ไม่พบผลการค้นหา
"กัณวีร์" พรรคเป็นธรรม เสนอไทยต้องมีกฏหมายผู้ลี้ภัย แนะเปิดให้ผู้หนีภัยการสู้รบพม่าในค่ายอพยพไทย ได้เป็นแรงงานถูกกฏหมาย ปลดล็อกค่ายกักกันที่ยาวนานถึง 43 ปี ยกระดับปัญหาแรงงานข้ามชาติเป็นวาระแห่งชาติ ก้าวข้ามความมั่นคงทางทหารยึดหลักความมั่นคงของมนุษย์

กัณวีร์ สืบแสง ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม หมายเลข 3 ได้เข้าร่วมแสดงวิสัยทัศน์ ไทยในประชาคมระหว่างประเทศ สิทธิมนุษยชน ความมั่นคง การจัดการแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย ซึ่งมี 11 พรรคการเมืองเข้าร่วม จัดโดยภาคประชาสังคมและสื่อมวลชน ที่ The Fort สุขุมวิท 51 

กัณวีร์ กล่าวว่า โครงสร้างที่ทำให้มีปัญหาแรงงานข้ามชาติและผู้ลี้ภัย และจุดยืนทางการทูตในต่างประเทศ ยังย่ำอยู่กับที่ เพราะยังยืนอยู่บนหลักทวิภาคี มองปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติ เป็นการต่อต้านรัฐ ใช้มุมมองความมั่นคงไปตีคนที่เดินทางมาในประเทศไทย ไม่ใช่สัญชาติไทย กลายเป็นภัยคุกคามความมั่นคง ไม่ได้มองด้วยศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ จากการสำรวจเมื่อปี 2563 พบว่า 90 % ของแรงงานข้ามชาติ กว่า 2 ล้านคนมาจาก 4 ประเทศ คือ ลาว กัมพูชา เมียนมา และเวียดนาม  

"รัฐบาลต้องเปลี่ยนกรอบกระบวนทัศน์การโยกย้ายถิ่นฐาน และแรงงานข้ามชาติใหม่ รัฐบาลไทยต้องนำหลักการกรอบ 4 ขาไปใช้ เช่น เรื่องที่อยู่อาศัย สุขภาพ การละเมิดการทำร้าย ต้องยึดหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์" 

ส่วนปัญหาผู้ลี้ภัย กัณวีร์ กล่าวว่าตามตัวบทกฏหมายของไทย ยังไม่มีผู้ลี้ภัย ไทยยังไม่ลงนามภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานภาพผู้ลี้ภัย ค.ศ.1951 แต่ไทยมีผู้หนีภัยการสู้รบ กว่า 9.1 หมื่นคน อยู่ในค่ายอพยพชายแดนไทยมากว่า 43 ปี อยู่มาหลายรุ่นแล้ว ทำให้คนเหล่านี้ไม่สามารถเปลี่ยนชีวิต มีการศึกษาเพิ่มเติม ซึ่งการแก้ปัญหาด้านมนุษยธรรม ไม่ให้อาหารหรือของบริจาค แต่ต้องมีสะพานเชื่อม ถ้านำมนุษยธรรมมาเชื่อมการพัฒนาได้ จะเกิดแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน  

"ชาวพม่าอยู่ในค่ายอพยพมากกว่า 43 ปี จำนวนเกือบ 1 แสนคน มีแนวโน้มที่จะยังไม่ได้กลับพม่าในระยะเวลาอันใกล้นี้แน่นอน ถ้าเราบอกว่าอยากปิดค่าย ง่ายนิดเดียวครับ เราก็เปิดค่ายสิครับ ถ้าเปิดให้เขากลับไม่ได้ ก็เปิดให้เขาได้ทำงานได้เป็นแรงงานที่ถูกกฏหมาย ก็จะทำให้ 4.5 หมื่นคนได้ออกมาทำงาน อีก 1 หมื่นคนได้เรียนหนังสือ รัฐไทยก็ได้เงินภาษีมาพัฒนาประเทศด้วย"

กัณวีร์ กล่าวว่า ประเทศไทย เอาปัญหาแรงงานข้ามชาติหรือผู้ลี้ภัย มาอยู่ในตะกร้าเดียวกัน ด้วยกฏหมายตรวจคนเข้าเมือง จนทำให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ไทยจึงต้องมีกฏหมายเกี่ยวกับผู้ลี้ภัย เพื่อให้เกิดระบบการคัดกรองผู้ลี้ภัย ซึ่งไทยทำได้มีประสิทธิภาพ

"เรายังไม่มีผู้ลี้ภัยที่ถูกต้องตามกฏหมาย และที่ผ่านมาเรามี พรบ.คนเข้าเมือง เป็น กฏหมายกันชนของไทย ใครที่เข้ามาในไทยถูกจับใส่ตะกร้าเดียวกัน ให้เป็นผู้หลบหนีเข้าเมือง ตราบใดที่ไทยไม่มีกฏหมายผู้ลี้ภัยจะมีปัญหาเกิดขึ้น ขณะนี้มีกลไกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับการคัดกรองสถานะผู้ลี้ภัย หรือ NSM ใกล้จะบังคับใช้ เป็นสิ่งเริ่มต้นที่ดีที่ มีตัวแบบ คำนิยามผู้ลี้ภัย หลักการไม่ส่งกลับ ถูกกำหนดอยู่ใน NSM นี้แต่เป็นแค่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมา คนเข้ามาถูกใช้กฏหมาย ตม. ถูกจับขัง ส่งกลับ พรรคเป็นธรรม จะบัญญัติกฏหมาย ให้ลงนามในอนุสัญญา 1951 พิธีสาร 1961 ผมเชื่อว่าไทย จะคัดกรองได้ดี"

กัณวีร์ ระบุว่า ถ้าไทยเปลี่ยนกระบวนทัศน์ ในการคิดการโยกย้ายถิ่นฐานไม่ปกติ ไม่ใช่ภัยความมั่นคง แต่เป็นความมั่นคงของมนุษย์ และยกระดับให้เป็นวาระแห่งชาติ เปลี่ยนการทูตให้เป็นการทูตแบบพหุภาคี ไม่ใช่ทวิภาคี ถ้าไทยจริงใจทำ ก็คงไม่มีปัญหาโรฮิงญา ชาวอุยกูร์ 109 คน จะไม่ถูกส่งกลับ และไม่ต้องถูกขังอยู่ในห้องกัก ต.ม.มากว่า 8 ปี