มาสคอตที่ชนะใจเด็กนักเรียนประถมนั้นเป็นผลงานการออกแบบของริว ทานิกูจิ ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ผู้ออกแบบผลงานที่เข้ารอบสุดท้าย โดยมาสคอต 2 ตัวเป็นการผสมผสานคาแรกเตอร์ของสิ่งมีชีวิตต่างๆ เข้าด้วยกัน และมี 'พลังพิเศษ' ของแต่ละตัวโดยเฉพาะ
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่ามาสคอตตัวสีน้ำเงินซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก มีลักษณะนิสัยรักความยุติธรรม แข็งแรง และมีพลังวิเศษ "สามารถเคลื่อนไหวได้เร็วกว่าแสง"
ขณะที่มาสคอตสีชมพูซึ่งมีนัยน์ตาเหมือนกวางประดับด้วยกลีบซากุระจะเป็นสัญลักษณ์สำหรับการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก สื่อถึงความอ่อนน้อมแต่ก็แข็งแกร่ง โดยความสามารถพิเศษของมาสคอตตัวนี้คือ สามารถพูดกับก้อนหินและสายลม รวมไปถึงสามารถเคลื่อนย้ายสิ่งของด้วยพลังจิตแห่งการมอง
มิยุ คาวะ นักเรียนชั้นประถมวัย 12 ปี กล่าวว่า มาสคอตที่เลือกมาทั้ง 2 ตัวนี้มีเอกลักษณ์และดูทันสมัย ขณะที่บางกระแสในสังคมออนไลน์ของญี่ปุ่นกล่าวว่า อยากให้มาสคอตนั้นมีความน่ารักและน่ากอดกว่านี้
ขณะที่อาซาฮีชิมบุนรายงานว่าผลงานออกแบบของทานิกูจิได้รับคะแนนโหวตทั้งหมด 109,041 คะแนน ส่วนอันดับ 2 และ 3 ได้คะแนน 61,423 และ 35,291 คะแนน จากการโหวตของนักเรียนในโรงเรียนประถม 16,769 แห่งทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 205,755 ห้องเรียน ซึ่งแต่ละห้องเรียนจะลงคะแนนเลือกมาสคอตที่ชอบที่สุดได้เพียงแบบเดียวเท่านั้น
ธุรกิจที่มากับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก
ญี่ปุ่นเป็นประเทศต้นกำเนิดของตุ๊กตาเฮลโล คิตตี้ และโปเกม่อน และมาสคอตแต่ละแบบกลายเป็นตัวแทนของทุกอย่าง ตั้งแต่ตัวแทนของชุมชนจนไปถึงเรือนจำ มาสคอตสามารถทำเงินให้แก่อุตสาหกรรมนี้ได้เป็นอย่างมาก เมื่อปี 2010 จังหวัดคุมะโมโตะ สร้างมาสคอตตัวแทนของจังหวัดเป็นตุ๊กตาหมีสีดำ 'คุมะมง' ซึ่งมาสคอตดังกล่าวสามารถทำเงินให้แก่ธุรกิจต่างๆ ได้กว่า 8.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา
ยูริโกะ โคอิเกะ ผู้ว่าการกรุงโตเกียว กล่าวว่า มาสคอตที่ถูกเลือกนี้จะทำเงินและเป็นกระแสให้กับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่กำลังจะมาถึงภายใน 2 ปีนี้ได้ ซึ่งมีเวลาเหลือไม่ถึง 900 วันก่อนจะถึงพิธีเปิดการแข่งขัน
ทั้งนี้ สำนักงานบริหารกรุงโตเกียวคาดหวังว่า มาสคอตสำหรับกีฬาโอลิมปิกปี 2020 จะประสบความสำเร็จเหมือนมาสคอตการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ซึ่งสามารถขายตุ๊กตามาสคอตได้มากกว่า 100,000 ตัวในปีที่ผ่านมา
และในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเมื่อปี 2016 ที่บราซิล มาสคอตแมวสีเหลืองที่เป็นสัญลักษณ์ของการแข่งขัน รวมไปถึงมาสคอตของการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกที่มีศีรษะเป็นใบไม้ สามารถสร้างกำไรจากการขายลิขสิทธิ์สินค้าตลอดการแข่งขันได้มากกว่า 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: