลกเป็นอันดับที่ 4 รองจาก อดีตประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 44 'บารัก โอบามา' ด้วยยอดผู้ติดตาม 128 ล้านบัญชี โดยมี 'จัสติน บีเบอร์' และ 'เคที เพอร์รี' ตามมาในลำดับที่ 2 และ 3 ด้วยยอดผู้ติดตาม 113 และ 109 ล้านบัญชี 

หลังโพสต์คลิปวิดีโอสั้นของตนเองระหว่างการแสดงคอนเสิร์ตพร้อมข้อความ "ก้าวเข้าสู่เดือนกุมภาพันธ์ด้วย..." พร้อมแฮชแท็ก #BlackHistoryMonth แสดงออกถึง 'เทศกาลรำลึกถึงชาวแอฟริกันพลัดถิ่น' ที่จัดขึ้นในเดือน ก.พ.ของทุกปี

เธอทวีตข้อความอีกครั้งในช่วงดึกของวันเดียวกัน พร้อมตั้งคำถามว่าเหตุใดจึงไม่มีใครพูดถึงการประท้วงของกลุ่มชาวนาในอินเดียพร้อมแนบลิงก์ข่าวจากซีเอ็นเอ็นที่ระบุว่า "รัฐบาลอินเดียตัดสัญญาณอินเทอร์เน็ตรอบกรุงนิวเดลีหลังเกิดการปะทะระหว่างผู้ประท้วงและเจ้าหน้าที่ตำรวจ"

ในเวลาใกล้เคียงกัน 'ริฮานนา' ยังรีทวีตข้อความของฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) องค์กรส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศเกี่ยวกับการรัฐประหารในประเทศเมียนมา โดยระบุวลีแสดงความห่วงใยที่อาจแปลแบบตรงตัวได้ว่า "คำภาวนาของฉันอยู่กับคุณ #เมียนมา" 

หลายครั้งหลายหนท่ามกลางการต่อสู้ ไม่ว่าจะเพื่อรักษาไว้ซึ่งประชาธิปไตย เรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศหรือสีผิว ผู้คนจำนวนไม่น้อยตั้งคำถามว่าจะกดดันให้ 'ศิลปิน' 'ดารา' หรือ 'ผู้มีชื่อเสียง' ออกมาแสดงจุดยืนหรือที่รู้จักอย่างแพร่หลายกันในวลี 'call out' ไปทำไมในเมื่อพวกเขาเป็นมนุษย์เท่ากันและ 'มีสิทธิที่จะไม่พูด'

ไม่ใช่เรื่องผิดที่จะคิดเช่นนั้น แต่ 'ริฮานนา' คือหนึ่งในคำตอบว่าเมื่อผู้มีอิทธิพลสนใจประเด็นหนึ่งๆ แสงไฟที่ที่อาจสาดไม่ถึงผู้ต้องการความช่วยเหลือเท่าที่ควรพลันสว่างไสวขึ้น 

ริฮานนา
  • 'โรบิน รีแอนนา เฟนตี้' หรือ 'ริฮานนา'

อย่างน้อยที่สุด 'สาร' ที่ถูกรีทวีตไปแล้วมากกว่า 400,000 ครั้ง พร้อมยอดกดไลก์อีกกว่า 800,000 บัญชี จากหนึ่งทวีตของเธอได้สร้างความรับรู้ให้ผู้คนทั่วโลกมากขึ้นว่ากำลังเกิดอะไรในอินเดีย

ยิ่งผนวกรวมเข้ากับผู้ทรงอิทธิพลคนอื่นๆ ในโลกที่ช่วยฉายไฟเข้าไปในประเด็นดังกล่าว อาทิ 'เกรตา ธันเบิร์ก' เยาวชนนักเคลื่อนไหวประเด็นสิ่งแวดล้อมระดับโลก รวมไปถึง 'กมลา แฮร์ริส' รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน อาจพูดได้ว่า "ที่ไม่รู้จะได้รู้" มากขึ้น 

เพียงหนึ่งข้อความที่นักร้องสาวทวีตผ่านโลกออนไลน์สามารถสร้างแรงสั่นสะเทือนไปถึงเจ้าหน้าบริหารประเทศระดับสูงของรัฐบาลอินเดียจน 'ซูบรามานยัม ไจชานคาร์' (Subrahmanyam Jaishankar) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศออกมาโต้กลับว่า การประท้วงที่เกิดขึ้นในประเทศตอนนี้ได้รับอิทธิพลและกลายเป็นหุ่นเชิดของกลุ่มผู้แสวงหาผลประโยชน์จากต่างประเทศ 

"ความพยายามสร้างกระแสบนสังคมโซเชียลมีเดียผ่านแฮชแท็กและคอมเมนต์ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรดาข้อความที่ได้รับการสนับสนุนจากเหล่าคนดัง ทั้งไม่ถูกต้องและไม่มีความรับผิดชอบ"

อินเดีย - ประท้วง - ชาวนา
  • สตรีชาวอินเดีย 2 คน ถือป้ายที่มีใจความว่า "เราไม่ได้ถูกชักจูง"

ล่าสุด รัฐบาลอินเดียยังตัดสินใจระงับการให้บริการสัญญาณอินเทอร์เน็ตใน 3 บริเวณสำคัญรอบกรุงนิวเดลี เมืองหลวงของประเทศ ซึ่งมีชาวนารวมตัวกันประท้วงบนท้องถนนมากกว่าหมื่นคน โดยรัฐบาลอ้างว่าการกระทำดังกล่าวเป็นไปเพื่อ "รักษาความสงบเรียบร้อย"


ชาวนาอินเดียประท้วงอะไร

จุดเริ่มต้นที่ชาวนาอินเดียออกมาประท้วงต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2563 เมื่อรัฐบาลภายใต้เก้าที่นายกรัฐมนตรีที่มี 'นเรนทรา โมดี' นั่งอยู่นั้นต้องการปฏิรูปอุตสาหกรรมการผลิตและจัดจำหน่ายข้าวภายในประเทศ ผ่านกฎหมาย 3 ฉบับ ที่สรุปโดยง่ายว่าเป็นการยกเลิกบทบาทคนกลาง/ผู้ควบคุมตลาดของรัฐบาลออกไป แล้วเอื้อให้ใช้กลไกการแข่งขันเสรีเข้ามาแทน 

อย่างไรก็ดี สหภาพชาวนาจากรัฐปัญจาบและหรยาณาสะท้อนความกังวลว่า กฎหมายใหม่นี้จะทำลายระบบประกันราคาขั้นต่ำข้าวที่ชาวนาเคยได้รับความช่วยเหลือจากรัฐบาล อีกทั้ง เมื่อเวลาผ่านไปแนวคิดตลาดเสรีที่รัฐบาลชูขึ้นจะถูกแทนที่ด้วยทุนนิยมผูดขาดที่เหล่าผู้ประกอบการเอกชนรายใหญ่เข้ามาครองธุรกิจและกดราคาผลผลิตของเกษตรกรลง 

อินเดีย - ประท้วง - ชาวนา

นอกจากต้องแบกรับความไม่แน่นอนเรื่องรายได้ เกษตรกรยังกังวลต่อการคงอยู่ของ 'อาทริยาส' (arthiyas) ในฐานะองค์กรกลางจัดการเรื่องการซื้อขายข้าวทั้งหมดทั้งยังเป็นตัวกลางสำคัญในการได้มาซึ่งเงินกู้สนับสนุนเกษตรกรด้วย

ตามระบบการซื้อขายข้าวของอินเดียก่อนหน้านี้ เกษตรกรจะนำผลผลิตของตนเองไปยังศูนย์อาทริยาสท้องถิ่น โดยมีเจ้าหน้าที่จากองค์กรดูแลทำความสะอาดก่อนเป็นผู้จัดการประมูลตามระบบส่วนกลางที่เรียกว่า 'ประมูลแมนดี'

เมื่อการประมูลจบลง อาทริยาสจะทำหน้าที่จัดเตรียมใบเสร็จรับเงินให้กับชาวนา ขณะเดียวกันยังคอยจัดส่งสินค้าให้กับสถานที่ปลายทางของผู้ประมูลได้เช่นเดียวกัน หรือเรียกได้ว่าเป็นองค์กรกลางขับเคลื่อนอุตสาหกรรมทั้งระบบ

สหภาพชาวนาและผู้ร่วมประท้วงเรียกร้องให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ พร้อมทำให้มั่นใจว่าระบบการซื้อขายข้าวแบบเดิมจะคงอยู่ต่อไป ทั้งยังเสนอให้ยกเลิกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับไฟฟ้าฉบับใหม่ ซึ่งหลายฝ่ายกังวลว่าจะนำไปสู่การสิ้นสุดมาตรการสนับสนุนค่าไฟให้กับชาวนา  

การประท้วงครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างสงบตั้งแต่เดือน พ.ย. 2563 เป็นต้นมา โดยผู้ชุมนุมเลือกปักหลักอยู่บริเวณนอกเมืองหลวงเพื่อแสดงออกถึงความไม่พอใจต่อการบริหารประเทศของรัฐบาล

ส่วนหนึ่งที่ทำให้มีผู้เข้าร่วมการเรียกร้องในจำนวนมากเป็นเพราะ กว่า 60% ของประชากร 1,300 ล้านคนในอินเดีย มีชีวิตอยูโดยการพึ่งพาอุตสาหกรรมการเกษตรเป็นหลัก ซ้ำร้ายวิกฤตโรคระบาดที่ผ่านมา ยิ่งทำให้อาชีพดังกล่าวทวีความสำคัญมากขึ้นเมื่อเศรษฐกิจในตัวเมืองได้รับผลกระทบจากมาตรการปิดประเทศและการค้าที่อ่อนแอลง 

ไม่เพียงความเหลื่อมล้ำและสภาพสังคมส่งผลกระทบต่อการ 'ยังชีพ' สิ่งเหล่านี้ยังทำให้ประเทศเผชิญหน้ากับวิกฤตการ 'ปลิดชีพ' ตัวเองเช่นเดียวกัน ในปี 2562 อินเดียคือหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายมากที่สุดในโลก โดยมีตัวเลขเฉพาะชาวนาที่ฆ่าตัวตายจากปัญหนี้สินและการล้มละลายสูงถึง 10,281 ราย ยิ่งตอกย้ำความเสี่ยงของตัวเลขผู้ฆ่าตัวตายจากภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน 

ทั้งนี้ แม้จะเต็มไปด้วยความชอกช้ำจากสภาพความเป็นอยู่ การประท้วงยังคงดำเนินไปด้วยความสันตินับจนถึงเมื่อวัน 26 ม.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งผู้ชุมนุมตัดสินใจเคลื่่อนขบวนเข้าเมืองหลวง ทั้งโดยเท้าเปล่าหรือที่ขับรถแทรกเตอร์เข้ามาเพื่อช่วยทลายแผงกั้นของเจ้าหน้าที่ 

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งประจำการเตรียมรับมือผู้ชุมนุมมีทั้งแก๊สน้ำตาไปจนถึงปืนไรเฟิลประจำตัว ในบางพื้นที่ มีภาพวิดีโอแสดงช่วงเวลาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังเข้าทำร้ายประชาชนด้วยกระบอง ซึ่งผู้ชุมนุมยืนยันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นผู้เริ่มความรุนแรงดังกล่าว จนนำไปสู่การเสียชีวิตของประชาชน 1 ราย 

อินเดีย - ประท้วง - ชาวนา

นับจนถึงปัจจุบันการประท้วงที่กินเวลามาแล้วกว่า 3 เดือนยังดำเนินต่อไป และยังไม่มีการตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับกฎหมาย 3 ฉบับดังกล่าว ขณะที่ประชาชนผู้ออกมาเรียกร้องต้องมีชีวิตอยู่ท่ามกลางการปราศจากไฟฟ้า น้ำประปา อินเทอร์เน็ต และความรุนแรงจากเจ้าหน้าที่เป็นบางครั้งบางคราว

เช่นเดียวกับเหล่านักเล่าเรื่องตลกที่ถูบจับเข้าคุกจากมุกที่ไม่ได้ออกมาจากปากพวกเขา พร้อมกับสื่อมวลชนและนักการเมืองฝ่ายตรงข้ามที่ถูกป้ายข้อกล่าวหาชักจูงสังคมไปในทางที่ผิด (จากสิ่งที่รัฐบาลกลางรายงาน)


'ประชาธิปไตย' ไร้อนาคต

สิ่งที่เกิดขึ้นในอินเดียขณะนี้โดยใจความสำคัญไม่ได้ใช่เรื่องแปลกใหม่ การใช้อำนาจควบคุมอินเทอร์เน็ตเพื่อปดกั้นการสื่อสารและการรับรู้ข้อมูลข่าวสารไปจนถึงการบิดเบือนต่างๆ เกิดขึ้นทั่วโลก

ไล่มาตั้งแต่ การประกาศปิดกั้นการเข้าถึงแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียสำคัญอย่างเฟซบุ๊กในเมียนมา หรือเหตุการณ์ราวกับคัดลอกกันมาจากประเด็นการสั่งยุติการดำเนินงานชองเฟซบุ๊กในยูกันดาเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ระหว่างที่ประเทศกำลังเข้าสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ ที่เต็มไปด้วยการบิดเบือนและคราบเลือด

ในงานศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อต้นปี 2563 ภายใต้ชื่อ 'เผด็จการควบคุมอินเทอร์เน็ตยังไง' ผู้เขียนพบความสัมพันธ์ในการบั่นทอนเสรีภาพของประชาชนกับอินเทอร์เน็ตผ่านมือกลางอย่างรัฐบาลถึง 3 ระดับ ได้แก่ ระดับโครงสร้างพื้นฐาน, ระดับโครงข่ายสัญญาณ และระดับแอปพลิเคชัน 

ในระดับแรกนั้น ผู้เขียนพบว่า แม้งานศึกษาก่อนๆ จะชี้ไปในทางเดียวกันว่าเผด็จการส่วนมากมีความรู้ในประเด็นดังกล่าวอย่างจำกัด ทว่าในช่วงที่ผ่านมา รัฐบาลเหล่านี้กลับพัฒนาตัวเองมากขึ้น จนสามารถควบคุมให้เกิดการ "ชัตดาวน์" อย่างทันท่วงทีเมื่อมีเหตุให้เชื่อได้ว่าภัยอันใหญ่หลวงเข้าประชิดรัฐบาลแล้ว อย่างน้อยที่สุด ผู้วิจัยระบุว่าเครื่องมือชัตดาวน์การสื่อสารนี้ยังช่วยซื้อเวลาให้เผด็จการได้บ้าง 

ระดับที่สองของการแทรกแซงนั้น รัฐบาลสามารถบิดเบื้อและปิดกั้นข้อมูลที่เป็นภัยต่อความมั่นคงได้แทบในช่วงเวลาจริง จากแนวนโยบายเซ็นเซอร์ข้อมูลต่างๆ อาทิ กรณีตัวอย่างที่เดินชัดที่สุดในโลกอย่าง 'Great Firewall' หรือ ด่านกันการเข้าถึงโครงข่ายอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ของประเทศจีน 

เท่านั้นยังไม่พอ ผู้วิจัยยังอธิบายว่าการแทรกแซงของรัฐบาลในระดับนี้ยังรวมไปถึงการเฝ้าติดตามและสอดส่องพลเมืองผู้เห็นต่าง ก่อนเก็บเป็นข้อมูลเพื่อดำเนินการต่อไป 

จีน - เอเอฟพี

ในระดับท้ายสุดแบบแอปพลิเคชันนั้นเป็นระดับที่เกิดการแทรกแซงด้วยรูปแบบที่หลากหลายมากที่สุดถึง 4 แบบ ได้แก่ การควบคุมและเซ็นเซอร์เนื้อหาในแอปฯ แม้รัฐบาลจำนวนหนึ่งเลือกปิดกั้นการเข้าถึงทั้งหมด บางประเทศอาทิจีนหันมาใช้มาตรการคิดเงินกับผู้ใช้งานที่ต้องการเข้าถึงข้อมูลบางประเภท 

รูปแบบต่อมาคือการควบคุมแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียให้พลเมืองไม่เกิดความสงสัยในประเด็นอ่อนไหว ผ่านการใส่ข้อมูลก่อกวนจำนวนมากเข้าไปในระบบเพื่อควบคุมทิศทางการสื่อสาร กลยุทธ์นี้ยังนำไปสู่การใส่ร้ายฝ่ายตรงข้ามด้วยข้อมูลเท็จลามไปจนถึงการขู่ทำร้ายร่างกายต่างๆ โดยมีการจ้างงานบุคลากรเข้ามาดูแลภาระงานดังกล่าวอย่างจริงจัง

ประเด็นข้างต้นนี้สอดคล้องกับรายงานก่อนหน้าของ 'วอยซ์' ที่ศึกษาวิจัยจากสถาบันอินเทอร์เน็ตของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดก่อนพบหลักฐานบ่งชี้ว่ารัฐบาลของ 81 ทั่วโลก มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปล่อยข่าวปลอมเข้าสู่โลกอินเทอร์เน็ต 

สำหรับประเด็นที่ 3 เป็นเรื่องการเข้าถึงข้อมูลผู้ใช้งานโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับฝั่งตรงข้ามของรัฐบาลและท้ายสุดคือการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพของการสื่อสารและการเข้าถึงข้อมูล 

การเมือง อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ปรับปรุง ม็อบ สถาบัน ราชดำเนิน

ตั้งแต่บรรทัดแรกจนถึงย่อหน้าสุดท้ายของบทความชิ้นนี้ถูกสรุปด้วยงานวิจัยและสถิติชิ้นล่าสุดจาก 'หน่วยข่าวกรองเศรษฐศาสตร์' หรือ The Economist Intelligence Unit บริษัทในเครือเดียวกับหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์อย่าง The Economist ที่ทำการจัดอันดับดัชนีประชาธิปไตยของ 167 ประเทศทั่วโลก ในปี 2563 ก่อนสรุปได้โดยง่ายว่า จากคะแนนเต็ม 10 ทั่วโลกได้คะแนนเฉลี่ยเพียง 5.37 เท่านั้น ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการเริ่มทำสถิติดังกล่าวในปี 2549 

อ้างอิง; BBC(1), BBC(2), NYT(1), NYT(2), DW(1), DW(2), FT, HRW, RNZ, AP, The Economist, TOI, The Wire

ข่าวที่เกี่ยวข้อง;