ไม่พบผลการค้นหา
กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน ยืนยันกฎหมายคุ้มครองแรงงานกำหนดให้การเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้าง และลูกจ้างที่มีอายุ 60 ปี มีสิทธิขอเกษียณอายุได้ และได้รับค่าชดเชยตามอายุงาน หากนายจ้างฝ่าฝืนมีความผิดตามกฎหมาย

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยรายละเอียดการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 เพื่อให้ผู้ใช้แรงงานได้รับการคุ้มครองที่ดียิ่งขึ้น โดยกฎหมายกำหนดให้การเกษียณอายุถือเป็นการเลิกจ้าง และลูกจ้างมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามอายุงาน สำหรับกำหนดการเกษียณอายุนั้น ขึ้นอยู่กับว่านายจ้างจะกำหนด หรือตกลงกับลูกจ้างว่าจะให้เกษียณอายุเมื่อไร

ในกรณีที่ไม่ได้มีการกำหนดอายุเกษียณหรือกำหนดไว้เกิน 60 ปี กฎหมายเปิดให้ลูกจ้างที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป มีสิทธิที่จะแสดงเจตนาต่อนายจ้างว่าจะเกษียณอายุ และเมื่อแจ้งต่อนายจ้างแล้วครบ 30 วันนับตั้งแต่วันที่แจ้ง กฎหมายกำหนดให้นายจ้างจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามอายุงานให้แก่ลูกจ้างที่ขอเกษียณอายุด้วย

โดยลูกจ้างที่ทำงานติดต่อกันครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าค่าจ้างอัตราสุดท้าย 30 วัน ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 90 วัน ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 180 วัน ลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 240 วัน และลูกจ้างทำงานติดต่อกันครบ 10 ปีขึ้นไป ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่า 300 วัน

หากนายจ้างไม่ปฏิบัติตาม มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง