ไม่พบผลการค้นหา
บอร์ด กบง. รับทราบแนวทางผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ กฟผ. ในพื้นที่เขื่อนท่าทุ่งนา จ. กาญจนบุรี-น้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี- เขื่อนตามภูมิภาค 11 แห่ง

นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ที่มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานที่ประชุม ได้รับทราบตามที่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เสนอแนวทางดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำขนาดใหญ่ แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 : สนับสนุนความร่วมมือ (EGAT-SCG Collaboration Project) เป็นความร่วมมือระหว่าง กฟผ. กับบริษัท SCG เคมิคอลส์ จำกัด โดยโครงการความร่วมมือฯ เป็นการพัฒนาระบบทุ่นลอยน้ำและระบบยึดโยงโดยวิศวกรไทย เพื่อใช้เป็นต้นแบบของการผสมผสานการผลิตไฟฟ้าระหว่างเซลล์แสงอาทิตย์ร่วมกับไฟฟ้าจากเขื่อน มีกำลังผลิต 500 กิโลวัตต์ (kW) ติดตั้งในพื้นที่เขื่อนท่าทุ่งนา จ. กาญจนบุรี โดยมีเนื้อที่ประมาณ 5 ไร่ คาดว่าจะติดตั้งแล้วเสร็จเดือน ธ.ค. 2561 

ระยะที่ 2 : เป็นการต่อยอดโดยการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ (Economic Scale Pilot Solar Floating Project) เพื่อต่อยอดผลการวิจัยและพัฒนา โดยใช้ระบบเชื่อมต่อที่มีอยู่เดิมได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ โดยเริ่มจากโครงการผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์บนทุ่นลอยน้ำเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี มีกำลังผลิต 45 เมกกะวัตต์ (MW) ใช้พื้นที่ 450 ไร่ จะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้เฉลี่ยประมาณ 89.53 ล้านหน่วยต่อปี

ระยะที่ 3 : กำหนดศักยภาพพื้นที่ติดตั้งใน 11 เขื่อนทั่วประเทศ ด้วยศักยภาพการผลิตรวมกว่า 1,000 MW (Potential Commercial Project) เพื่อกำหนดศักยภาพพื้นที่ติดตั้งทั่วประเทศ เช่น เขื่อน กฟผ. เขื่อนกรมชลประทาน และอ่างเก็บน้ำสาธารณะขนาดใหญ่ เพื่อให้โครงการฯ สามารถแข่งขัน ภายใต้รูปแบบ Hybrid Firm และขยายผลการพัฒนาโครงการสู่ภาคเอกชน โดยเขื่อนของ กฟผ. ที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค กว่า 11 เขื่อน มีศักยภาพผลิตรวมกว่า 1,000 MW จะเป็นการใช้พื้นที่ผิวน้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยไม่เป็นการแย่งพื้นที่เกษตรกรรม อีกทั้ง แผงเซลล์แสงอาทิตย์ยังสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้มากขึ้น เนื่องจากอุณหภูมิที่ลดลงจากการอยู่ใกล้ผิวน้ำ 

ข่าวเกี่ยวข้อง :