ไม่พบผลการค้นหา
แอฟริกาใต้ยอมรับซื้อวัคซีนโควิด-19 แพงกว่ายุโรปสองเท่า เพราะไม่ได้ร่วมผลิต ส่วนไทยแม้เป็นหนึ่งในฐานผลิตแต่ก็ยังจ่ายแพง

แอฟริกาใต้กลายเป็นประเทศที่จัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของแอสตราเซเนกาในราคาสูงที่สุดประเทศหนึ่งของโลก โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขยอมรับว่า รัฐบาลจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิดของบริษัทแอสตราเซเนกาในราคาโดสละ 5.25 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 157 บาท แพงกว่าราคาที่จัดซื้อในสหภาพยุโรปถึง 2 เท่า

เมื่อปีที่แล้ว รัฐมนตรีรายหนึ่งของเบลเยี่ยมเผลอทวีตข้อความที่เผยข้อมูลการจัดซื้อวัคซีนโควิดของสหภาพยุโรป (อียู) โดยระบุว่า สหภาพยุโรปจัดซื้อวัคซีนโควิดในราคา 1.78 ยูโร (ราว 65 บาท) ต่อโดส สอดคล้องกับที่แอสตราเซเนกาเผยกับสำนักข่าวเอเอฟพี เมื่อเดือน พ.ย. ปีที่แล้วว่า ราคาของวัคซีนควรถูกจำกัดไว้ที่ไม่เกิน 3 ดอลลาร์ต่อโดส เพื่อให้หลายกลุ่มประเทศเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียม

โยกัน พิลเลย์ รองผู้อำนวยสำนักสาธารณสุขแห่งชาติแอฟริกาใต้ ยอมรับกับสื่อท้องถิ่นว่า รัฐบาลประสบความยุ่งยากในการจัดหาวัคซีน เนื่องจากต้องสั่งจองวัคซีนผ่านสถาบันวัคซีนแห่งอินเดีย (Serum Institute of India) ในจำนวนไม่น้อยกว่า 1.5 ล้านโดส สถาบันดังกล่าวรับหน้าที่เป็นผู้ผลิตวัคซีนให้กับแอสตราเซเนกา อีกทั้งแอฟริกาใต้ ไม่ได้เป็นหนึ่งในฐานการผลิตหรือร่วมวิจัยและพัฒนาวัคซีน จึงเป็นเหตุให้วัคซีนแพงกว่าหลายชาติ 

"คำอธิบายว่าทำไมประเทศร่ำรวยหลายชาติ ซื้อวัคซีนในราคาถูกเพราะพวกเขาร่วมลงทุนในการวิจัยพัฒนา รวมถึงเป็นฐานผลิต พวกเขาจึงได้ในราคาส่วนลด" พิลเลย์กล่าว

การจัดซื้อวัคซีนที่แพงกว่ายุโรปถึง 2 เท่า ส่งผลให้ฝ่ายค้านและกลุ่มเคลื่อนไหวด้านการค้าในแอฟริกาใต้ออกมาประณามรัฐบาล รวมถึงเตรียมดำเนินการฟ้องร้องตามกฎหมาย โดยโจมตีว่า รัฐบาลแอฟริกาใต้ไร้ศักยภาพในการวางแผนจัดหาวัคซีน รวมถึงไม่มีประสิทธิภาพในการต่อรองราคา ทำให้ประเทศเข้าถึงวัคซีนในราคาแพงกว่าชาติร่ำรวยหลายเท่า

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีท่าทีใดๆ จากแอสตราเซเนกาเกี่ยวกับราคาวัคซีนในแอฟริกาใต้ แม้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะออกมาเปิดเผยดังกล่าว


ของไทยใกล้เคียงกับ แอฟริกาใต้

สำหรับประเทศไทย เป็นหนึ่งใน 15 ชาติที่เป็นฐานการผลิตวัคซีนโควิด-19 ของแอสตร้าเซนเนกา ภายใต้ความร่วมมือของแอสตราเซเนกา กับ "บริษัทสยามไบโอไซแอนซ์" ที่ร่วมพัฒนาและผลิตวัคซีน แต่จากการเปิดเผยของกระทรวงสาธารณสุขกลับพบว่า ไทยจัดซื้อวัคซีนโควิดในราคาที่ใกล้เคียงกับ "แอฟริกาใต้" ที่ราว 5 ดอลลาร์ต่อโดส หรือประมาณ 151 บาท ภายใต้งบประมาณ 6,000 ล้านบาท เพื่อจัดหาวัคซีนล็อตแรก 26 ล้านโดส แม้ว่าไทยจะเป็นหนึ่งในฐานการผลิตวัคซีนดังกล่าวก็ตาม 

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลกออกมาแสดงความกังวลในประเด็นวัคซีนว่า บรรดาชาติร่ำรายอาจทุ่มเงินสั่งจองวัคซีนจำนวนมาก จนส่งผลให้อีกหลายชาติรายได้น้อยถึงปานกลางเข้าไม่ถึงด้วยราคาเกินเอื้อม และมีวัคซีนไม่พอต่อความต้องการในประเทศ

ที่มา : Reuters , TheGuardian , Businesslive