ไม่พบผลการค้นหา
ในประเทศที่คนตาดีก็ใช้มือคลำช้าง ไม่ยอมใช้สายตา

           รู้จักนิทานเรื่อง ‘ตาบอดคลำช้าง’ กันไหมครับ?

           เรื่องของเรื่องนั้นมีอยู่ว่า มีคนตาบอด 6 คน ต้องทำภารกิจบรรยายรูปลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า ‘ช้าง’ ให้คุณครูของพวกเขาได้รับฟัง แต่พวกเขาต่างก็พิการทางสายตามาตั้งแต่กำเนิด ดังนั้นจึงไม่เคยเห็นว่าช้างนั้น มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรมาก่อน? ทางเดียวที่กระทำได้ก็คือทำความรู้จักช้าง ผ่านการลูบคลำเท่านั้น

           และในบรรดาพวกเขาคนหนึ่งลูบคลำที่ส่วนขาของช้างก็บอกว่า ช้างหน้าตาเหมือนเสา ส่วนอีกคนไปจับช้างเข้าที่ส่วนหางก็ทึกทักไปว่า ช้างหน้าตาเหมือนเชือก  อีกคนหนึ่งจับโดนช้างที่งวง ก็บอกช้างคล้ายเถาวัลย์ ในขณะที่คนที่จับโดนหู ก็บอกช้างเป็นใบพัด คนที่จับเข้าที่ท้อง ก็เถียงว่าช้างเหมือนกำแพงต่างหาก ก่อนที่คนสุดท้ายที่จับเข้าที่งาจะเถียงว่า ช้างมันมีลักษณะเหมือนท่อตันๆ ต่างหาก

           เมื่อผลสอบออกมาเป็นอย่างนี้ คุณครูของพวกเขา ซึ่งไม่ได้เป็นผู้พิการทางสายตามาจากไหน จึงสรุปผลสอบให้ฟังว่า พวกเขาต่างก็บรรยายลักษณะของช้างได้ถูกต้อง แต่ทุกคนก็บรรยายถูกแค่เพียงบางส่วนของช้าง ไม่ใช่ตัวของช้างทั้งหมด คติที่ได้จากเรื่องนี้ก็คือ ทุกคนต่างก็เข้าใจความเป็นจริงอย่างจำกัด พวกเขาอาจจะไม่ได้ดวงตามืดบอด หากแค่มองเห็นความจริงเพียงมุมเดียวเท่านั้นเอง

           ว่ากันว่า นิทานเรื่องนี้เป็นของศาสนาเชน ซึ่งก็คือศาสนาที่เน้นการบำเพ็ญทุกกรกิริยา ที่มีอยู่เฉพาะในชมพูทวีป (หมายถึง ดินแดนอันมีอินเดียเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรม) แต่เอาเข้าจริงแล้ว นิทานที่มีพล็อตเรื่องอย่างเดียวกันนี้ก็มีอยู่ใน นานาดิตถิยสูตร ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งในพระไตรปิฎกของพุทธศาสนา ที่มีรากเหง้ามาจากแถบๆ ประเทศอินเดีย แถมยังถือกำเนิดขึ้นในช่วงเวลาใกล้เคียงกับศาสนาเชนด้วย เพียงแต่ว่านิทานเรื่องตาบอดคลำช้างในศาสนาพุทธนั้น มีรายละเอียดแต่ต่างออกไปเล็กน้อยก็เท่านั้น

           ในเวอร์ชั่นของชาวพุทธ ไม่ใช่คุณครูที่สั่งให้ลูกศิษย์ตาบอดไปคลำช้าง แต่เป็นพระราชาพระองค์หนึ่ง ที่ทรงมีพระกระแสรับสั่งให้คนตาบอดในประเทศของพระองค์ มาทดลองคลำช้างดูกันเอง แถมจำนวนคนตาบอดก็ไม่ได้มีแค่ 6 เพราะมีให้เพียบขึ้นไปอีก 3 หน่อ จนสิริรวมทั้งสิ้นเป็น 9 คน ซึ่งก็แน่นอนด้วยว่าต่างฝ่ายต่างคลำ แล้วก็ได้ผลลัพธ์แตกต่างกันไปเหมือนกับนิทานในศาสนาเชนนั่นแหละ

           แต่นิทานเรื่องเดียวกันนี้ ศาสนาพุทธใช้สำหรับการเปรียบเทียบว่า พวกเดียรถีย์ ซึ่งในพระไตรปิฎกหมายถึง นักบวชนอกศาสนาพุทธสารพัดกลุ่ม (แน่นอนว่าย่อมรวมถึง นักบวชในศาสนาเชนด้วย) ไม่ใช่หมายถึงผู้ประพฤตินอกธรรมวินัย อย่างความหมายในปัจจุบันนั้น ก็ไม่ต่างอะไรไปจากหมู่คนตาบอดที่ไปคลำช้างนี่เอง

           ดังนั้นไม่ว่าใครจะเห็นด้วย หรือศรัทธาในศาสนาใดก็ตาม แต่อย่างน้อยทั้งศาสนาพุทธ และศาสนาเชน ต่างก็ใช้นิทานเรื่องนี้เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่จะหมายถึง ‘ความบอดมืดทางใจ’ มากไปกว่า ‘ความมืดบอดของสายตา’ อย่างตรงตามตัวอักษรนะครับ

เพราะเอาเข้าจริงแล้ว พวกเดียรถีย์ที่พระพุทธศาสนาหมายถึง ก็ไม่ได้แปลว่า ผู้ที่พิการทางสายตาเสียหน่อย?

แถมการเปรียบเทียบในลักษณะนี้ไม่ได้มีอยู่เฉพาะนิทานในศาสนา ที่มีต้นกำเนิดอยู่ในชมพูทวีปเท่านั้นด้วย เพราะใครต่อใครจากดินแดนทางทิศตะวันตกของเอเชียชนอย่างเราๆ ก็มีคำพังเพยที่พูดถึงความมืดบอดทางใจ โดยเปรียบเทียบกับความพิการทางสายตา ไม่ต่างกันนัก โดยคำพังเพยประโยคนั้นก็คือ

“If you not learn from History. You are one-eye blind. If you totally believe in History. You are two-eyes blind.” ซึ่งอาจจะทำซับไตเติ้ลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ถ้าคุณไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ คุณก็ตาบอดไปข้างหนึ่ง แต่ถ้าคุณเชื่อถือทั้งหมดในประวัติศาสตร์ ตาคุณก็มืดบอดไปหมดทั้งสองข้าง”

แน่นอนนะครับว่า การที่จะ ‘รู้’ หรือ ‘ไม่รู้’ อะไรที่ฟังดูยากๆ แถมฟังแค่ชื่อก็ยังน่าเบื่ออย่าง ‘ประวัติศาสตร์’ นั้น คงจะไม่ให้ตาของใครต่อใครบอด ไม่ว่าจะบอดเพียงข้างเดียว หรือบอดมันทั้งสองข้าง ไปได้จริงๆ

อาการบอดที่ว่าก็จึงหมายถึงอาการบอดมืดของจิตใจ ไม่ต่างไปจากคติธรรมที่แฝงอยู่ในนิทานเรื่อง ตาบอดคลำช้าง เมด อิน อินเดีย ทั้งสองเวอร์ชั่น จากคนละศาสนา ที่ผมเล่ามาให้ฟังข้างต้นนั่นแหละ

ส่วนจะบอดข้างเดียว หรือสองข้างนั้น ก็เป็นเพียงแค่การเปรียบเปรยว่า ใครจะมีจิตที่บอดมืด เสียจนใจดำอำมหิตอยู่ในเลเวลไหน? โดยเปรียบเทียบเข้ากับอาการพิการของดวงตา ที่มนุษย์โดยทั่วไปนั้น มีอยู่คนละสองดวงเท่านั้นเอง

ดังนั้นแล้ว ระหว่างบรรทัดของนิทานเรื่องตาบอดคลำช้าง (ไม่ว่าจะของศาสนาใด) และคำพังเพยฝรั่งข้างต้นนั้น ก็คือการกล่าวถึงความเลวร้ายจากอาการ ‘ใจบอด’ ของคนตาดี มากกว่าที่จะหมายถึงคนตาบอดนะครับ

เพราะอาการ ‘ใจบอด’ ที่ว่านั้นก็คือการเลือกที่จะมองเฉพาะส่วนที่ตัวเองเห็น หรืออยากเห็นเพียงส่วนเดียว ไม่ต่างไปจากการปิดตา แล้วเอามือคลำลงไปที่อวัยวะบางส่วนของตัวช้างเลยต่างหาก

และก็เป็นอย่างนี้อีกเช่นกัน ที่ทำให้อาการ ‘ใจบอด’ ไม่ใช่อาการเฉพาะของคนตาดี หรือผู้ที่ไม่พิการทางสายตาเท่านั้น แต่ผู้ที่ตาบอดนั้นก็ยังสามารถที่จะมีอาการใจบอดได้ด้วย ในเมื่อความบอดใบ้ที่ว่านั้น มันมาจากใจนี่ครับ ไม่จำเป็นต่้องใช้สายตาเสียหน่อย

โดยเฉพาะเมื่อความใจบอด นั้นยังพิงอยู่บนพนักนุ่มของกฎหมายที่ทำให้ใครต่อใครต้องเป็นใบ้ ของประเทศนี้อีกต่างหาก

แค่ตาบอดคลำช้างก็แย่แล้ว นี่ยังมาคลำกันในประเทศที่ทั้งส่งเสริม และสนับสนุนอย่างเป็นทางการให้คนตาดี ใช้มือคลำช้าง โดยไม่ต้องสนประจักษ์พยาน จากสายตาของตนเองอีกต่างหาก

จะมีประเทศไหนอยู่อย่างนี้กันได้จริงๆ หรือครับ?

Siripoj Laomanacharoen
0Article
0Video
0Blog