ไม่พบผลการค้นหา
มาตรการล็อกดาวน์ป้องกันโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้กิจการหลายอย่างถูกปิด รวมถึง 'ร้านตัดผม' ผู้ชายอเมริกันหลายคนจึงหันมาไว้หนวดเครา แต่เมื่อร้อยปีที่แล้ว 'หนวด-เครา' เคยถูกกล่าวหาว่าเป็นต้นตอโรคระบาดมาก่อน

ผู้ใช้ทวิตเตอร์หลายรายเผยแพร่ภาพและข้อความ พร้อมติดแฮชแท็ก #quarantinebeard และ #quarantinehaircut ซึ่งหมายการไว้หนวดเครา และการตัดผมด้วยตัวเอง ในช่วงที่ต้องกักตัวตามมาตรการล็อกดาวน์ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่และโรคโควิด-19 

เว็บไซต์ Today สื่อของสหรัฐฯ รายงานว่า ผู้ชายอเมริกันจำนวนมาก 'เว้นระยะห่าง' จากมีดโกนหนวด หันมาไว้หนวด-ไว้เคราในช่วงกักตัว พร้อมยกตัวอย่าง 'จิม แครีย์' นักแสดงชื่อดังชาวอเมริกัน ที่โพสต์ภาพใบหน้าพร้อมหนวดเคราบางๆ ของตัวเองผ่านทวิตเตอร์

แครีย์ระบุว่า เขาจะไว้หนวดเคราต่อไปจนกว่ามาตรการล็อกดาวน์จะสิ้นสุดลง ทั้งยังติดแฮชแท็ก #letsgrowtogether เพื่อชวนคนอเมริกันไว้หนวดเคราเช่นเดียวกัน

  • จิม แครีย์ นักแสดงชาวอเมริกัน ชวนคนไว้หนวดเมื่อปลายเดือน มี.ค.

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีกระแสเชิญชวนให้ไว้หนวดเครา ก็มีกระแสต่อต้านตามมา เพราะสื่อบางสำนักรายงานว่า การไว้หนวดเคราไม่เหมาะกับช่วงโควิด-19 แพร่ระบาด โดยระบุว่า คนที่ไว้หนวดเครา 'เสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสโคโรนา' มากกว่าคนที่โกนหนวดเคราเป็นประจำ

เหตุผลประกอบเรื่อง 'หนวดเครา' เพิ่มความเสี่ยงติดเชื้อไวรัส อ้างอิงจากกราฟิกแนะนำเรื่องการใส่หน้ากากอนามัยของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (CDC) ที่เผยแพร่ตั้งแต่ปี 2560 บ่งชี้ว่า หนวดเคราบนใบหน้าอาจทำให้เกิดช่องว่างระหว่างใบหน้าของผู้สวมใส่หน้ากากอนามัย ทำให้การป้องกันเชื้อโรคไม่ได้ผลอย่างที่ควรจะเป็น และอาจกระทบไปถึงกรณีที่ต้องสวม 'เครื่องช่วยหายใจ'

https://cdn.vox-cdn.com/thumbor/-OumCtZCly3sNZ9-06iJEl5KEnI=/443x238:1443x826/920x613/filters:focal(565x255:871x561):format(webp)/cdn.vox-cdn.com/uploads/chorus_image/image/66381449/CDC_infographic.0.png
  • กราฟิกรณรงค์เรื่องหน้ากากอนามัยของ CDC

ส่วนเว็บไซต์ VOX รายงานว่า 'หนวดเครา' เคยเป็น 'แพะรับบาป' หรือ 'จำเลยสังคม' มาก่อนช่วงต้นศตวรรษที่ 20 หรือเมื่อประมาณกว่า 100 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่มีการแพร่ระบาดใหญ่ของวัณโรคและไข้หวัดสเปน ทำให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตนับล้านคนทั่วโลก

ในยุคนั้น คณะกรรมาธิการด้านสุขภาพของสหรัฐอเมริกา และอีกหลายประเทศแถบยุโรป ออกคำสั่งห้ามเจ้าหน้าที่สาธารณสุข แพทย์ รวมถึง 'คนส่งนม' ไว้หนวดเครา เพราะเชื่อว่าหนวดเคราเป็นแหล่งรวมของเชื้อโรค และมีงานวิจัยที่ระบุว่า คนไข้ที่รักษาตัวกับแพทย์ที่มีหนวดเครา มีอัตราการเสียชีวิตมากกว่าคนไข้ที่รักษาตัวกับแพทย์ที่ไม่มีหนวดเครา

สื่อในสหรัฐฯ ช่วง ค.ศ.1901-1918 มักรายงานข่าวพร้อมใช้ถ้อยคำชี้นำเชิงลบต่อผู้ไว้หนวดเครา เช่น มีการเผยแพร่บทความให้คนโกน 'หนวดเคราปนเปื้อนเชื้อโรค' รวมถึงมีการเรียกร้องให้พยาบาลโกนหนวดเคราของคนไข้ในโรงพยาบาล เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อโรคตั้งแต่ต้นทาง

REUTERs-บัสเตอร์ คีตัน-ชาร์ลี แชปลิน (ที่ 3 จากซ้าย) โกนหนวดเมื่อปี 1918 ช่วงที่ชาติตะวันตกรณรงค์ว่าการไว้หนวดเคราเป็นแหล่งเชื้อโรค.JPG
  • ชาร์ลี แชปลิน (ที่ 3 จากซ้าย) นักแสดงชื่อดังในอดีต โกนหนวดที่เป็นสัญลักษณ์ทางการแสดง ในช่วงที่ไข้หวัดสเปนระบาดเมื่อ ค.ศ.1918

คริสโตเฟอร์ โอลด์สโตน-มัวร์ ศาสตราจารย์ด้านประวัติศาสตร์ของมหาวิทยาลัยไรต์สเตท ซึ่งศึกษาเรื่องหนวดเคราในสังคมอเมริกัน เปิดเผยกับ VOX ว่า กระแสต่อต้านการไว้หนวดเคราไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง แต่ก็ต้องยอมรับว่าความเชื่อเรื่องหนวดเคราสกปรกและเป็นแหล่งรวมจุลชีพต่างๆ เป็นสิ่งที่คนในศตวรรษที่ 20 และ 21 ยังเห็นด้วยอยู่เป็นจำนวนมาก 

แม้ปัจจุบันจะมีงานวิจัยเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างหนวดเครากับการเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคเผยแพร่ออกมาบ้าง แต่ก็มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ว่ากลุ่มตัวอย่างที่เก็บข้อมูลนั้นมีจำนวนน้อยเกินไป ขาดความหลากหลายด้านวัฒนธรรมและพฤติกรรมของผู้ไว้หนวดเคราในแต่ละท้องถิ่น

ภาพปก: Alexandre Lecocq on Unsplash

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: