ไม่พบผลการค้นหา
ภาพยนตร์เรื่องไหนจะใช้เทคนิค long take ได้โหดกว่ากัน

หนึ่งในศัพท์เทคนิคด้านภาพยนตร์ที่เราได้ยินกันบ่อยคือคำว่า ‘ลองเทค’ (Long take) หมายถึงการถ่ายยาวโดยไม่ตัดต่อเป็นเวลานาน นึกภาพง่ายๆ ถึงตอน 6 ของซีรีส์สุดฮอตช่วงนี้ The Haunting of Hill House ที่เป็นฉากเหล่าตัวละครทุ่มเถียงกันในห้องที่มีความยาวกว่า 15 นาที แน่นอนว่าเทคนิคลองเทคตามมาซึ่งความยุ่งยาก นักแสดงและทีมงานต้อง ‘เป๊ะ’ ทุกอย่าง ไม่ว่าจะบทพูด ตำแหน่งตัวละคร การเคลื่อนกล้อง สมมติว่านักแสดงเกิดจำบทไม่ได้หรือพูดผิด นั่นก็แปลว่าต้องเริ่มถ่ายทำใหม่ทั้งหมด

หนังอีกเรื่องที่มีการใช้ลองเทคและเป็นที่ฮือฮาในช่วงนี้หนีไม่พ้นหนังญี่ปุ่น One Cut of the Dead (เข้าฉายในบ้านเราด้วยชื่อ ‘วันคัท ซอมบี้งับๆๆๆ’) หนังอินดี้ทุนสร้างเพียง 3 ล้านเยน แต่กวาดเงินในบ้านเกิดไปถึง 1100 ล้านเยน ความโดดเด่นของหนังอยู่ที่การเปิดด้วยฉากลองเทคความยาวถึง 37 นาที เป็นเรื่องราวว่าด้วยกองถ่ายหนังซอมบี้ในโรงงานร้างที่ผู้กำกับยังคงยืนยันจะถ่ายหนังต่อไป แม้ว่าจะมีซอมบี้จริงๆ โผล่มา!


ปกติแล้วหนังที่ใช้การลองเทคมักมีลักษณะ ‘โชว์พาว’ ถึงความเป๊ะหรือความอลังการของการเคลื่อนกล้อง (The Haunting of Hill House ก็เข้าข่าย) หากแต่ฉากลองเทคของ One Cut of the Dead กลับไม่เป็นเช่นนั้น การถ่ายภาพเต็มไปด้วยแฮนด์เฮลด์ บางฉากเอากล้องไปวางที่พื้นเสียเฉยๆ นักแสดงก็ดูเล่นแบบชวนงง หลายฉากมีเดดแอร์แสนกระอักกระอ่วน โดยรวมกลายเป็นการนั่งดูหนังห่วยๆ ความยาวราวครึ่งชั่วโมง จนคนดูบางคนถึงขั้นเดินออก

One Cut of the Dead


ทว่านี่แหละคือลูกบ้าของผู้กำกับ ชินอิจิโระ อุเอดะ ที่วางพนันไว้ว่าผู้ชมจะอดทนดูหนังจนจบหรือไม่ เพราะหากนั่งดูต่อก็จะได้พบกับรางวัลแสนยิ่งใหญ่

ครึ่งหลังของหนังที่มีความยาวประมาณหนึ่งชั่วโมงเป็นการเฉลยเรื่องราวว่าเหตุใดไอ้หนังลองเทคครึ่งแรกมันถึงออกมาห่วยแตกขนาดนั้น หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็น ‘เบื้องหลังการถ่ายทำ’ นั่นเอง ซึ่งเนื้อหาส่วนนี้เต็มไปด้วยสถานการณ์วายป่วงฮาแตก ถึงขั้นมีหลายฉากที่คนดูพร้อมใจกันปรบมือ ส่วนผู้เขียนก็ได้แต่อุทานในใจว่า ‘คิดได้ไง (วะ) เนี่ยยยย’

อย่างไรก็ดี One Cut of the Dead ไม่ใช่หนังทำเอาฮาอย่างเดียว หนังสะท้อนทั้งนิสัยการทำงานจริงจังเกินเหตุของคนญี่ปุ่น และธรรมชาติของการทำหนังที่ไม่สามารถทำคนเดียวได้ แต่ต้องเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของคนมากมายในตำแหน่งต่างๆ ไม่น่าแปลกใจเลยที่คนในแวดวงภาพยนตร์หลายคนถึงขั้นร้องไห้กับฉากจบของหนัง        

อีกบทเรียนสำคัญที่หนังให้กับเราคือท่ามกลางอุตสาหกรรมภาพยนตร์ที่เต็มไปด้วยหนัง ‘จักรวาล’ ทุนสร้างสูง หนังทุนต่ำที่เน้นขาย ‘ไอเดีย’ ก็ยังมีพื้นที่ของมัน แม้อาจไม่ใช่หนังทุกเรื่องที่โชคดีแบบ One Cut of the Dead

One Cut of the Dead


ทีนี้ขอกลับมาที่เรื่องการลองเทค ยังมีลองเทคอีกประเภทที่ถือว่าเป็นขั้นสูงสุด นั่นคือการถ่ายหนังทั้งเรื่องแบบเทคเดียวจบ (One single take) หรือที่เรียกว่า ‘วันช็อต’ (One shot)

พูดถึงหนังวันช็อต หลายคนอาจนึกถึง Birdman (2014) ที่ดูเผินๆ เหมือนจะถ่ายยาวแบบเทคเดียวทั้งเรื่อง แต่แท้จริงแล้วหนังมีการตัดต่ออยู่หลายครั้ง แต่เป็นการตัดต่อที่ทำให้คนดูไม่รู้สึก เช่น การตัดต่อระหว่างการแพนกล้อง (การหันกล้องจากซ้ายไปขวาหรือกลับกัน) อย่างรวดเร็ว หรือกระทั่งการใช้คอมพิวเตอร์กราฟิกเข้าช่วย (ลองดูวิดีโอเฉลยได้ที่นี่) Birdman จึงมีลักษณะเป็นหนังวันช็อตเทียม (Pseudo one shot)

ส่วนหนังที่เป็น ‘วันช็อตแท้’ (Actual one shot) คือถ่ายยาวแบบไม่มีการตัดต่อเลยจริงๆ ก็มีอยู่หลายเรื่อง หนังดังกลุ่มนี้เช่น Russian Ark (2002) อันเป็นหนังที่กล้องตามติดตัวละครไปเรื่อยในพระราชวังฤดูหนาว เมืองเซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เป็นเวลาทั้งหมด 96 นาที หรือหนังวันช็อตที่สร้างกระแสของปีนี้ก็คือหนังนอร์เวย์ Utoya – July 22

ก่อนจะว่าถึงตัวหนัง ต้องทบทวนความจำกันก่อนว่าวันที่ 22 กรกฎาคม 2011 ถือเป็นวันที่ชาวนอร์เวย์อยากจะลืม มันคือวันที่ผู้ก่อการร้ายแนวคิดขวาจัด อันเดอร์ส เบห์ริง เบรวิก ได้วางระเบิดกลางกรุงออสโล ต่อจากนั้นก็ปลอมตัวเป็นตำรวจขึ้นเรือไปยังเกาะอูโทยาที่กำลังจัดค่ายเยาวชนของพรรคแรงงาน เบรวิกใช้ปืนกราดยิงหนุ่มสาวมากมายบนเกาะนั้น จนมีคนเสียชีวิตไป 69 คน ก่อนที่จะยอมให้ตำรวจจับกุมแต่โดยดี

ปี 2018 ถือเป็นปีที่ประหลาด มีหนังว่าด้วยโศกนาฏกรรมนอร์เวย์ปี 2011 ออกฉายถึงสองเรื่อง ฝั่งหนึ่งคือ 22 July ของพอล กรีนกราสส์ ที่พยายามเล่าทุกมุมมองของผู้เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์นี้ ทั้งเหยื่อ ครอบครัวของเหยื่อ ผู้ก่อการร้าย และฝั่งรัฐบาล แต่ผลออกมาว่าหนังมีลักษณะหว่านๆ ไปเสียหมด ไม่ได้เจาะลึกอะไรสักอย่าง แถมหนังยังถูกตำหนิว่าทั้งที่ถ่ายทำในนอร์เวย์และใช้นักแสดงนอร์เวย์ล้วนๆ แต่หนังกลับพูดภาษาอังกฤษซะงั้น


ส่วนอีกฝั่งคือ Utoya – July 22 ของเอริค ป็อปป์ ซึ่งจุดแข็งไม่ใช่เพียงผู้กำกับเป็นชาวนอร์เวย์ แต่หนังเลือกโฟกัสเฉพาะเหตุการณ์กราดยิงเท่านั้น แถมยังถ่ายทำแบบเทคเดียวยาวรวดด้วย หนังยาวทั้งหมด 90 นาที โดย 18 นาทีแรกเป็นการเกริ่นนำถึงความเป็นอยู่ของเด็กๆ ที่มาเข้าค่ายบนเกาะอูโทยา ส่วน 72 นาทีหลังคือช่วงกราดยิงตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งตรงกับระยะเวลาก่อเหตุจริง


แน่นอนว่า Utoya – July 22 เป็นหนังที่ทำใจดูได้ยาก มันเต็มไปด้วยความกดดันและน่าสะเทือนใจ จุดประสงค์ของผู้กำกับคือการถ่ายทอดให้เราเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบนเกาะนั้นบ้าง เขาเน้นไปที่เหยื่อมากกว่าผู้ก่อการร้าย (เราได้เห็นฆาตกรเพียงฉากเดียวเท่านั้น แถมยังเป็นเงาลางๆ ด้วย) ซึ่งป็อปป์ก็พยายามไม่ให้หนังเรื่องนี้เป็นการ ‘หากินกับคนตาย’ ด้วยการสร้างเรื่องราวจากบทสัมภาษณ์ผู้รอดชีวิต และฉายหนังให้กับเหยื่อและครอบครัวดูก่อนด้วย

สิ่งที่คนสงสัยที่สุดคงเป็นเรื่องว่าป็อปป์ถ่ายทำหนังเรื่องนี้ได้อย่างไร คำตอบคือเขาถ่ายเรื่องนี้แบบรวดเดียวจบเป็นเวลา 5 วัน สุดท้ายแล้วผู้กำกับเลือกใช้ ‘เวอร์ชัน’ จากการถ่ายทำวันที่สี่ที่เขาคิดแบบสมบูรณ์แบบที่สุด นอกจากนั้นฟุตเทจของวันนี้ยังมีฉากที่อยู่ดีๆ มียุงมาเกาะแขนของนางเอกในขณะที่เธอกำลังนอนกอดศพเพื่อนอยู่ ป็อปป์รีบสื่อสารทางวิทยุให้ตากล้องถ่ายภาพโคลสอัพเอาไว้ เขาบอกว่ามันคือปาฏิหาริย์ที่จะไม่มีทางเกิดขึ้นอีก

ถึงกระนั้นไม่ว่าจะถ่ายทำอีกกี่วันอีกกี่ครั้ง ฉากจบของหนังก็จะลงเอยเหมือนเดิมคือการล้มตายของหนุ่มสาวมากมาย หนังเรื่องนี้จึงไม่ใช่มนต์วิเศษที่จะทำให้คนตายฟื้นคืนหรือโลกสงบสุขในทันทีทันใด แต่อย่างน้อยที่สุดมันน่ากระตุ้นเตือนผู้ชมให้ช่วยกันขบคิดว่า-ทำอย่างไรเรื่องน่าเศร้าเช่นนี้จะไม่เกิดขึ้นอีก