ไม่พบผลการค้นหา
สาธารณสุขเดินเครื่องโยบาย “เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ” ส่งเสริมคนไทยนึกถึงยาไทย สมุนไพรไทย เป็นอันดับแรก ชี้การบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรของไทยสูงถึง 5.6 หมื่นล้านบาท เป็นอันดับ 4 ของเอเชีย คาดปี 2570 จะเติบโตถึง 1.04 แสนล้านบาท ล่าสุดสามารถเบิกจ่าย "ยาสมุนไพร" ได้ 27 รายการ ตาม Fee Schedule

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดงานมหกรรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์พื้นบ้านไทย ระดับภูมิภาค ปีที่ 16 และปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “การขับเคลื่อนนโยบาย เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ” เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567

198048.jpg

นายสมศักดิ์ กล่าวว่า แนวคิด “เจ็บป่วยคราใด คิดถึงยาไทย ก่อนไปหาหมอ” เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนคิดถึงการใช้พืชสมุนไพรใกล้ตัว เป็นอันดับแรกในการกินเป็นอาหาร และกินเป็นยา หรือใช้เพื่อบรรเทาอาการเจ็บป่วยเล็กน้อย ซึ่งจะช่วยสร้างรายได้ สร้างอาชีพ เพิ่มมูลค่าให้สมุนไพรไทย ตอบรับนโยบาย "IGNITE THAILAND" ที่มุ่งส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมและบริการทางการแพทย์ครบวงจร ขับเคลื่อนเศรษฐกิจสุขภาพผ่านการยกระดับการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรไทยสู่เวทีโลก 

197981_0.jpg

ซึ่งการบริโภคผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศไทยมีมูลค่า 5.6 หมื่นล้านบาท สูงเป็นอันดับ 4 ของเอเชีย คาดการณ์ว่าภายในปี 2570 มูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรภายในประเทศจะเติบโตถึง 1.04 แสนล้านบาท ด้วยจุดเด่นและโอกาสทั้งการเป็นสมบัติและคลังความรู้ของชาติด้านการแพทย์แผนไทยและสมุนไพรที่มีตํารับตําราการแพทย์แผนไทยจำนวนมาก มีหมอพื้นบ้านที่ผ่านการขึ้นทะเบียนจังหวัดและผ่านการรับรองตามระเบียบกระทรวงสาธารณสุขรวม 50,803 คน อีกทั้งมีความหลากหลายทางชีวภาพ มีสมุนไพรอัตลักษณ์ประจำทุกจังหวัด มีนวดไทยเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมและมีอาหารไทยเป็นยาที่มีชื่อเสียงทั่วโลก 

197983_0.jpg

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า กระทรวงสาธารณสุขสนับสนุนการใช้ยาจากสมุนไพรไทยเสริมประสิทธิภาพการรักษาแผนปัจจุบันอย่างเต็มที่ โดยได้มอบนโยบายให้ สปสช.เพิ่มวงเงินสำหรับสมุนไพรอีก 50% จาก 1,000 ล้านบาท เป็น 1,500 ล้านบาท เพื่อลดการนำเข้าวัตถุดิบและยาจากต่างประเทศ สร้างความมั่นคงทางยาให้กับประเทศไทย โดยในปี 2568 อัตราเหมาจ่ายรายหัว สิทธิ สปสช. จะอยู่ที่ 31.90 บาทต่อคน จากเดิม 20.01 บาทต่อคน อีกทั้งล่าสุดมีรายการยาสมุนไพร 27 รายการ ที่สามารถใช้ทดแทนยาแผนปัจจุบัน สามารถเบิกจ่ายได้ตามรายการบริการ (Fee Schedule ) รวมทั้งได้เพิ่มชุดสิทธิประโยชน์นวัตกรรมพอกเข่ารองรับสังคมสูงวัย ทั้งนี้ ขอให้ช่วยกันยกระดับการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพรไทย ให้มีคุณภาพมาตรฐานและปลอดภัย เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชน ช่วยให้เกิดความมั่นคงในระบบสุขภาพ 

ด้าน นพ.ทวีศิลป์  กล่าวว่า งานมหกรรมการแพทย์แผนไทยฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-27 กรกฎาคม 2567 มีวัตถุประสงค์เพื่อนำองค์ความรู้ภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้านไทย และสมุนไพร มาใช้ดูแลสุขภาพ ยกระดับองค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านเข้าสู่ระบบบริการสุขภาพของภาครัฐ และพัฒนาต่อยอดสู่สินค้าและบริการ เชื่อมโยงการท่องเที่ยว โดยความร่วมมือของ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพิษณุโลก มหาวิทยาลัยนเรศวร และวิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดพิษณุโลก เครือข่ายภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา เครือข่ายการแพทย์แผนไทยทั้ง 12 เขตสุขภาพ เครือข่ายเส้นทางท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ 

มีกิจกรรมสำคัญ อาทิ นิทรรศการภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยภาคเหนือ สมุนไพรอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาหมอพื้นบ้าน การประชุมวิชาการเพื่อแลกเปลี่ยนและขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการแพทย์แผนไทย มีนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ผู้อำนวยการโรงพยาบาล คณะกรรมการ Service plan ด้านการแพทย์แผนไทยเขตพื้นที่ภาคเหนือ โรงพยาบาลที่ผ่านมาตรฐานการผลิตยาสมุนไพร WHO GMP ตัวแทนเมืองสมุนไพร กลุ่มเกษตรกร/วิสาหกิจชุมชนที่เป็นต้นน้ำ เครือข่ายสถาบันการศึกษา สถานบริการสุขภาพด้านการแพทย์แผนไทย ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสมุนไพร/ท่องเที่ยว ผู้ประกอบการร้านค้า - อาหาร “อาหารสมุนไพรถิ่น กินเป็น ไม่ป่วย” หมอพื้นบ้าน และประชาชน เข้าร่วมงานกว่า 800 คน