ไม่พบผลการค้นหา
ผู้ว่าฯ ยะลาสั่งปิดหมู่บ้านเพิ่มอีก 1 รวมปิดแล้ว 5 อำเภอ 36 หมู่บ้าน กับ 1 ชุมชน ส่วนคนไทยในมาเลย์ลักลอบเข้านราธิวาสผ่านช่องทางธรรมชาติต่อเนื่อง

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) ซึ่งในจังหวัดยะลายังคงพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเมื่อวานนี้ (26 เม.ย.) พบผู้ป่วยสะสมแล้ว 116 ราย (ผู้ป่วยรายใหม่ 2 ราย) รักษาหายสะสม 78 รายรักษาอยู่โรงพยาบาล 36 รายและเสียชีวิตสะสม 2 ราย      

ล่าสุดนายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ในฐานะผู้กำกับการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินจังหวัดยะลา มีคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์ COVID-19จังหวัดยะลากำหนดพื้นที่เสี่ยงเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัส COVID-19 โดยสั่งปิดหมู่บ้านหมู่ที่ 3 ตำบลท่าสาป อำเภอเมือง จังหวัดยะลา เพิ่มอีก 1 หมู่บ้าน ห้ามมิให้ผู้ใดเข้า-ออกพื้นที่ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 26 เม.ย. 2563 หลังพบผู้ติดเชื้อ ซึ่งจากการสอบสวนโรคเชื่อมโยงกับทางพื้นที่อำเภอยะรัง และมีบุคคลที่ต้องเฝ้าระวังจำนวน 40-50 คนจึงต้องปิดหมู่บ้านเพื่อเร่งปูพรมค้นหาตรวจคัดกรองทำ SWAB บุคคลในหมู่บ้านซึ่งมีจำนวน 363 ครัวเรือน 1,701 คน ตามกระบวนการของสาธารณสุข รวมทั้งจัดเตรียมถุงยังชีพเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป     

ทั้งนี้ ตั้งแต่เกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัส COVID-19 จังหวัดยะลาได้สั่งปิดพื้นที่เสี่ยงไปแล้ว 5 อำเภอ 36 หมู่บ้าน 1 ชุมชนจำนวนครัวเรือน 16,221 ครัวเรือน ประชากร 58,222 คนประกอบด้วย      

1. อำเภอเมืองยะลา ตำบลสะเตง ถนนสิโรรส (เทศบาลนครยะลา) จำนวนประชากร 5,000 คน ตำบลสะเตงนอก หมู่ที่ 3 จำนวนประชากร 4,291 คน ตำบลท่าสาป หมู่ที่ 3 จำนวนประชากร 1,701 คน รวม 4,033 ครัวเรือน จำนวนประชากร 10,992 คน      

2. อำเภอยะหา ตำบลบาโงยซิแน หมู่ที่1,2,3,4,5 และ 6 จำนวนประชากร 6,894 คน ตำบลปะแต หมู่ที่ 9 จำนวนประชากร 858 คน ตำบลบาโร๊ะ หมู่ที่ 5 จำนวนประชากร 584 คน รวม 1,370 ครัวเรือน จำนวนประชากร 8,336 คน     

3. อำเภอรามัน ตำบลจะกว๊ะ หมู่ที่ 2,5 รวม 2,243 คน ตำบลบือมัง หมู่ที่ 6 จำนวนประชากร 848 คน รวม699 ครัวเรือน จำนวนประชากร 3,091 คน      

4. อำเภอบันนังสตา ตำบลตาเนาะปูเต๊ะ หมู่ที่2,4,5 และ 9 จำนวนประชากร 6,692 คน ตำบลบันนังสตา หมู่ที่ 2,3,4,5,6 และ 9 จำนวนประชากร 13,859 คน ตำบลเขื่อนบางลาง หมู่ที่ 1,2,3,4,5 และ 6 จำนวนประชากร 4,440 คน ตำบลบาเจาะ หมู่ที่ 2,3 และ 5 จำนวนประชากร 6,079 คน ตำบลถ้ำทะลุ หมู่ที่ 3 จำนวนประชากร 1,406 คน รวม 9,079 ครัวเรือน จำนวนประชากร 32,476 คน      

5. อำเภอธารโต ตำบลแม่หวาด หมู่ที่ 6,9 จำนวนประชากร 2,697 คน ตำบลบ้านแหร หมู่ที่ 11 จำนวนประชากร 630 คน รวม 1,040 ครัวเรือน จำนวนประชากร 3,327 คน

คนไทยในมาเลย์ลักลอบเข้าไทยผ่านช่องทางธรรมชาติที่นราธิวาสต่อเนื่อง

ส่วนความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับกรณีการผ่อนปรนให้คนไทยที่ตกค้างอยู่ในรัฐต่างๆ ของประเทศมาเลเซีย เดินทางกลับภูมิลำเนา โดยผ่านด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส นั้น ยังพบคนไทยที่ไม่ได้ขออนุญาตผ่านสถานทูตและสถานกงสุล ลักลอบเดินทางข้ามผ่านช่องทางธรรมชาติอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่มีการผ่อนปรนเมื่อวันที่ 18 เม.ย. ที่ผ่านมา โดย พ.อ.เอกพล เลขนอก ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 48 พร้อมด้วย พ.อ.ศุภชัย สงสังข์ รองผู้บังคับชุดควบคุมป้องกันชายแดน ได้ร่วมเดินทางไปยังช่องทางข้ามธรรมชาติชุมชนท่าบือเร็ง เขตเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก หลังเจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวคนไทยที่ตกค้างอยู่ในรัฐต่างๆ ของประเทศมาเลเซีย จำนวน 25 คน ที่อาศัยความตื้นเขินของแม่น้ำสุไหงโก-ลก ทยอยเดินลุยน้ำข้ามฝั่งมายังประเทศไทย 

ทั้งนี้ผู้ที่ลักลอบเข้าประเทศส่วนใหญ่มีสภาพอิดโรยและหิวโหย เจ้าหน้าที่ทหารจึงได้ใช้เครื่องเทอร์โมสแกนตรวจวัดอุณหภูมิของร่างกาย ซึ่งทุกคนมีอาการปกติ พร้อมจัดหาอาหารมาให้รับประทาน พร้อมทั้งได้ควบคุมตัวขึ้นรถไปยังด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก เพื่อเข้ากระบวนการคัดกรองโรคอย่างละเอียดอีกครั้ง พร้อมทั้งทำการเช็กประวัติและเสียค่าเปรียบเทียบปรับ ก่อนที่จะส่งตัวไปกัก 14 วัน เพื่อดูอาการยังภูมิลำเนาของแต่ละคน

ในส่วนของกลุ่มคนไทยที่ตกค้างอยู่ในรัฐต่างๆ ของประเทศมาเลเซีย ที่ลักลอบข้ามแดนตามช่องทางธรรมชาติในเมื่อวันที่ 26 เม.ย. มีจำนวน 107 คน ซึ่งอีก 82 คน ลักลอบเข้าตามช่องทางธรรมชาติหลังชุมชนหัวสะพาน เจ้าหน้าที่ทหารได้ควบคุมตัวเอาไว้ได้เช่นกัน และในส่วนของคนไทยที่ตกค้างที่เดินทางผ่านด่านพรมแดนสุไหงโก-ลก และขออนุญาตถูกต้องผ่านสถานทูตและสถานกงสุลในมีจำนวน 55 คน ที่เจ้าหน้าที่นำเข้าสู่กระบวนการคัดกรองโรคและเช็กประวัติ พร้อมทั้งส่งตัวไปกักดูอาการ 14 วัน ที่ภูมิลำเนาเกิดเช่นกัน