ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กในหัวข้อ 'กลุ่มทุนกับการเมืองไทย' โดยระบุว่า
"ผมได้รับเชิญจากอาจารย์ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี ให้เป็นผู้บรรยายพิเศษ ปิดวิชาการเมืองการปกครองไทยสมัยใหม่ ของนักศึกษาชั้นปีที่ 2 หลักสูตรปรัชญา การเมืองและเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยหัวข้อที่อาจารย์ขอให้ผมมาบรรยายในวันนี้ ก็คือเรื่องของกลุ่มทุนกับการเมืองไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่หลายๆ คนอาจรู้สึกว่าไม่เกี่ยวข้องกันและมักมองมันแยกออกจากกัน ผมจึงคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ไม่น้อยถ้าจะลองชวนทุกท่านตั้งคำถาม แบบเดียวกับที่ผมชวนนักศึกษาในชั้นเรียนวันนี้ตั้งคำถามกับมัน
การบรรยายของผมวันนี้เริ่มต้นด้วยสไลด์สามชิ้นที่มาพร้อมกับคำถามสามคำถาม
สไลด์แรก คือรายงานข่าวที่เกี่ยวกับรายชื่อกลุ่มทุนชั้นนำของประเทศที่ให้การสนับสนุนกลุ่ม กปปส. ที่สร้างสถานการณ์ให้นำไปสู่การรัฐประหารในปี 2557 พร้อมคำถามชวนคิดว่าทำไมกลุ่มทุนในประเทศไทยถึงพากันไปสนับสนุน กปปส. แต่ไม่สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงที่เป็นประชาธิปไตย
สไลด์ที่สอง คือกราฟจีดีพีต่อหัว เปรียบเทียบระหว่างไทยกับเกาหลีใต้ ไต้หวัน สิงคโปร์ ย้อนกลับไปในทศวรรษ 1960 มาจนถึงปัจจุบัน ที่แสดงให้เห็นว่าประเทศที่ผมว่ามานี้เริ่มต้นพร้อมกับไทยในทศวรรษเดียวกัน แต่ผ่านไป 60 ปี บางประเทศสามารถ “เทคออฟ” ตัวเองขึ้นไปจนรวยกว่าประเทศไทยได้แล้วถึง 5 เท่า พร้อมคำถามชวนให้คิด ว่าเหตุใดประเทศไทยที่เราเคยคิดฝันอยู่ช่วงหนึ่งว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งของ “เอเชียมิราเคิล” เทคออฟตาม ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน สิงคโปร์ ไปเป็นเสือตัวที่ 5 ได้ กลับไม่สามารถเดินทางไปสู่ความฝันนั้น
สไลด์ที่สาม คือรายงานของธนาคารเครดิตสวิส ที่มีการจับลำดับความเหลื่อมล้ำระหว่างคน 1% กับ 99% ของประเทศต่างๆ มาเปรียบเทียบกัน ซึ่งในปี 2022 ประเทศไทย ติดอันดับ 4 ของประเทศที่มีช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนมากที่สุดในโลก โดยคน 1% ถือครองทรัพย์สิน 39.4% ของทั้งประเทศอยู่ พร้อมคำถามว่าทำไมประเทศของเราถึงเหลื่อมล้ำได้มากขนาดนี้
ซึ่งเราจะหาคำตอบให้ทั้งสามคำถามนี้ไม่ได้เลย ถ้าเราไม่ย้อนไปดูถึงความเป็นมาและการพัฒนาของระบบทุนนิยมในประเทศไทย
โดยหลักการแล้ว ทุนนิยมทำงานได้ด้วยการแข่งขันอย่างกว้างที่สุด ให้นำมาซึ่งนวัตกรรม ผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ที่ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้มากที่สุด อนุญาตให้คนร่ำรวยได้ด้วยนวัตกรรม นี่คือไอเดียที่เป็นเสาหลักของทุนนิยม
มีหลายประเทศที่พัฒนาทุนนิยมของตัวเองไปในทิศทางนั้น แต่นั่นไม่ใช่กรณีสำหรับประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศ ที่เลือกอีกเส้นทางหนึ่งในการพัฒนาทุนนิยม นั่นคือการสะสมทุนผ่านการแสวงหาค่าเช่าทางเศรษฐกิจ โดยไม่ต้องพัฒนานวัตกรรมใดๆ ขึ้นมา
ผมชวนนักศึกษาให้ลองคิดต่อ ว่าถ้าลองไล่ดูชื่อคนรวยระดับท็อปในเมืองไทย เรานึกออกไหมว่ามีนวัตกรรมอะไรใหม่ๆ ที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้นเกิดมาจากกลุ่มธุรกิจเหล่านี้บ้าง?
ในการบรรยายวันนี้ ผมยกตัวอย่างในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ทำให้เห็นว่ากลุ่มทุนจำนวนมากในไทย เติบโตจากการได้รับอนุญาตของชนชั้นนำให้เป็นผู้ผูกขาดการเก็บค่าเช่าทางเศรษฐกิจ ที่ทำให้คนคนหนึ่งรวยขึ้นมาเป็นหลักแสนล้านได้ภายในไม่กี่สิบปีโดยไม่ต้องมีนวัตกรรมอะไรเลย บางกลุ่มทุนก็ได้ปัจจัยการผลิตมาจากเส้นสายความเป็นเครือญาติกับผู้ถืออำนาจรัฐ ทำใหัมีลูกค้าเป็นหน่วยงานรัฐโดยไม่ต้องดิ้นรน ไม่ต้องสร้างนวัตกรรมแต่เน้นสร้างความสัมพันธ์
ไม่ว่าเราจะไล่ดูรายละเอียดลงไปในอุตสาหกรรมไหน ธุรกิจประเภทใด จะเป็นภาคพลังงาน คลื่นความถี่ โทรคมนาคม แอลกอฮอล์ สิ่งทอ ดิวตี้ฟรี โรงแรม ค้าปลีก ฯลฯ เราจะมองเห็นได้เสมอว่ามันจะมีโครงสร้างความสัมพันธ์หรือร่องรอยความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับชนชั้นนำอยู่ในแทบทุกอุตสาหกรรม
ประเทศไทยจะเจริญได้อย่างไรถ้านายทุนใหญ่ของประเทศทั้งหมด ไม่มีใครคิดจะสร้างเทคโนโลยีของตัวเอง ไม่มีใครคิดจะสร้างนวัตกรรมของตัวเอง หากินแต่กับการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากค่าเช่าทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ไม่ต้องมี “โนฮาว” รู้แค่ “โนฮู” ก็พอ
เหมือนกับที่ผมบอกนักศึกษาในชั้นเรียนวันนี้ ท่านไม่จำเป็นต้องเชื่อผม เรื่องนี้ทุกคนสามารถไล่หาข้อมูลเองได้ ว่ากลุ่มทุนระดับท็อปของประเทศนี้ มีใครถือหุ้นกับใคร แต่ละคนมีสายสัมพันธ์กับใคร และเมื่อท่านไล่ดูที่ไปที่มาของแต่ละคนแล้วท่านจะไม่แปลกใจเลยว่าทำไมที่ผ่านมากลุ่มทุนใหญ่ของประเทศไทยจึงสนับสนุนกลุ่มต่อต้านประชาธิปไตยและการรัฐประหาร ทำไมประเทศไทยถึงไม่สามารถเทคออฟได้แบบหลายประเทศที่เริ่มต้นพร้อมกับเราในช่วง 60 ปีที่ผ่านมา และทำไมความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในประเทศเรามันถึงสูงขนาดนี้?