ไม่พบผลการค้นหา
อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ในวัย 54 ปี ประกาศรันแคมเปญเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยประโยค “หมดเวลาเกรงใจคนแล้ว” ชี้จะไม่เอา ทั้ง “การทุจริต-ระบอบเผด็จการ” แต่ขอถือธงนำเป็นหัวหน้าพรรคอีกหน เพื่อนำพาประเทศชาติไปข้างหน้าด้วยการยึดมั่นหลักเสรีนิยมประชาธิปไตย ถือเป็นการรีแบรนด์โมฆะบุรุษ ในระดับหมุดหมาย นับแต่หลังเหตุการณ์ปี 2553 ผ่านกระบวนการภายในพรรคเพื่อซ่อมแซมความชอบธรรมทางการเมืองของตัวเองอีกครั้ง

ที่จังหวัดสงขลา ท่ามกลางคลื่นคนรักอภิสิทธิ์มากกว่าสองพันคนมารวมตัวกันอยู่ที่นั่น “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” จับไมค์ปราศรัยทางการเมืองครั้งสำคัญเพื่อขอแรงสนับสนุนทางการเมือง ให้ตัวเองได้กลับมารั้งตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง เพื่อถือธงนำสู่การเลือกตั้งที่กำลังจะมาถึง

         54 ปี คือ อายุของอภิสิทธิ์ในเวลานี้

         27 ปี คือ อายุเริ่มต้นเมื่อเข้าสู่สนามการเมือง ในฐานะ ส.ส.

         26 ปี คือ อายุงานในสนามการเมือง

         27 คือ ลำดับการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี

         13 ปี คือ ระยะเวลาของการดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

         2553 คือปีที่ภาพลักษณ์ของอภิสิทธิ์ตกต่ำถึงขีดสุดจากกรณีขอคืนพื้นที่ผู้ชุมนุมทางการเมือง จนทำให้มีผู้เสียชีวิตนับร้อย คนจากอีกเสื้อสีทางการเมืองเรียกเขาว่า “โมฆะบุรุษ” หรือนัยยะหนึ่ง อภิสิทธิ์ถือว่าได้จบอนาคตทางการเมืองเรียบร้อยแล้ว

         2561 คือปีแห่งการรีแบรนด์ โมฆะบุรุษ ให้กลับมามีชีวิตทางการเมืองอีกครั้ง โดยมุ่งอาศัยการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคจากสมาชิกพรรคทั้งประเทศ เพื่อซ่อมแซมความชอบธรรมทางการเมืองของตัวเอง เพรียกหาความสง่างาม ไว้เป็นกองหนุนทดแทนความพ่ายแพ้ของพรรคในการเลือกตั้งที่ดำเนินยาวนานมาตลอดเวลาที่อภิสิทธิ์ดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรค

           ในเวทีล่าสุด อภิสิทธิ์ย้ำว่า การที่ตัวเขาลงแข่งขันเป็นหัวหน้าพรรคอีกสมัย ไม่ต้องการเพื่อเป็นหัวหน้าพรรคเท่านั้น เพราะตัวเขาอยู่ในตำแหน่งนี้มานานกว่า 10 ปีแล้ว “แต่ครั้งนี้ต้องการมาบอกว่า พรรคประชาธิปัตย์ควรจะอยู่ตรงไหนในระบอบการเมืองไทย”

           “หมดเวลาเกรงใจคนแล้ว และไม่ต้องการเดินวนอีกต่อไปแล้ว พรรคประชาธิปัตย์ต้องพาประเทศเดินไปข้างหน้า เพราะพรรคที่มีความซื่อสัตย์ มีความเป็นประชาธิปไตย ยึดมั่นในเสรีนิยมประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะนำพาประเทศเดินหน้าไปได้ ไม่ถูกลากให้เลือกข้าง เพราะเราไม่เอาทั้งทุจริต และเผด็จการ” (ข่าวสด)

           “พรรคจะต้องเป็นตัวของตัวเอง และต้องเป็นทางเลือกหลักของประเทศ อย่าปล่อยให้พรรคถูกใครกล่าวหาว่าต้องลากไปอยู่ข้างนั้นข้างนี้ เพราะอุดมการณ์ของพรรคเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ให้ประเทศไทยได้ดีที่สุด ไม่ใช่อิงกับฝ่ายอื่น”

         วลี “หมดเวลาเกรงใจคน” ชวนให้นึกถึงตั้งแต่การตั้งรัฐบาลในค่ายทหารไปจนถึงการขอคืนพื้นที่จนมีผู้เสียชีวิต “สุเทพ เทือกสุบรรณ” เขียนเรื่องนี้ไว้ในชีวประวัติของตัวเอง

 [สุเทพ พูดตรงๆในประเด็นนี้ว่า จะทำให้การเมืองในระบอบรัฐสภาดำเนินไปได้ ทหารต้องเอาด้วย “ทุกคนย่อมรู้ดีว่าการตั้งรัฐบาลในขณะนั้นถ้ากองทัพไม่เอาด้วยคงแย่ ผมถึงได้ไปเจอผู้นำกองทัพเพื่อถามตรงๆ ว่า ถ้าพรรคประชาธิปัตย์จัดตั้งรัฐบาลได้โดยมีคุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี เขารับได้ไหม”

สุเทพ นัด บรรหาร ไปที่ “กรมทหารราบที่ 1” ก็บังเอิญอีกว่า “ในขณะที่มีการเปลี่ยนรถเพื่อที่จะเข้าไปในพื้นที่ของทหารก็มีทีวีช่องหนึ่งถ่ายภาพได้ แล้วเอาไปรายงานว่ามีการจัดรัฐบาลในค่ายทหาร” จึงเป็นที่มาของการโจมตีรัฐบาลอภิสิทธิ์ว่า เป็น “รัฐบาลเทพอุ้มสม” “รัฐบาลในค่ายทหาร”]

           การประกาศจุดยืนว่าจะไม่เอาทั้ง “ทุจริตแบบชินวัตร-ระบอบเผด็จการ”แต่หันไปปักหลักกับเสรีนิยมประชาธิปไตย ทำให้อดคิดไม่ได้ว่า ถึงที่สุดแล้วจุดยืนของอภิสิทธิ์ในวัย 54 ปี คืออะไร หรือยังเป็นความคงเส้นคงวาที่พร้อมจะ “เปลี่ยนจุดยืน เพื่อให้ตัวเองมีที่ยืน” ในยามจำเป็น

         ถ้าจะเรียกร้องสักสองข้อ จาก แคนดิเดตชิงหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ น่าจะเป็น (1)การให้ความกระจ่างต่อ เหตุการณ์ปะทะระหว่างรัฐและผู้ชุมนุมต่อต้านรัฐบาลอภิสิทธิ์ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 90 ราย เมื่อ มีนาคม-พฤษภาคม 2553 (2)การประกาศจุดยืนที่ชัดเจน ด้วยการลงมือทำให้เห็นจริง ไม่ใช่พร้อมเปลี่ยนจุดยืนอยู่เสมอ ในระดับที่สาธารณะชนไม่อาจไว้วางใจต่อพรรคประชาธิปัตย์ได้ “บอกมาเลยว่าคิดอย่างไร อย่ามีแต่อย่ามีถ้า เอาง่ายที่สุดก่อนเรื่องนายกคนนอก คนในก็ได้” 

มีแต่ความกระจ่างในสองข้อนี้ ที่จะทำให้พรรคประชาธิปัตย์ กลับมาได้รับคะแนนเสียงถล่มทลายอีกครั้ง หรือมิเช่นนั้น ก็จะยิ่งต่ำกว่าร้อย ต่ำกว่าสิบ

ส่องแคมเปญ “สร้างใหม่ไปกับอภิสิทธิ์”

         อภิสิทธิ์ ได้รับแรงหนุนจากผู้ใหญ่ในพรรคเต็มกำลัง ในขณะที่ทั้ง “วรงค์-อลงกรณ์” หาชื่อรับรองแทบไม่ครบ-ครบในนาทีสุดท้าย แต่อภิสิทธิ์ได้รายชื่อรับรองกว่า 80 รายชื่อ ลำดับที่ 1 คือ “ชวน หลีกภัย” ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ ตามมาด้วยเบอร์ 2 “บัญญัติ บรรทัดฐาน” อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ยังมีรายชื่อที่น่าสนใจในระดับที่เป็นโทรโข่งให้กับอภิสิทธิ์ได้ในภูมิภาคต่างๆ เช่น “กษิต ภิรมย์”, “จุติ ไกรฤกษ์” , “ชุมพล จุลใส” (อดีตสี่ทหารเสือ กปปส.), “เทพไท เสนพงศ์”, “ศิริโชค โสภา”, “นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ”, “อิสสระ สมชัย” (อดีตแกนนำ กปปส.)

อภิสิทธิ์.jpg

         หนึ่งในเพจหลักของการเคลื่อนไหวทางโลกออนไลน์ในแคมเปญหาเสียงของอภิสิทธิ์ครั้งนี้คือ เพจ “We Support PM Abhisit” นำเสนอคำขวัญหลักของแคมเปญว่า #MakeMyMark #สร้างใหม่ไปกับอภิสิทธิ์ #สร้างใหม่ไปกับมาร์ค

คำอธิบายของคำขวัญนี้พอจับใจความได้ผ่านบรรดาคนรุ่นใหม่ของพรรค ที่จัดทำคลิปความยาว 3.40 นาที ออกมาให้ชมกัน ในคลิปนี้นำเสนอสารหลักสองเรื่อง

         เรื่องที่หนึ่งคือ คนรุ่นใหม่อยากเห็นพรรคประชาธิปัตย์ไปทางไหน ?

-จุดยืนของพรรคที่ยึดหลักเสรีนิยมประชาธิปไตย

           -พรรคต้องมีความเป็นผู้นำในการล้างทุจริตทุกรูปแบบ

           -พรรคให้ความสำคัญกับนโยบายระหว่างประเทศ

           -อยากเห็นนโยบายของพรรคทำได้จริง ออกนโยบายได้ตอบโจทย์คนทั้งประเทศ

           -อยากเห็นคนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วม

           -อยากเห็นพรรคเป็นสถาบันทางการเมือง

         เรื่องที่สองคือ ความประทับใจที่พวกเขาและเธอมีต่อ หัวหน้าอภิสิทธิ์ ?

         -รู้จริง รู้ลึก และไม่หยุดเรียนรู้จากประชาชน

           -อบอุ่น มีอารมณ์ขัน ใจเย็น

           -รับฟังความเห็นของคนรุ่นใหม่

           -เป็นผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ หนักแน่น ในอุดมการณ์ ไม่เคยถูกตั้งคำถามเรื่องการทุจริต

           -ภาวะผู้นำในช่วงที่เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งเผชิญกับทั้ง วิกฤติการเศรษฐกิจและวิกฤติการเมือง

           -การหยั่งเสียงหัวหน้าพรรค อาจทำให้อภิสิทธิ์เสียเปรียบ แต่ด้วยที่อภิสิทธิ์เป็นนักประชาธิปไตย จึงสนับสนุนให้เกิดกระบวนการนี้ ทำให้พรรคประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองแรกในประเทศไทย ที่ให้สมาชิกเลือกหัวหน้าพรรคด้วยตัวเอง

         “กรณ์ จาติกวณิช” คือหนึ่งในคนที่ออกมาอธิบาย คำขวัญสร้างใหม่ไปกับอภิสิทธิ์ ว่า หมายถึง “โอกาสใหม่ ยุทธศาสตร์ใหม่ คนรุ่นใหม่ ประชาธิปัตย์ยุคใหม่ ในหลักเสรีประชาธิปไตยที่หมายถึง โอกาสสำหรับทุกคนที่เป็นธรรม ด้วยการบริหารที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส่ ตรวจสอบได้”

         ทั้งหมดนี้ก็คือความพยายามในการรีแบรนด์อภิสิทธิ์อีกครั้งในวัย 54 ปี ซึ่งถือเป็นการรื้อภาพลักษณ์ใหม่ในระดับที่เป็นหมุดหมาย หลังวิกฤติการเมืองปี 2553 ทว่าภาพใหม่ที่กำลังพยายามสร้าง ดูจะยังลบภาพจำเก่าได้ยาก โดยเฉพาะเมื่ออ่านจากแคมเปญสร้างใหม่ไปกับอภิสิทธิ์ที่วนเวียนอยู่กับ เสรีนิยมประชาธิปไตย โดยไม่นำเสนอจุดยืนและนโยบายทางการเมืองให้ชัดเจน เหลือเวลาอีกราว 20 วัน ที่ทีมอภิสิทธิ์จะทำแคมเปญ “สร้างใหม่ไปกับอภิสิทธิ์” ให้ชัดเจนขึ้นก่อนที่สมาชิกพรรคจะทำการหยั่งเสียงเลือกหัวหน้าพรรคในช่วงวันที่ 1-5 พฤศจิกายน พร้อมกันทั้งประเทศ

อภิสิทธิ์.jpg

รีแบรนด์เพื่อหาความชอบธรรม

           “หมอวรงค์” อาจมีวาระอยู่ในใจและมีแรงหนุนที่มีศักยภาพสูง แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเทียบเคียงหัวต่อหัวโดยเฉพาะความสามารถในการเชื่อมต่อกับคนรุ่นใหม่ นับว่าห่างจากอภิสิทธิ์อยู่หลายขุม ตัดมาที่ “อลงกรณ์” เกมส์การเมืองครั้งนี้ คงเป็นเพียงการอาศัยการเลือกตั้งหัวหน้าพรรค เพี่อกลับเข้าสู่อ้อมอกของพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง หลังระเหเร่รอนออกไปทำทีปฏิรูปการเมืองอยู่พักใหญ่ เป็นตลกร้ายอยู่เหมือนกัน ที่นักปฏิรูปในอุตสาหกรรมการปฏิรูปของไทย เมื่อเสร็จภารกิจในอุตสาหกรรมนี้แล้ว ก็เดินกลับสู่แวดวงการเมืองอีกครั้ง         

         เมื่อดูคู่แข่งหัวต่อหัวแล้ว จะพบว่า วาระเร้นที่อยู่ระหว่างบรรทัดของการเลือกตั้งหัวหน้าพรรคจากสมาชิกทั้งประเทศ อยู่ที่การเพิ่มพูนความชอบธรรมทางการเมืองให้อภิสิทธิ์ครั้งใหม่ ถ้า “อภิสิทธิ์” กลับมาเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์อีกครั้ง ก็จะเป็นการกลับมาพร้อมกับความสง่างามในทางการเมือง เป็นความชอบธรรมที่ช่วยซ่อมแซมความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งครั้งแล้วครั้งเล่าในยุคที่ตัวเองเป็นหัวหน้าพรรค

นักการเมือง “ใหม่” ได้เสมอ เพราะภาพสร้าง “ใหม่” ได้ตลอด แต่จุดยืน การเปลี่ยนของจุดยืนในอดีต ลบยาก น่าจับตาเหมือนกันว่า การรีแบรนด์ โมฆะบุรุษครั้งนี้ จะไปได้ไกลเพียงใด

วยาส
24Article
0Video
63Blog