ธนาคารโลกออกมาแถลงรายงานความคืบหน้าด้านเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกและแปซิฟิก ภายใต้ชื่อ Navigate Uncertainty ประจำเดือนตุลาคม 2561 โดยชี้ว่าแนวโน้มเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคนี้ยังคงเป็นบวกแม้จะมีปัจจัยภายนอกที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการเติบโตก็ตาม
ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่คาดว่าจะมีการเติบโตอย่างเข้มแข็งร่วมกับเวียดนามในปี 2561 ก่อนที่จะชะลอตัวลงในปี 2562-2563 โดยเหตุผลหลักที่ทำให้ตัวเลข GDP ของไทยในปี 2561 ขึ้นมาอยู่ที่ร้อยละ 4.5 แต่จะลดลงเป็นร้อยละ 3.9 ในปี 2562 และ 2563 มาจากเหตุที่หลายๆ โครงการของรัฐบาลชะลอตัวในปี 2560 ด้วยปัจจัยหลายอย่าง เช่น ภัยพิบัติทางธรรมชาติ
หลายโครงการลงทุนภาครัฐมาถูกเร่งดำเนินการในปี 2561 ซึ่งผลักดันให้เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจสูงขึ้น ประกอบกับการส่งออกสินค้าและการท่องเที่ยวในช่วงต้นปีที่ผ่านมาขยายตัวได้ดี ทั้งนี้ยังได้รับแรงขับเคลื่อนที่ดีมาจากการใช้จ่ายของภาคเอกชนทั้งการบริโภคและการลงทุน
ดีจริงหรือ เมื่อยังตามหลังคนอื่น
นายสุธีร์ เชตตี ผู้อำนวยการนักเศรษฐศาสตร์แห่งเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกของธนาคารโลกกล่าวว่า ประเทศไทยเองถือว่าเติบโตได้ช้ากว่าประเทศอื่นในกลุ่มอาเซียนในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา แต่ก็เริ่มเห็นว่าทิศทางกำลังจะปรับเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น
ธนาคารโลกตั้งเป้าว่าไทยจะมี GDP ที่เติบโตถึงร้อยละ 4.5 ในปี 2561 ซึ่งก็นับว่าเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับปี 2560 โดยตัวเลขที่เพิ่มขึ้นนี้มาจากการลงทุนสาธารณะของไทยในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งก็จะยังเป็นแรงผลักดันสำคัญสำหรับประเทศไทย
อีกเรื่องที่ธนาคารโลกอยากจะเน้นย้ำคือเรื่องทรัพยากรมนุษย์ โดยเน้นไปที่การให้ความสำคัญของการศึกษาที่จะเป็นตัวช่วยในการทำให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตไปข้างหน้าและจะทำให้ไทยมีศักยภาพในการแข่งขันได้มากขึ้น
เหตุใดต่างชาติจึงไม่สนใจไทย
นายเชตตีกล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ไทยไม่เป็นที่นิยมในการลงทุนจากต่างชาตินั้นมาจากการที่ไทยกลายเป็นประเทศที่ไม่น่าสนใจเท่าประเทศอื่น ประเทศไทยในช่วงปลายยุค 90 เองเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจที่ดีมากก่อนเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจ
ทุกครั้งที่มีความพยายามในการสร้างแรงดึงดูดให้นักลงทุนชาวต่างชาติกลับเข้ามาลงทุน ก็ต้องเจอกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวเรื่องค่าแรง ในขณะที่ประเทศอื่นๆ เองก็ได้สร้างแรงดึงดูดในการลงทุนมากขึ้น ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากขึ้นสำหรับประเทศไทยที่จะดึงดูดให้นักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนในประเทศ
ความเสี่ยงที่รออยู่
หนึ่งในสิ่งที่พบจากรายงานฉบับนี้ก็คือเศรษฐกิจในหลายภูมิภาคยังถือว่าคงตัวอยู่ได้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเหตุผลว่าทำไมธนาคารโลกไม่ได้ปรับลดการคาดการอัตราการเติบโตในหลายประเทศ อีกทั้งยังปรับขึ้นการคาดการในบางประเทศ เช่น เวียดนามด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม ธนาคารโลกเองก็มองเห็นถึงสัญญาณความเสี่ยงที่อาจกระทบการเติบโตได้ โดยธนาคารโลกชี้ว่าอัตราการเติบโตทางการค้าทั่วโลกค่อนข้างต่ำในปี 2560 ซึ่งองค์การการค้าโลกเองก็ออกมาชี้ว่ามีแนวโน้มจะลดต่ำลงอีกในปี 2562
ถ้าการเติบโตทางการค้าเป็นไปในทางที่ไม่ดี ภูมิภาคนี้คงเลี่ยงที่จะเผชิญผลกระทบไม่ได้เพราะเป็นภูมิภาคที่ยืนอยู่บนการส่งออกเป็นหลัก ทั้งนี้ ความไม่แน่นอนในภูมิภาคนี้เองก็อาจจะกระทบต่อการลงทุนด้วย ซึ่งทั้งสองปัจจัยล้วนมีผลต่อการเติบโตโดยตรง
ธนาคารโลกได้ทิ้งท้ายรายงานด้วยแนวทางสี่ประการสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเพื่อรับมือกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น ดังนี้
1. ลดความเสี่ยงระยะสั้นและสร้างนโยบายที่จะลดผลกระทบด้วยการให้นโยบายกำกับดูแลมหภาคในการลดความเสี่ยงจากความผันผวนทั้งภาคการเงิน ตลาดหุ้น และอัตราแลกเปลี่ยน พร้อมทั้งใช้นโยบายการคลังที่เข้มงวดเพื่อสร้างกันชนรับมือกับเศรษฐกิจขาลงในอนาคต
2. เพิ่มข้อตกลงเปิดระบบการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศตามกฏเกณฑ์เป็นสองเท่าซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคได้รับประโยชน์มากขึ้น
3. ปฏิรูปโครงสร้างเชิงลึก รวมถึงเปิดเสรีในภาคส่วนที่สำคัญ โดยการเปิดเสรีจะปรับปรุงบรรยากาศการลงทุนและกระตุ้นขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งช่วยลดปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่ผิดพลาดและกระตุ้นให้มีการสร้างงานที่มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น
4. สร้างความเข้มแข็งให้กับความปลอดภัยทางเศรษฐกิจด้วยการให้เงินช่วยเหลือแบบมีเงื่อนไขในกลุ่มเป้าหมาย เช่น ระบบประกันสังคมที่มีความยั่งยืนทางการเงิน การพัฒนาการเข้าถึงบริการก่อนคลอดและการดูแลเด็กในวัยก่อนวัยเรียนให้ดีขึ้น และการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: