กฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ต.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ได้หารือกับ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อเสนอมาตรการกระตุ้นการบริโภคผ่านมาตรการชิมช้อปใช้ และมาตรการช้อปช่วยชาติ โดยเตรียมเสนอให้ศูนย์บริหารเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 (ศบศ.) ที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน พิจารณาในวันที่ 7 ต.ค. 2563
สำหรับมาตรการชิมช้อปใช้ และมาตรการช้อปช่วยชาติ ถือเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเร่งด่วนระยะสั้น โดยชื่ออาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม กำลังสรุปว่าจะเรียกชื่อมาตรการว่าอะไร โดยที่ผ่านมาทั้ง 2 มาตรการ ได้กำหนดการดำเนินการไว้แล้ว หากผ่านความเห็นชอบ ศบศ.จะมีการนำเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติให้ดำเนินโครงการได้ทันที
ส่วนรายละเอียดของมาตรการกำลังพิจารณาดูอยู่มีหลายวิธี เช่น มาตรการชิมช้อปใช้อาจจะเป็นการให้ร่วมจ่าย ไม่ได้รัฐให้เงินฝ่ายเดียวเหมือนที่ผ่านมา ส่วนมาตรการช้อปช่วยชาติ อาจเป็นให้แรงจูงใจจากมาตรการภาษี หรือ มาตรการทางการเงิน เช่น ให้นำไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ หรือ จะคืนเป็นเงินสดให้ (แคชแบ็ค)
ทั้งนี้ โครงการ 'ชิมช้อปใช้' ซึ่งเปิดให้ประชาชนรับสิทธิผ่านการลงทะเบียนในแอปพลิเคชัน 'เป๋าตัง' ซึ่งกระทรวงการคลังดำเนินการเมื่อช่วง 23 ก.ย.2562-31 ม.ค. 2563 มีการดำเนินการทั้งหมด 3 ระยะ มีกรอบวงเงินดำเนินการตาม ครม.อนุมัติ 19,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการที่มีปัญหาตั้งแต่วันแรกของการลงทะเบียนรับสิทธิ และปรับรูปแบบให้เหมาะสมกับสถานการณ์เรื่อยมา และเมื่อสิ้นโครงการพบว่า มีการใช้จ่ายผ่านมาตรการชิมช้อปใช้ในกระเป๋า 1 จำนวน 15,000 ล้านบาท และกระเป๋า 2 จำนวน 17,000 ล้านบาท
ส่วนการโครงการ 'ช้อปช่วยชาติ' เป็นโครงการที่ภาครัฐออกมากระตุ้นการใช้จ่ายผ่านการซื้อสินค้าและบริการและได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท/ราย ดำเนินการมาแล้ว 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2558-2562 โดยเริ่มครั้งแรกเมื่อวันที่ 25-31 ธ.ค. 2558 เป็นเวลา 7 วัน ครั้งที่ 2 วันที่ 14-31 ธ.ค. 2559 เป็นเวลา 18 วัน ครั้งที่ 3 วันที่ 11 พ.ย. - 3 ธ.ค. 2560 รวมระยะเวลา 23 วัน และครั้งที่ 4 วันที่ 15 ธ.ค. 2561-16 ม.ค.2562
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: