ไม่พบผลการค้นหา
อินสตาแกรมคาดการณ์ 6 เทรนด์การใช้โซเชียลมีเดียในยุคที่อีคอมเมิร์ซครองโลกอย่างปี 2018 โดยจะเห็นการเกิดขึ้นของ "ร้านโซเชียลมีเดีย" มากขึ้น รวมถึงการใช้วีดีโอคอนเทนต์และการสื่อสารผ่านข้อความในธุรกิจมากขึ้น ขณะที่ยอดไลค์และแชร์จะไม่มีความหมายเท่าการรู้จักตัวตนของผู้ใช้งาน

พอล เว็บสเตอร์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดผลิตภัณฑ์ของอินสตาแกรมประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เขียนบทความลงในหนังสือพิมพ์ Bangkok Post คาดการณ์เทรนด์การใช้โซเชียลมีเดียในธุรกิจและผู้ใช้งานทั่วไป ซึ่งจะเกิดขึ้นในปี 2018 ซึ่งเป็นยุคที่พฤติกรรมผู้บริโภคผูกติดกับโซเชียลมีเดียอย่างลึกซึ้ง และโซเชียลมีเดียจะกลายเป็นแหล่งที่ธุรกิจต้องพึ่งพา เพราะต้องการมีปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าโดยตรงมากขึ้น โดยอินสตาแกรมคาดการณ์ 6 เทรนด์ที่จะเกิดขึ้นโดยดูข้อมูลจากการทำงานร่วมกับผู้ใช้งานกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก ดังนี้

1. ร้านโซเชียลมีเดีย

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจประเภทไหน ลูกค้าก็ต้องการให้ร้านค้ามีปฏิสัมพันธ์กับตนเอง สามารถถามตอบหรือแชร์ข้อมูลต่างๆได้อย่างรวดเร็ว ผลสำรวจความเห็นพบว่าคนยุคมิลเลนเนียลร้อยละ 62 ยอมรับว่าหากแบรนด์มีปฏิสัมพันธ์ หรือ engagement กับตัวเอง ก็มีแนวโน้มสูงที่พวกเขาจะกลายเป็นลูกค้าประจำของแบรนด์นั้น ด้วยเหตุนี้ โซเชียลมีเดียจึงจะเข้ามาเป็นเครื่องมือสำคัญที่เชื่อมโยงลูกค้ากับผู้ขายเข้าด้วยกันโดยตรงและเพิ่มโอกาสการขายในทุกธุรกิจ โดยนอกจากการเป็นช่องทางการสื่อสาร การขายของในโซเชียลมีเดียโดยตรง ไม่ต้องผ่านคนกลางและไม่ต้องมีหน้าร้าน ก็จะเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน ซึ่งอินสตาแกรมเองก็ได้ทดสอบระบบการช็อปปิงผ่านอินสตาแกรมแล้วในสหรัฐฯในปี 2017 ที่ผ่านมา และพร้อมจะขยายการบริการไปประเทศอื่นๆในปีนี้

2. วีดีโอคอนเทนต์

ภายในปี 2019 เป็นที่คาดการณ์กันว่าร้อยละ 72 ของการดูคอนเทนต์วีดีโอออนไลน์ จะเป็นการดูจากสมาร์ทโฟนหรือแท็บเล็ต ถือเป็นโอกาสอันดีของแบรนด์ต่างที่จะสร้างสรรค์วีดีโอขนาดสั้นที่มีลักษณะเป็น immersive เพื่อให้ลูกค้าได้สัมผัสประสบการณ์การเข้าถึงสินค้าอย่างรวดเร็วง่ายๆเพียงปลายนิ้วสัมผัส อินสตาแกรมคาดว่าการให้บริการคอนเทนต์วีดีโออายุสั้นเช่น Stories ซึ่งเป็นหนึ่งในฟีเจอร์ของอินสตาแกรมจะเติบโตอย่างรวดเร็ว เพราะธุรกิจนิยมเสี่ยงกับคอนเทนต์อายุสั้น ที่สามารถสร้างสรรค์เนื้อหาได้มากกว่า เนื่องจากคอนเมนต์จะหายไปภายใน 24 ชั่วโมงอยู่แล้ว ทำให้คนทำมีเสรีภาพในการคิดเนื้อหาวีดีโอที่โดนใจ มากกว่าวีดีโอที่จะอยู่ตลอดไป

3. ข้อความ หรือแมสเซจ

การส่งข้อความทางออนไลน์จะกลายเป็นช่องทางหลักในการสื่อสารทางธุรกิจ พร้อมๆกับที่มีการแพร่กระจายของสมาร์ทโฟน รูปแบบการสื่อสารที่คนนิยมใช้มากที่สุด ไม่ใช่การโทรศัพท์หากันอีกต่อไป แต่เป็นการส่งข้อความหรือแมสเสจ ซึ่งทั้งรวดเร็ว กระชับ และมีความเป็นส่วนตัวมากกว่า และลูกค้าจำนวนมากก็เริ่มต้องการส่งข้อความติดต่อกับร้านค้าด้วยวิธีที่ไม่เป็นทางการ สะดวกรวดเร็ว ไม่ต่างจากการคุยกับเพื่อน ผลสำรวจพบว่าร้อยละ 64 ของคนทั่วไปเลือกที่จะส่งข้อความไปยังร้านค้าหรือในการติดต่อธุรกิจต่างๆมากกว่าการยกหูโทรศัพท์ อินสตาแกรมคาดว่าเทรนด์นี้จะดำเนินต่อไปในปี 2018 และทำให้การทำธุรกิจต่างๆ ทำผ่านการส่งแมสเสจมากขึ้น

4. ธุรกิจขนาดเล็กจะมีพลังขับเคลื่อนตลาดโลก

หมดยุคของการผูกขาดตลาดโดยแบรนด์ใหญ่ที่มีทุนทรัพย์มหาศาลและได้รับความเชื่อถือมาอย่างยาวนานในหมู่ผู้บริโภค ด้วยอานุภาพของโซเชียลมีเดียที่ทำให้ธุรกิจเข้าถึงลูกค้าได้โดยตรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนสูง ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กเริ่มมีพลังในการต่อกรกับธุรกิจใหญ่มากขึ้น และกลายเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก สามารถเติบโตขึ้นมาเทียบเท่ากับแบรนด์ใหญ่เก่าแก่ได้ในเวลาไม่นาน เทรนด์นี้จะยังดำเนินต่อไปในปี 2018 ซึ่งจะทำให้เราได้เห็นธุรกิจขนาดเล็กเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง


BNK48

กลุ่มศิลปิน BNK48 เป็นกลุ่มนักร้องไอดอลที่เติบโตในชั่วเวลาไม่ถึง 1 ปี มีแฟนคลับติดตามผ่านโซเชียลมีเดียนับแสนคน และมีคอมมิวนิตีย่อยๆเกิดขึ้นมากมายเพื่อซื้อขายสินค้าที่เกี่ยวกับ BNK48 และแลกเปลี่ยนข้อมูลของศิลปินที่ตนเองชื่นชอบ

5. การเติบโตของ "นิช"

กลุ่มผู้บริโภคที่มีความต้องการเฉพาะด้าน มีรสนิยมแตกต่างจากผู้บริโภคทั่วไปอย่างชัดเจน หรือกลุ่ม "นิช" จะเติบโตและมีพลังทางเศรษฐกิจมากขึ้น เนื่องจากโซเชียลมีเดียได้เชื่อมโยงกลุ่มคนที่มีความสนใจและความต้องการเหมือนกันจากทั่วทุกมุมโลกเข้าด้วยกันได้อย่างง่ายดายขึ้น ทำให้เกิดชุมชน หรือคอมมิวนิตีของชาวนิชในด้านต่างๆ อย่างในอินสตาแกรมเองก็มีคอมมิวนิตีนิชอยู่มากมายหลายกลุ่ม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนที่แอคทีฟอย่างมากในโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว หมายความว่ากลุ่มเหล่านี้จะเป็นลูกค้าที่มีค่าอย่างยิ่งสำหรับแบรนด์ใดก็ตามที่สามารถตอบสนองความต้องการเฉพาะด้านเหล่านี้ และเจาะเข้าถึงกลุ่มนิชได้โดยตรงผ่านโซเชียลมีเดีย

6. ประเมินคุณค่าคอนเทนต์ใหม่

ที่ผ่านมา โซเชียลมีเดียมีตัวชี้วัดอยู่ไม่กี่ตัว เช่นยอดไลค์ แชร์ คอมเมนต์ และจำนวนสมาชิกที่ติดตาม แต่ในยุคปัจจุบัน ตัวชี้วัดเหล่านี้ไม่สามารถใช้ประเมินความสำเร็จในด้านการตลาดจากโซเชียลมีเดียได้ดีอีกต่อไป ตัวชี้วัดที่มีคุณค่าจริงๆก็คือยอดขายและปฏิสัมพันธ์เชิงธุรกิจ สิ่งที่แบรนด์ต่างๆต้องการ ก็คือข้อมูลเชิงลึกของลูกค้า การรู้ว่าผู้ติดตามเพจหรือแอคเคาท์ของตนเองเป็นใคร อายุ รายได้ ความต้องการเป็นแบบไหน จะทำให้แบรนด์สามารถสร้างคอนเทนต์ที่ตอบโจทย์ลูกค้าได้ดีที่สุด ยิ่งแบรนด์มีข้อมูลเกี่ยวกับตัวตนและรสนิยมของลูกค้ามากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งทำคอนเทนต์ที่ตรงเป้า และเพิ่มยอดขายได้มากขึ้นเท่านั้น

เรียบเรียง: พรรณิการ์ วานิช