'เจเรมี เคลลี' ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยระหว่างประเทศของบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจ JLL ระบุว่าเมืองที่มีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจหลายแห่งในเอเชียได้กลายเป็นแหล่งรวมนวัตกรรมด้านต่างๆ ซึ่งทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายถ่ายเทและดึงดูดบุคคลากรที่มีความสามารถจากทั่วโลกให้เข้ามาทำงานหรือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เว็บไซต์ เวิลด์อีโคโนมิกฟอรัม (WEF) รายงานว่า เมืองเหล่านี้น่าจับตามองในฐานะ 'พื้นที่แห่งโอกาส' ซึ่งจะช่วยให้บุคลากรหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเติบโตได้อย่างรวดเร็ว แม้ว่าแต่ละเมืองจะมีข้อจำกัด ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาตามมาอยู่บ้าง แต่ก็ยังถือเป็นเมืองที่น่าเสี่ยงลงทุนสำหรับธุรกิจสตาร์ทอัป รวมถึงคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเรียนรู้ประสบการณ์ที่หลากหลาย
1. บังกาลอร์ (อินเดีย)
มีชื่อเสียงโดดเด่นในฐานะแหล่งให้บริการเอาท์ซอร์สของธุรกิจเทคโนโลยีสารสนเทศมานานหลายปี เพราะมีจุดแข็งตรงที่เป็นเมืองขึ้นชื่อด้านการศึกษา ทำให้มีสถาบันและบุคลากรที่เป็นแรงขับเคลื่อนกิจการต่างๆ ไปได้อย่างราบรื่น สามารถดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกมาลงทุนได้ ไม่ว่าจะเป็น กูเกิล อูเบอร์ แอมะซอน ไอบีเอ็ม และในช่วงหลังมีการขยายตัวของบริษัทวิจัยและพัฒนาเพิ่มขึ้น จึงสามารถดึงดูดบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้มารวมตัวกันได้
สิ่งที่น่ากังวลคือสภาพแวดล้อมของเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วเพื่อรองรับการเติบโตและขยายตัวของธุรกิจด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แต่การวางผังเมืองหรือระบบสาธารณูปโภครองรับผู้คนกลับไม่ได้ถูกวางแผนเอาไว้อย่างเป็นระบบ ทำให้เมืองประสบปัญหาแออัด
(ญี่ปุ่นอนุมัติโครงการกู้ยืมเพื่อสร้างระบบคมนาคมให้แก่อินเดีย รวมถึงในเมืองบังกาลอร์)
2. เซินเจิ้น (จีน)
ถูกกำหนดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) แห่งแรกของจีนมาตั้งแต่ปี 2523 และปัจจุบันถูกตั้งฉายาว่าเป็น 'ซิลิคอนแวลลีย์แห่งประเทศจีน' ในฐานะที่เป็นแหล่งรวมบริษัทด้านไอที อี-คอมเมิร์ซ รวมถึงผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งกำลังเติบโตอย่างรวดเร็วในตลาดโลก ทั้งยังมีจุดแข็งที่รัฐบาลจีนมีนโยบายที่เอื้อประโยชน์ต่อผู้ลงทุนและพัฒนาด้านหุ่นยนต์และเครื่องจักรกล ได้รับการผ่อนผันมาตรการต่างๆ เพื่อให้เหมาะสมกับการลงทุนทางธุรกิจ ทำให้เซินเจิ้นเป็นเมืองที่มีการจดสิทธิบัตรและลิขสิทธิ์จำนวนมากเป็นอันดับ 3 ของโลก
อย่างไรก็ตาม เซินเจิ้นยังขาดแคลนสถาบันด้านการศึกษาค้นคว้าวิจัยที่จะนำมาใช้เป็นรากฐานในการพัฒนาต่อยอดไปจากองค์ความรู้หรือนวัตกรรมที่ได้รับการจดสิทธิบัตรหรือลิขสิทธิ์ไปแล้ว แต่ก็มีจุดแข็งอีกประการคือมีแรงงานอยู่เป็นจำนวนมาก เพียงพอต่อความต้องการ โดยปัจจุบันมีประชากรอาศัยอยู่ประมาณ 11 ล้านคน
3. ไทเป (ไต้หวัน)
จุดแข็งของไทเปคือการเป็นเมืองที่มีระบบการศึกษาและศูนย์ค้นคว้าวิจัยคุณภาพ ทำให้บุคลากรมีพื้นฐานความรู้และความสามารถที่จะเริ่มธุรกิจหรือนวัตกรรมต่างๆ ได้เอง และที่ผ่านมาไทเปก็เป็นแหล่งรวมโรงงานอุตสาหกรรมผู้ผลิตฮาร์ดแวร์ รวมถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่มีความละเอียด ทั้งยังมีธุรกิจที่โดดเด่นอย่างฟ็อกซ์คอนน์, เอเซอร์ และเอซุส เป็นรากฐานที่จะขยายความร่วมมือไปยังพาร์ทเนอร์จากต่างประเทศได้ไม่ยากเย็น เป็นเมืองที่เติบโตอย่างมั่นคงและสม่ำเสมอมากที่สุดในเอเชีย
เป้าหมายต่อไปของไทเปคือการส่งเสริมการออกแบบและการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ ซึ่งจะได้รับความช่วยเหลือจากโครงการส่งเสริมธุรกิจหน้าใหม่ของรัฐบาลไต้หวัน โดยจะประสานความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาเพื่อช่วยในการค้นคว้าวิจัยและขับเคลื่อนธุรกิจต่อไปในอนาคต
4. กว่างโจว (จีน)
เป็นเมืองที่ขึ้นชื่อด้านการค้าและศูนย์การประชุมขนาดใหญ่ เนื่องจากกว่างโจมีทำเลที่มีศักยภาพ สามารถเชื่อมต่อกับเมืองอื่นๆ และต่างประเทศได้หลายทาง ทั้งทางบก ทางเรือ และทางอากาศ โดยกว่างโจวได้พยายามปรับภาพลักษณ์จากการเป็นเมืองโรงงานอุตสาหกรรมมาเป็นแหล่งส่งเสริมและพัฒนาการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ ชีวเคมี และการพัฒนายานพาหนะพลังงานไฟฟ้า ทั้งยังตั้งเป้าให้เมืองเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมขนาดใหญ่ของประเทศ สามารถดึงดูดบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา เทนเซ็นต์ เสียวหมี่ และบริษัทอื่นๆ ที่น่าสนใจให้เข้ามาตั้งสาขาได้ ทำให้มีเงินลงทุนหมุนเวียนในท้องถิ่นกว่า 63,000 ล้านหยวน
ด้วยเหตุนี้ กว่างโจวจึงถูกวางตัวเป็นคู่แข่งที่สำคัญของเซินเจิ้นและหังโจว ซึ่งการแข่งขันจะยิ่งส่งเสริมให้เกิดการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมต่างๆ เพิ่มขึ้น ส่งผลดีต่อทั้งประชาชน สังคม และเศรษฐกิจ แต่ก็ต้องติดตามดูว่าการขยายตัวของเมืองจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือประชาชนอย่างไรหรือไม่
5. โฮจิมินห์ (เวียดนาม)
รัฐบาลเวียดนามวางแผนระยะยาวเพื่อส่งเสริมการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยที่นครโฮจิมินห์ถูกผลักดันให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านอสังหาริมทรัพย์เพื่อจัดทำเป็นสำนักงานของบรรษัทข้ามชาติที่ต้องการมาลงทุนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่และมีแนวโน้มที่จะเติบโตทางเศรษฐกิจมากกว่าภูมิภาคอื่นๆ ในโลก และบรรษัทรายใหญ่อย่างไมโครซอฟท์ แอลจี หรือซัมซุง ได้ปักหลักลงทุนในโฮจิมินห์เรียบร้อยแล้ว
แม้ว่าระบบโครงสร้างและสาธารณูปโภคจะยังอยู่ระหว่างการพัฒนา แต่ก็ถือว่าโฮจิมินห์วางผังเมืองและแบ่งเขตด้านต่างๆ อย่างเป็นระบบ โดยมีการจัดสรรย่านใจกลางเมืองเป็นเขตการเงินการธนาคาร ทั้งยังมีเด็กจบใหม่เป็นจำนวนมากในแต่ละปีที่พร้อมจะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจต่างๆ
6. กัวลาลัมเปอร์ (มาเลเซีย)
ธนาคารโลกจัดให้ก��ุงกัวลาลัมเปอร์เป็นเมืองที่อำนวยความสะดวกด้านการลงทุนและเริ่มกิจการติดอันดับต้นๆ ของโลก เช่นเดียวกับไทย แต่กรุงกัวลาลัมเปอร์ถูกระบุเป็นแหล่งรวมคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถ เพราะมีทักษะผสมผสาน ประกอบกับมีพื้นฐานด้านภาษาอังกฤษที่ดี แต่ขณะเดียวกันก็มีมาตรฐานด้านค่าแรงและค่าครองชีพต่ำกว่าที่อื่นๆ ซึ่งช่วยดึงดูดให้บรรษัทข้ามชาติหลากหลายด้านสนใจเข้ามาลงทุน ไม่ว่าจะเป็น บีเอ็มดับเบิลยู โมโตโรลา เอชเอสบีซี หรือเพย์พัล
นอกจากนี้ กรุงกัวลาลัมเปอร์ยังถูกจัดอันดับว่าเป็นเมืองที่มีสภาพแวดล้อมและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีหลายด้าน ทั้งทางเศรษฐกิจและกายภาพชีวภาพ มีความสะดวกจากระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่ค่อนข้างดีและทั่วถึง ทั้งยังมีโอกาสที่จะติดต่อเชื่อมโยงกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคและต่างทวีปได้อย่างสะดวกง่ายดาย
นอกจากนี้ 'เบททินา ทรัตซ์-ไรอัน' รองประธานฝ่ายวิจัยของบริษัทการ์ทเนอร์ ให้สัมภาษณ์กับ Techwire ด้วยว่า การพัฒนาเมืองอย่างสร้างสรรค์และมีนวัตกรรมเกิดขึ้นจริง ต้องอาศัยการปรับเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ของภาครัฐ ล้มเลิกการวางแผนจากระดับบนสู่ล่าง แต่ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของประชาชนจากฐานรากสู่ระดับบน เพราะการพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องอาศัยประชาชนเป็นแรงขับเคลื่อนและรักษาพลวัตของการพัฒนาให้ก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ
สิ่งที่ภาครัฐต้องรับฟังและสนับสนุน คือ การจัดลำดับความสำคัญของเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมที่จำเป็นสำหรับชีวิตประจำวันของประชาชนหรือคนในแต่ละชุมชน แทนที่จะกำหนดนโยบายจากรัฐบาลแล้วสั่งให้หน่วยงานขนาดย่อยหรือประชาชนปฏิบัติตาม รวมถึงต้องเปิดระบบฐานข้อมูลให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย ทำให้เกิดความโปร่งใสและตรวจสอบการดำเนินงานในด้านต่างๆ และควรกำหนดหลักเกณฑ์การประเมินผลที่ชัดเจน เพื่อตรวจสอบว่าโครงการไหนหรือระบบใดที่ควรส่งเสริมหรือปรับปรุงแก้ไข
อ่านเพิ่มเติม: