หลังจากประกาศจะสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยที่มีมาตรฐาน กำลังการผลิต 3 ล้านชิ้นต่อเดือน เพื่อแจกฟรีให้กับประชาชน โดยนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ สู้กับไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ โควิด-19 พร้อมกับระบุว่า หากสิ้นสุดการระบาดของไวรัสโควิด-19 จะมอบภารกิจโรงงานผลิตหน้ากากอนามัยแห่งนี้ให้กับโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ผ่านมาเกือบ 2 สัปดาห์ หลังคำประกาศเมื่อ 5 มี.ค. 2563 ที่ผ่านมา ล่าสุดมีความคืบหน้าจากเครือเจริญโภคภัณฑ์เปิดเผยภารกิจสร้างที่ระดมผู้เชี่ยวชาญ วิศวกร ทั้งจากภายในภายในองค์กรมาร่วมกันทำโครงการนี้ ภายใต้เงื่อนไข 'เร็วแต่มีคุณภาพ' ทำโรงงานที่ออกแบบก่อสร้างด้วยมาตรฐานคลีนรูม ปลอดฝุ่น แม้จะเป็นการปรับปรุงอาคารสำนักงานของบริษัทเกษตรภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด ธุรกิจในเครือซีพี ย่านพระประแดง มาทำก็ตาม
นายศักดิ์ชัย บัวมูล รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ในฐานะหัวหน้าสายงานด้านวิศวกรรมและการออกแบบกระบวนการผลิต 'โรงงานซีพีผลิตหน้ากากฟรีเพื่อคนไทย' กล่าวว่า พวกเรามีความภาคภูมิใจมากที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการทำภารกิจเพื่อชาติ ซึ่งท่านประธานอาวุโสธนินท์เน้นย้ำเสมอว่าต้องทำเร็วและต้องมีคุณภาพ เราจึงต้องใส่ใจในรายละเอียดทุกขั้นตอน
ทั้งนี้ การออกแบบได้เริ่มต้นทันทีในสัปดาห์ที่ผ่านมา (9 มี.ค.2563) ต้องทำงานควบคู่กันหลายอย่างในเวลาจำกัด และต้องทำงานตลอดทั้งช่วงเช้าและค่ำตลอด 24 ชั่วโมง เพราะต้องใช้สรรพกำลังในการเคลียร์สถานที่ให้พร้อมในการก่อสร้าง
หลังจากนั้นต้องทำการเตรียมติดตั้งลิฟต์โดยสาร และลิฟต์ขนของให้เสร็จ ซึ่งได้ใช้เวลาในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับปรุงช่องติดตั้งลิฟต์ ปรับอาคารด้านหน้า ปรับปรุงหลังคาเหล็ก และติดตั้งระบบไฟทั้งหมด และที่สำคัญในสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้ออกแบบห้องคลีนรูมเสร็จสิ้น และเริ่มต้นในการสั่งของแล้ว ซึ่งในวันนี้ (16 มี.ค.2563) จะเป็นการเร่งก่อสร้างในส่วนของห้องคลีนรูมให้เสร็จในสัปดาห์นี้
เพราะเครื่องจักร คือหัวใจสำคัญ ดังนั้นในการผลิตในครั้งนี้ ซีพีได้ใช้เครือข่ายจากหลายประเทศหาเครื่องจักรมาใช้ในการผลิต ซึ่งเครื่องจักรขนาดใหญ่เหล่านี้ต้องใช้เวลาในการผลิตอย่างน้อย 5 สัปดาห์ แต่การใช้เครือข่ายที่มีอยู่ในต่างประเทศทำให้บริษัทเร่งกระบวนการผลิตเครื่องจักรในเสร็จใน 4 สัปดาห์ และต้องใช้ความสามารถในกระบวนการนำเข้าในทันเวลา ซึ่งการเตรียมเอกสารทั้งหมดคือความท้าทาย
"เรามีอีกทีมงานช่วยจัดการด้านพิธีการเอกสารต่างๆ ในการนำเข้าเครื่องจักรก็ต้องทำควบคู่กันไป ขณะที่วัตถุดิบที่หายากอย่างฟิลเตอร์ ก็ต้องประสานงานไปยังหลายประเทศเพื่อนำเข้า ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นความท้าทายอย่างมากในเวลาที่จำกัด" นายศักดิ์ชัย กล่าว
ด้านนายภูมิชัย ตรัยดลานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เกษตรภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด ซึ่งรับผิดชอบด้านการก่อสร้างโรงงานหน้ากากอนามัย กล่าวว่า โรงงานนี้ตั้งอยู่บนชั้น 3 ของบริษัทเกษตรภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด ในย่านพระประแดง โดยปัจจุบันได้ผ่านขั้นตอนการเทพื้นใหม่เพื่อให้ปลอดฝุ่นตามมาตรฐานการผลิต เสร็จสิ้นแล้ว
การดำเนินการมี 5 ขั้นตอนได้แก่
สำหรับในสัปดาห์ต่อไปจะเป็นเรื่องการประกอบห้องต่างๆ ตามที่ได้ออกแบบไปแล้ว รวมถึงการเตรียมการด้านระบบสื่อสาร เนื่องจากซีพีไม่เคยผลิตหน้ากากอนามัยมาก่อน ทำให้ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกมาให้คำแนะนำ ผ่านระบบ Teleconference ประชุมทางไกล รวมถึงเครื่องจักรที่นำเข้าจะเป็นแบบออโตเมติก จะเชื่อมโยงแบบ IOT (Internet Of Thing) โดยให้กลุ่มทรูเริ่มเข้ามาวางระบบสื่อสาร ทั้งแบบมีสายและไร้สาย ซึ่งจะทำให้ทราบความเคลื่อนไหวของเครื่องจักรทั้งหมดผ่านหน้าจอคอมพิวเตอร์
นอกจากนี้ ทีมงาน พนักงาน วิศวกรทั้งหมด ที่ทำงานหามรุ่ง หามค่ำ ได้รับอาหารสำเร็จรูปแช่แข็งจาก ซีพีเอฟ และ ซีพีแรม ส่งให้รับประทานระหว่างก่อสร้างตลอด ซึ่งทั้งลุ้น และตั้งเป้าหมายทำให้เสร็จภายใน 5 สัปดาห์ตามกำหนด เพราะเชื่อว่าหน้ากากทุกชิ้นจากโรงงานจะถึงมือคนไทยฟรี และคลายทุกข์จากโควิด-19 ได้บ้าง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :