ไม่พบผลการค้นหา
องค์การอนามัยโลกรายงานว่า เด็กกว่าร้อยละ 90 หายใจรับมลพิษจากอากาศเข้าสู่ร่างกาย โดยเฉพาะในประชากรเด็กที่อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ต่ำและรายได้ปานกลาง

รายงานขององค์การอนามัยโลก หรือ WHO เรื่องมลพิษทางอากาศและสุขภาพเด็กระบุว่า มลพิษทางอากาศส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กหลายล้านคนทั่วโลก ซึ่งภาวะอากาศเป็นพิษนี้จะไปทำลายระบบประสาทและนำไปสู่การเสียชีวิตของเด็กจำนวนหลายแสนคน ทาง WHO ประเมินว่าในปี 2559 มีเด็กประมาณ 600,000 คน เสียชีวิตจากการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ซึ่งมีสาเหตุมาจากมลพิษทางอากาศ

ขณะที่ หญิงตั้งครรภ์เมื่อได้รับการสูดดมอากาศที่เป็นพิษนี้มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด และทารกที่เกิดมีแนวโน้มที่จะตัวเล็กและน้ำหนักตัวต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานทั่วไป 

นอกจากนี้ มลพิษทางอากาศยังส่งผลกระทบต่อการพัฒนาระบบประสาท และความสามารถในกระบวนการรับรู้และอาจนำไปสู่การเป็นโรคหอบหืดและโรคมะเร็งในเด็กได้ด้วยเช่นกัน ส่วนเด็กที่สูดดมอากาศที่เป็นพิษเป็นระยะเวลานานจะมีความเสี่ยงสูงในการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจในอนาคตได้

ดร. เท็ดรอส อัดฮานอม ผู้อำนวยการทั่วไปของ WHO กล่าวกับเดอะการ์เดี้ยน ว่า มลพิษทางอากาศเปรียบเสมือน 'บุหรี่ประเภทใหม่' การสูดดมมลพิษเหล่านี้สามารถคร่าชีวิตประชากรทั่วโลก 7 ล้านคนต่อปี และเป็นอันตรายต่อประชากรอีกหลายล้านคนเช่นเดียวกัน 

ทั้งนี้ ในรายงานยังกล่าวว่า กว่าร้อยละ 93 ของเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปีทั่วโลกสูดดมอากาศที่มีค่ามลพิษสูงโดยเฉพาะค่า PM.2.5 ที่ส่วนใหญ่เกินเกณฑ์มาตรฐานที่ทาง WHO กำหนด ซึ่งในที่นี้มีเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี อยู่ถึง 630 คนล้าน และเด็กที่อายุต่ำกว่า 15 ปี มีจำนวน 1,800 ล้านคน และสำหรับในประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลางนั้น อัตราของเด็กที่หายใจรับมลพิษทางอากาศนี้เข้าไปจะพุ่งสูงถึงร้อยละ 98 

กว่าร้อยละ 40 ของมลพิษทางอากาศที่เด็กสูดดมเข้าไปนั้นมาจากมลพิษทางอากาศภายในบ้าน โดยเฉพาะการประกอบอาหารที่ส่วนใหญ่มีการใช้เชื้อเพลิงในการเผาไหม้เพื่อประกอบอาหารและเทคโนโลยีที่ก่อให้เกิดมลพิษ

ดร.มาเรีย ไนร่า ผู้อำนวยการด้านสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมของ WHO กล่าวว่า การลดการปล่อยมลพิษที่มีหลากหลายวิธีทั้งการเปลี่ยนเทคนิคการประกอบอาหาร ด้วยการส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีและเชื้อเพลิงที่สะอาด การเพิ่มที่อยู่อาศัยที่ประหยัดพลังงาน การปรับปรุงการวางผังเมืองเพื่อลดการขนส่ง รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยีที่ปลอดภัยและการปรับปรุงการจัดการระบบขยะมูลฝอยให้ดีขึ้น