ไม่พบผลการค้นหา
กรมอุตุฯ พยากรณ์เกือบทุกภาคของประเทศมีฝนฟ้าคะนอง โดยเฉพาะภาคใต้อาจมีฝนตกหนักได้ในช่วงนี้ ด้าน สทนช. เฝ้าระวังฝนตกหนักอีกครั้งในภาคตะวันตกและตะวันออก โดยเฉพาะปริมาณน้ำฝนไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศ 24 ชั่วโมงข้างหน้า ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ มีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในระยะนี้ โดยมีฝนหนักบางแห่งในบริเวณภาคใต้ โดยบริเวณความกดอากาศสูงปกคลุมทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลจีนใต้ เข้ามาปกคลุมประเทศไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ในระยะนี้

ส่วนกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล มีเมฆเป็นส่วนมาก กับมีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 27-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันออกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-25 กม./ชม. 

โดย น.ส.สุกันยาณี ยะวิญชาญ ผู้อำนวยการกองพยากรณ์อากาศ กรมอุตุฯ เปิดเผยว่า กรมอุตุฯ คาดการณ์ว่าจะเกิดฝนจะเพิ่มขึ้นระหว่างวันที่ 19-21 ต.ค. จากอิทธิพลความกดอากาศสูงหรือมวลอากาศเย็น โดยเฉพาะตอนบนของประเทศ แต่ทั้งนี้ประเทศไทยยังไม่เข้าสู่ฤดูหนาวอย่างเป็นทางการ เนื่องจากอุณหภูมิต่ำสุดยังไม่ต่ำกว่า 23 องศาเซลเซียส ให้ได้มากกว่าร้อยละ 60 ของพื้นที่ในบริเวณประเทศไทยตอนบน ปริมาณฝนยังไม่ลดลงต่อเนื่อง และลมที่พัดปกคลุมตอนบนของประเทศลมระดับล่างต้องเป็นลมตะวันออกเฉียงเหนือหรือลมฝ่ายตะวันออก ส่วนลมระดับบนต้องเป็นลมฝ่ายตะวันตก ซึ่งยังไม่เข้าเกณฑ์เข้าสู่ฤดูหนาวของไทย ยกเว้นบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ด้าน นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า ช่วง 7 วันจากนี้ประเทศไทยยังคงมีฝนตกหนักและต่อเนื่องในหลายพื้นที่ของประเทศ โดยเฉพาะช่วงวันที่ 21-22 ต.ค. นี้ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ บริเวณภาคตะวันตกและตะวันออก อย่างจังหวัดเพชรบุรีและจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ อาจมีปริมาณฝนไหลเข้าเติมน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้ อย่างเขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี เขื่อนศรีนครินทร์ และเขื่อนวชิราลงกรณ เนื่องจากอิทธิพลจากหย่อมความกดอากาศต่ำ 

ทั้งนี้ ยังพบมีอ่างเก็บน้ำ 6 แห่ง มีแนวโน้มปริมาณน้ำต้นทุนน้อย คือ อ่างเก็บน้ำแม่มอก จังหวัดลำปาง, อ่างเก็บน้ำห้วยหลวง จังหวัดอุดรธานี, อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น, อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์, อ่างเก็บน้ำทับเสลา จังหวัดอุทัยธานี, และอ่างเก็บน้ำกระเสียว จังหวัดสุพรรณบุรี เนื่องจากปริมาณน้ำมีจำกัด จึงจำเป็นต้องจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค การรักษาระบบนิเวศ ทำให้ไม่สามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่เพาะปลูกนาปรังได้

เลขาธิการ สทนช. กล่าวย้ำว่า ได้วางแผนเก็บกักน้ำช่วงปลายฤดูฝนไว้ให้ได้มากที่สุด กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีแผนจะดำเนินการเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำน้อย รวมทั้ง พื้นที่การเกษตรด้านท้ายอ่างเก็บน้ำที่ต้องการน้ำ ส่วนกรมทรัพยากรน้ำบาดาลจะเร่งเพิ่มน้ำต้นทุนให้กับการผลิตน้ำประปาชนบทด้วย เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนให้เหลือน้อยที่สุด ที่สำคัญทุกภาคส่วนมีน้ำใช้เพียงพอตลอดฤดูแล้งนี้