ทีมชาติไนจีเรียสามารถเอาชนะโมร๊อคโคไปได้ 9 ประตูต่อ 4 ในรอบชิงฟุตบอลโลก ซึ่งไม่ใช่การแข่งขันฟุตบอลโลกตามความเข้าใจของคนทั่วไป แต่เป็นการแข่งขันฟุตบอลโลกสำหรับผู้ลี้ภัยซึ่งมีขึ้นในบราซิลเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา การแข่งขันนี้จัดขึ้นโดยข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ร่วมกับองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านผู้ลี้ภัยในบราซิล ซึ่งเป็นการจัดการแข่งขันไล่หลังฟุตบอลโลก 2014 ที่บราซิลเป็นเจ้าภาพ
ผู้เข้าแข่งขันมีทั้งหมด 250 คน แบ่งเป็น 16 ประเทศ มาจากผู้ลี้ภัยทั่วบราซิลที่มีอยู่ประมาณ 9,500 คน จุดประสงค์เพื่อจะใช้ฟุตบอลเป็นตัวเชื่อมให้ผู้ที่ลี้ภัยที่ออกจากประเทศบ้านเกิด สามารถปรับตัวเข้ากับประเทศใหม่ได้ดีขึ้น ซึ่งผู้ลี้ภัยหลายคนเป็นนักฟุตบอลอาชีพในประเทศต้นทาง
นอกจากนี้ UEFA ก็เคยได้จัดการฝึกซ้อมฟุตบอล และลีกการแข่งขันเล็กให้กับเด็กทั้งชายและหญิงซึ่งอาศัยอยู่ที่ค่ายผู้ลี้ภัย Za’atari ในจอร์แดนขึ้น เพื่อหวังช่วยเด็กๆ ให้ลืมเลือนภาพความสูญเสียจากสงคราม และให้วัยเด็กของพวกเขายังดำเนินไปตามปกติได้ภายในแคมป์ ซึ่งเด็กส่วนใหญ่เป็นชาวซีเรียที่ออกจากมาตุภูมิจากภัยของสงครามกลางเมือง
“ผู้คนชอบเขาในการเป็นนักฟุตบอล แต่พวกเขาไม่อยากมีบัวเต็งเป็นเพื่อนบ้าน” Alexander Gauland นักการเมืองจาก “Alternative für Deutschland” (AfD) พรรคฝ่ายขวาของเยอรมนี กล่าวถึง Jerome Boateng กองหลังทีมชาติเยอรมนีซึ่งมีเชื้อสายมาจากผู้อพยพชาวกานา โดย Gauland ได้กล่าวประโยคดังกล่าวกับหนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่ง หลังจากทีมชาติเยอรมนีได้แชมป์ฟุตบอลโลก 2014 ได้เพียงไม่นาน ท่ามกลางการยินดีกับความสำเร็จ เขากลับมองว่าทีมชาติเยอรมนีชุดแชมป์โลกนั้นไม่ได้มีความเป็นเยอรมนีดั้งเดิมอยู่ เพราะแทบจะไม่มีคนเยอรมนีแท้ๆ อยู่เลย แต่เต็มไปด้วยนักเตะที่มีภูมิหลังมาจากครอบครัวผู้อพยพ ซึ่งพรรคของ AfD มีนโยบายต่อต้านนโยบายการรับผู้ลี้ภัยและผู้อพยพของเยอรมนีอยู่แล้ว
แม้ว่าต่อมาจะมีการออกมาขอโทษจากทางพรรค แต่ก็มีการตอบโต้คำพูดดังกล่าวของ Gauland จากหลายคนอย่างประธานสมาคมฟุตบอลเยอรมนีที่บอกว่า เป็นการพูดที่ไร้รสนิยมเพื่อทำลายความนิยมของ Boateng นอกจากนี้ Julia Klöckner นักการเมืองจากพรรค Christian Democratic ยังได้โพสต์ทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า “มี Boateng เป็นเพื่อนบ้านยังดีกว่า Gauland” ไปจนถึงในสนามที่มีแฟนบอลชูป้ายที่มีข้อความว่า “Jerome ย้ายมาเป็นเพื่อนบ้านเรานะ” ในเกมอุ่นเครื่องระหว่างเยอรมนีกับสโลวาเนีย
ปรากฏการณ์ดังกล่าวนั้นแสดงให้เห็นว่าการต่อสู้ถกเถียงเรื่องผู้อพยพในเยอรมนียังมีอยู่อย่างดุเดือด แม้ว่าเยอรมนีจะเป็นประเทศที่เป็นมิตรกับผู้อพยพมากที่สุดประเทศหนึ่งในยุโรป สำนักงานสถิติของเยอรมนี เคยเปิดเผยตัวเลขเมื่อปีที่แล้วว่า ร้อยละ 22.5 ของประชากรในเยอรมนีมีภูมิหลังมาจากผู้อพยพต่างชาติ
กระแสคลื่นผู้ลี้ภัยในเยอรมนีครั้งใหญ่ๆ มีมาตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมนีได้รับผู้อพยพจำนวนมาก ซึ่งผู้มาใหม่เหล่านี้เป็นส่วนสำคัญในการสร้างประเทศเยอรมนีที่เพิ่งแพ้สงครามมา และคลื่นผู้ลี้ภัยครั้งใหญ่เกิดขึ้นอีกครั้งในยุคปัจจุบัน ที่เข้ามาพร้อมกับวิกฤตผู้ลี้ภัยทั่วยุโรป ความหวาดกลัวผู้ลี้ภัยได้ปลุกกระแสชาตินิยมกลับขึ้นมาอีกครั้งในยุโรป แม้เยอรมนีจะเป็นประเทศที่มีระบอบการปกครองและแนวคิดทางการเมืองที่ก้าวหน้าที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่การมีนโยบายเปิดประตูให้ผู้ลี้ภัยจำนวนมากของรัฐบาลชุดปัจจุบันก็ทำให้เกิดกระแสความไม่พอใจภายในประเทศอย่างสูง
วงการฟุตบอลในประเทศเยอรมนีหลายครั้งถูกใช้เป็นเวทีที่พูดถึงปัญหาผู้ลี้ภัย ข้อความ “Refugee Welcome” ถูกชูในสนามหลายครั้ง ในการแข่งขันบุนเดสลีกาลีกฟุตบอลสูงสุดของเยอรมนี ซึ่งการกระทำดังกล่าวก็ได้รับการสนับสนุนจากทางสมาคมฟุตบอลย่างดี มีการจัด เกมกระชับมิตรเพื่อผู้ลี้ภัย ที่มีสโมสร Borussia Dortmund ซึ่งมีจุดยืนที่สนับสนุนเรื่องนี้อย่างชัดเจนเป็นตัวหลัก
ฟุตบอลโลก 2006 ที่เยอรมนีเป็นชาติเจ้าภาพ มีปรากฏการณ์ที่ตื่นตาชาวโลก ในช่วงพิธีเปิดได้ใช้ธงประจำชาติ 3 สี แดง ดำ ทอง ในการแสดง ทั้งยังถูกประดับไปตามทั่วเมือง ซึ่งหลังจากหมดยุคนาซี ไม่ใช่เรื่องปกติสำหรับเยอรมนี ที่จะมีการแสดงออกถึงความรักชาติในที่สาธารณะแบบนี้ ในชุมชนผู้อพยพ ธงประจำชาติที่ประดับตามบ้านเรือนหลายแห่งกลับถูกฉีกหรือเผา ซึ่งมองได้ว่าเป็นการกีดกันผู้อพยพเหล่านั้นออกจากความเป็นชาติเยอรมนี
ต่อมาสมาคมฟุตบอลเยอรมนีได้ออกแคมเปญ Pro-Integration ที่สนับสนุนความหลากหลายทางวัฒนธรรมโดยมีการทำคลิปวีดีโอที่ประกอบไปด้วย พ่อแม่ของนักเตะในทีมชาติ ซึ่งมีความหลากหลายเชื้อชาติวัฒนธรรม เป็นการตอบโต้การกระทำของผู้พยายามแบ่งแยกผู้อพยพออกจากความเป็นเยอรมนี
ถึงแม้วงการฟุตบอลเยอรมนีจะยืนข้างผู้อพยพ แต่ล่าสุดก่อนฟุตบอลโลกครั้งนี้เริ่มขึ้นเพียงไม่ถึงเดือน ในเกมอุ่นเครื่องของเยอรมนีกับซาอุดิอาระเบีย แฟนบอลในสนามได้โห่ใส่ Ilkay Gundogan กองกลางทีมชาติ ผู้มีเชื้อสายมากจากผู้อพยพชาวตุรกี จน Joachim Low ผู้จัดการทีมชาติต้องออกมาแสดงความไม่พอใจต่อการกระทำของแฟนบอล
มันแสดงให้เห็นว่าการเหยียดเชื้อชาติของนักเตะในทีมชาติเยอรมนียังคงมีอยู่ ฟุตบอลยังคงถูกใช้เป็นพื้นที่การต่อสู้เรื่องเชื้อชาติอยู่เสมอมา จึงไม่ใช่แค่คู่แข่งอีก 11 คนในสนามที่ทีมเยอรมนีต้องต่อสู้ด้วย เรื่องการถูกแบ่งแยกชาติพันธ์ของคนภายนอกก็เป็นสิ่งที่พวกเขาฝ่าฟันเช่นกัน