ไม่พบผลการค้นหา
สนช. รับหลักการกฎหมายระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม สาระสำคัญแจกเบี้ยประชุม 12 หน่วยงานศาล ปีละ 207 ล้าน พร้อมย้ำเพื่อพิพากษาอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอย่างรอบคอบ - ยกระดับ 6 เขตศาลใน กทม. เพิ่มตำแหน่ง

ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบรับหลักการ ร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการศาลยุติธรรม พ.ศ.... ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เป็นผู้เสนอ ด้วยมติ 181 ต่อ 0 เสียง โดยกฎหมายดังกล่าวเห็นควรให้เพิ่มอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม ให้รวมถึงการออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมสำหรับ ข้าราชการตุลาการ ซึ่งเข้าร่วมการประชุมใหญ่ ในชั้นศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ให้สอดคล้องตามมาตรา 193 วรรคสองของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ศาลยุติธรรมมีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะตามความเหมาะสม

โดยมีสาระสำคัญ คือ ให้คณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม มีอำนาจออกระเบียบกำหนดเบี้ยประชุมของข้าราชการตุลาการซึ่งเข้าร่วมในการประชุมใหญ่ของศาลฎีกาและศาลอุทธรณ์ พร้อมกำหนดบทเฉพาะกาลเพื่อรับรอง ระเบียบคณะบริหารราชการศาลยุติธรรมว่าด้วยเบี้ยประชุมในการประชุมใหญ่และการประชุมแผนกคดีอาญาในศาลฎีกาและศาลชั้นอุทธรณ์ พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ให้มีผลบังคับใช้จนกว่าจะออกระเบียบตามร่างกฎหมายฉบับนี้ โดยประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับคือ "เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาพิพากษาให้มีความรอบคอบยิ่งขึ้น จึงเป็นหลักประกันแก่ประชาชนว่า ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมจะมีการพิพากษาเพื่ออำนวยความยุติธรรมให้แกประชาชนอย่างละเอียด รอบคอบ และเที่ยงธรรม" 

พร้อมทั้งเปิดเผยประมาณการรายจ่ายเบี้ยประชุม ดังนี้ ประธานได้รับเบี้ยประชุม 10,000 บาท องค์ประชุมคนละ 8,000 บาท เลขานุการและผู้ช่วยเลขานุการคนละ 6,000 บาท ผู้เข้าร่วมประชุมคนละ 6,000 บาท ใน 12 หน่วยงานศาลคือ ศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ และศาลอุทธรณ์ภาค 1-9 ที่จะประชุมเดือนละ 2 ครั้ง รวมปีละ 24 ครั้ง ประมาณการรายจ่ายราย 12 ปี ศาลต่อปีอยู่ที่ 207,360,000 บาท คาดว่า 5 ปีแรกต้องใช้งบประมาณแตะ 1,100 ล้านบาท 

ขณะเดียวกัน ที่ประชุม สนช. รับหลักการร่าง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาพระโขนง และศาลอาญามีนบุรี พ.ศ.... ด้วยคะแนน 176 ต่อ 0 มีสาระสำคัญตามบทวิเคราะห์สรุปร่างกฎหมาย ให้เหตุผลว่า เพื่อให้การบริหารราชการศาลยุติธรรมเหมาะสมกับปริมาณคดี และมีผู้พิพากษาที่มีอาวุโสในระดับเดียวกัน เป็นผู้พิจารณาคดี ทำให้ประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับคือ การพิจารณาคดีของศาลเกิดความเป็นเอกภาพ และส่งเสริมให้กระบวนการยุติธรรมรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เป็นประโยชน์ต่อประชาชน