ไม่พบผลการค้นหา
กระทรวงสาธารณสุข เผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 49 เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก จำนวน 16,467 กิโลกรัม มูลค่ารวมกว่า 20,047 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นยาบ้า ยาไอซ์ เฮโรอีน

ที่ศูนย์บริหารสาธารณูปโภคและสิ่งแวดล้อม นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เป็นประธานในพิธีเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลาง ครั้งที่ 49 ประจำปี 2562 เนื่องในวันต่อต้านยาเสพติดโลก ซึ่งตรงกับวันที่ 26 มิถุนายน ของทุกปี 

ทั้งนี้ ยาเสพติดให้โทษของกลางที่เผาทำลายประกอบด้วย ยาเสพติดให้โทษของกลางที่คลังยาเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จำนวน 16,467 กิโลกรัม จาก 6,910 คดี มูลค่ากว่า 20,047 ล้านบาท ได้แก่ เมทแอมเฟตามีน แอมเฟตามีนหรือยาบ้าน้ำหนักกว่า 12,369 กิโลกรัม (ประมาณ 137 ล้านเม็ด) เมทแอมเฟตามีนหรือยาไอซ์น้ำหนักกว่า 3,443 กิโลกรัม เฮโรอีนน้ำหนักกว่า 143 กิโลกรัม MDMA/MDA (ยาอี/ยาเลิฟ) น้ำหนักกว่า 14 กิโลกรัม โคคาอีนน้ำหนักกว่า 44 กิโลกรัม ฝิ่นน้ำหนักกว่า 258 กิโลกรัม รวมทั้งวัตถุออกฤทธิ์อื่นๆ เช่น คีตามีน อัลปราโซแลม อีเฟดรีน และ อื่นๆที่ไม่ใช่สารเสพติด เช่น โทลูอีน น้ำหนักรวมกว่า 193 กิโลกรัม


เผายาเสพติด_190626_0013.jpg

นอกจากนี้ยังมีเมล็ดกันชงจากกองบัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด จำนวนกว่า 16,499 กิโลกรัม ซึ่งของกลางทั้งหมดจะถูกเผาทำลายด้วยวิธีไพโรไลติก อินซิเนอะเรชั่น (Pyrolytic Incineration) ที่อุณหภูมิสูงไม่ต่ำกว่า 850 องศาเซลเซียส ไม่ก่อให้เกิดมลพิษในอากาศและสิ่งแวดล้อม โดยครั้งนี้ได้กำหนดวันเผาทำลายยาเสพติดให้โทษออกเป็น 2 วัน คือวันที่ 26 มิถุนายน และวันที่ 5 กรกฎาคม 2562

สถิติการเผาทำลายยาเสพติดให้โทษของกลางตั้งแต่ปี 2520-2562 รวม 49 ครั้ง มีน้ำหนักรวมกว่า 145,243 กิโลกรัม มูลค่ากว่า 217,390 ล้านบาท มากที่สุดได้แก่ เมทแอมเฟตามีนและแอมเฟตามีน 90,521 กิโลกรัม รองลงมาฝิ่นและอื่น ๆ 29,258 กิโลกรัม เฮโรอีนกว่า 25,270 กิโลกรัม และเอ็คซ์ตาซี่จำนวนกว่า 193 กิโลกรัม


เผายาเสพติด_190626_0020.jpg

นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้บูรณาการดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง โดยเฉพาะในด้านการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด โดยให้ความสำคัญในการป้องกันไม่ให้กลับมาเสพซ้ำ ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 ตั้งเป้านำผู้เสพผู้ติดยาเสพติดเข้ารับการบำบัด 219,275 คน แบ่งเป็นระบบสมัครใจ 136,725 คน บังคับบำบัด 56,550 คน ต้องโทษ 26,000 คน ผลการดำเนินงานตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2561 - 18 มิถุนายน 2562 นำผู้เสพเข้าสู่กระบวนการบำบัดฯ แล้ว 133,962 คน คิดเป็นร้อยละ 61.09 ระบบสมัครใจ 61,360 คน ระบบบังคับบำบัด 58,864 คน และระบบต้องโทษ 13,738 คน โดยมีโรงพยาบาลในสังกัดทั่วประเทศกว่า 800 แห่ง พร้อมระบบบำบัดรักษาที่ได้มาตรฐานสากล ประชาชนปรึกษาได้ที่สายด่วนปรึกษาปัญหา ยาเสพติด 1655