เมื่อนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ประกาศว่าจะเก็บภาษีนำเข้าเหล็ก 25% และอลูมิเนียม 10% ในระหว่างการเยือนสหรัฐฯ ของที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจของนายสีจิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนพอดี หลายฝ่าย รวมถึงจีนเองมองว่านี่คือการกดดันจีนโดยตรง เพราะทรัมป์ใช้วาทะโจมตีจีนเรื่องการทุ่มราคาเหล็กในสหรัฐฯ จนทำให้เหล็กผลิตในสหรัฐฯขายไม่ได้ มาตั้งแต่การหาเสียงประธานาธิบดีเมื่อปี 2016
อย่างไรก็ตาม จีนกลับประกาศว่าการขึ้นภาษีดังกล่าวแม้จะเป็นการท้าทายจีนโดยตรง แต่ธุรกิจของจีนกลับไม่กระทบมากนัก เพราะสหรัฐฯไม่ใช่คู่ค้ารายใหญ่ของจีน ซึ่งหากดูตามสถิติของกระทรวงพาณิชย์สหรัฐฯปี 2017 ก็เป็นความจริงที่ว่าผู้ที่ส่งเหล็กเข้าสหรัฐฯมากที่สุด คือประเทศเพื่อนบ้านอย่างแคนาดา มากถึง 16% ตามด้วยบราซิล เกาหลีใต้ เม็กซิโก รัสเซีย ตุรกี ญี่ปุ่น ไต้หวัน เยอรมนี และอินเดีย ยังไม่มีจีนติดอัน 1 ใน 10 เลยด้วยซ้ำ
ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ออกมาตอบโต้การเตรียมทำสงครามการค้าของสหรัฐฯ จึงไม่ใช่มหาอำนาจฝ่ายตรงข้ามอย่างจีน แต่เป็นแคนาดาและอียู โดยนายจัสติน ทรูโด นายกรัฐมนตรีแคนาดา ประกาศว่าจะตอบโต้แน่นอนหากทรัมป์ตั้งกำแพงภาษีจริง ส่วนทางอียู คณะกรรมาธิการด้านการค้าก็ยืนยันว่าล่าสุด กำลังมีการพิจารณาเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ รายการสำคัญๆที่เป็นสินค้าหลัก เช่น ผลิตภัณฑ์เสื้อผ้ายีนส์ลีวายส์ และวิสกี้ยี่ห้อเบอร์เบิร์น รวมถึงจักรยานยนต์ฮาร์ลีย์ เดวิดสัน และทันทีที่มีการตั้งกำแพงภาษี อียูก็จะยื่นฟ้องต่อองค์การการค้าโลก หรือ WTO
อียูยังยืนยันอีกด้วย���่าจับตามองแนวโน้มการทำสงครามการค้าจากรัฐบาลทรัมป์มาระยะหนึ่งแล้ว เพราะนายทรัมป์แสดงท่าทีว่าจะกีดกันการค้าประเทศอื่นมาอย่างต่อเนื่อง และอียูก็จำเป็นต้องออกมาตรการตอบโต้โดยการขึ้นภาษี ซึ่งอียูย้ำว่าการทำเช่นนี้เพื่อ 'ตอบโต้' แต่ไม่ต้องการ 'ยกระดับ' สงครามการค้าครั้งนี้ ซึ่งในความเป็นจริงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เนื่องจากค่อนข้างแน่นอนว่าการขึ้นภาษีจากอียูจะทำให้รัฐบาลทรัมป์ไม่พอใจอย่างมาก
และหากอียูกับสหรัฐฯ รวมถึงแคนาดา ทำสงครามการค้าตอบโต้กันจริง โดยมีจีนเข้าร่วมด้วย ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกไม่มากก็น้อย และจะยังเป็นการบ่งชี้ทิศทางของการกีดกันการค้าที่อาจเข้ามาแทนที่นโยบายการค้าเสรีไร้พรมแดนแบบที่เป็นมาตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมาอีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม: ทรัมป์ขู่เก็บภาษีรถนำเข้าจากยุโรป