ไม่พบผลการค้นหา
พล.อ.ประยุทธ์ บอกอาจมีการเข้าใจคลาดเคลื่อนกรณีสั่งแก้ปัญหาจราจรให้ได้ภายใน 3 เดือน เพียงแต่ได้สั่งการให้หน่วยงานหามาตรการใหม่มาเสนอเพื่อลดปัญหาให้ได้มากสุดภายใน 3 เดือน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. กล่าวว่า จากรายงานข่าวที่ระบุว่า รัฐบาลจะแก้ไขปัญหาจราจรให้ได้ภายใน 3 เดือนนั้น อาจเป็นความเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยนายกฯ ไม่ได้หมายความว่าจะแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้ได้ภายใน 3 เดือน เพราะมีปัจจัยหลายอย่างที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบผังเมืองที่มีมาตั้งแต่อดีต การอยู่ในระหว่างการก่อสร้างรถไฟฟ้า ทั้งใต้ดิน-บนดิน, ปริมาณรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ในกรุงเทพฯ ที่มีจำนวนมากถึง 9.7 ล้านคัน ซึ่งมากกว่าจำนวนรถที่เหมาะสมถึง 8 เท่า กับเมื่อเทียบกับเส้นทางถนนภายในพื้นที่กรุงเทพฯ

อย่างไรก็ตาม ได้สั่งการให้หน่วยงานหามาตรการใหม่มาเสนอให้นายกฯ พิจารณา เพื่อที่จะลดปัญหาการจราจรติดขัดให้ได้มากที่สุดภายใน 3 เดือน

หลังจากการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมราชการด้านการจราจร เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (15 ส.ค. 2561) และได้รับฟังการบรรยายสรุปการบริหารจัดการและพัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทาง (ล้อ ราง เรือ) ของกรุงเทพมหานคร โดยจะต้องอาศัยระยะเวลาในการทำงานด้วยการเร่งสร้างโครงการต่าง ๆ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อการสัญจรทั้งทางไปและกลับของประชาชนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล 

ทั้งนี้ ปัญหาการจราจรติดขัดเป็นปัญหาที่สะสมต่อเนื่องมาจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจ และการขยายตัวของเมืองที่ไร้ยุทธศาสตร์ ไร้ข้อจำกัด ขณะเดียวกันการสัญจรของรถต้องอาศัยถนนเป็นหลัก ซึ่งกรุงเทพมหานครมีถนนประมาณ 4,300 กิโลเมตร เป็นถนนสายหลัก เพียง 1 ใน 4 เท่านั้น หากเทียบพื้นที่ถนนเป็นร้อยละ กรุงเทพมหานคร มีเพียงร้อยละ 6.8

ขณะที่ มหานครเมืองใหญ่ ๆ ของโลก เช่น นิวยอร์ก ลอนดอน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มีพื้นที่ถนนร้อยละ 21 - 36 เป็นต้น 

ส่วนการเดินทางข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา จากการศึกษา พบว่าในปี 2564 ประชาชนมีความต้องการข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามากขึ้นอีกประมาณ 480,000 คนต่อวัน และในอีก 10 ปีข้างหน้าจะเพิ่มขึ้นเป็น 840,000 คนต่อวัน

ดังนั้น จึงมีแนวทางแก้ปัญหาเหล่านั้น ด้วยการส่งเสริมให้ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล พร้อมหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ โดยเฉพาะการผลักดันให้ระบบรางเป็นแกนหลักในการเดินทางและขนส่ง สำหรับพื้นที่กรุงเทพ และปริมณฑล ภายในปี 2575 จะต้องเร่งลงทุนสร้างโครงข่ายรถไฟฟ้าให้ครบ ทั้ง 10 สาย ระยะทางรวม 464 กิโลเมตร ประกอบกับนโยบาย "One Transport" ที่ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่อการเดินทางล้อ ราง เรือ แบบไร้รอยต่อ เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกให้เข้าถึงบริการระบบขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ทั้งรถองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) รถตู้ประจำทาง วินมอเตอร์ไซค์ รถไฟฟ้า เรือด่วนเจ้าพระยา เป็นต้น 

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ก่อสร้างถนน ให้คำนึงถึงความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการลดช่องทางจราจรให้มีการตั้งป้ายให้สัญญาณล่วงหน้าเพื่อไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ โดยขอให้ทุกคนทำหน้าที่ในส่วนของตนในการเคารพกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ตลอดจนผู้ใช้รถยนต์ รถจักรยานยนต์ การมีวินัย คิดถึงเพื่อนร่วมทางให้มากยิ่งขึ้น เพื่อความปลอดภัยของตนเองและผู้อื่น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :